ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ขณะนี้สถานการณ์การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ภาวะการเผชิญหน้าที่แหลมคมระหว่างภาคประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)กับกลุ่มนักการเมืองทุนสามานย์ที่นำโดยทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย การเผชิญหน้าครั้งนี้ถูกจุดชนวนมาจากการเสนอร่างพระราชบัญญัติปรองดองเพื่อนิรโทษกรรมทักษิณ ชินวัตรและกลุ่มนักการเมืองที่ทำผิดกฎหมายให้พ้นผิดทั้งหมด โดยพลเอกสนธิ บุญรัตกลิน นักการเมืองผู้เคยเป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร
ประเด็นที่ยังเป็นปริศนาอยู่คือทำไมทักษิณ ชินวัตรจึงสั่งให้พลเอกสนธิ เสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ เพราะหากเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองในขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ยังใช้อยู่ เป็นที่ชัดแจ้งว่าเนื้อหาของร่างพ.ร.บ. ปรองดองฉบับนี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหลายมาตราด้วยกัน
นักวิชาการด้านกฎหมายหลายคนออกมาชี้ให้เห็นว่า พ.ร.บ. ปรองดองฉบับนี้ในมาตรา 5 และ 6 ขัดแย้งกับหลักแบ่งแยกอำนาจ รัฐธรรมนูญในมาตรา 3 และขัดกับมาตรา 309 สาระสำคัญในมาตรา 5 ของร่างพ.ร.บ.ปรองดอง คือ การล้างผลทางกฎหมายที่เกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์การและคณะบุคคลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งหมายความว่าเป็นการล้างผลการดำเนินคดีของ คตส. และคำพิพากษาของศาลที่สั่งลงโทษทักษิณ ชินวัตร ในคดีที่ดินรัชดา ส่วนมาตรา 6 เป็นการคืนสิทธิการเลือกตั้ง แก่นักการเมืองผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมสั่งยุบพรรค ซึ่งเท่ากับว่าล้างคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยนัยนี้มาตรา 5 และ 6 จึงเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติเข้าไปแทรกแซงอำนาจตุลาการ และเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
ยิ่งกว่านั้นมาตรา 6 ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 216 และ 237 อีกด้วยเพราะว่า ในมาตรา 216 ระบุชัดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันกับรัฐสภา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสมาชิกรัฐสภาไม่แยแส ไม่สนใจกลับเสนอกฎหมายลบล้างสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนในมาตรา 237 บัญญัติชัดเจนถึงการตัดสิทธิเป็นเวลา 5 ปี การเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษนี้ก็เท่ากับลบล้างข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั่นเอง
สำหรับการขัดกับมาตรา 309 ก็เพราะว่า มาตรานี้ของรัฐธรรมนูญระบุอย่างชัดเจนว่า บรรดาการกระทำใดๆที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2549 เป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อมาตรา 5 ของร่าง พ.ร.บ. ปรองดองล้มล้างผลทางกฎหมายจากการใช้อำนาจของ คตส. หรือศาล ก็ย่อมขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การล้างผลมาตรา 309 ได้ก็มีทางเดียวคือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น
นักกฎหมายของฝ่ายทักษิณ ก็ย่อมจะทราบดีอยู่แล้วว่า ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองที่ให้พลเอกสนธิ เสนอนั้นขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา พวกเขาย่อมต้องบอกเรื่องราวเหล่านี้ให้ทักษิณทราบแล้ว แต่ทำไมทักษิณยังยืนกรานให้เสนอเข้าสภาและพิจารณาอย่างเร่งรีบรวบรัด และทักษิณก็ทราบดีอยู่แก่ใจว่าทันทีที่มีการเสนอกฎหมายปรองดองเพื่อนิรโทษกรรมตนเอง ประชาชนผู้รักชาติรักความเป็นธรรมก็จะลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านอย่างแน่นอน ทักษิณมีความคาดหวังอย่างไรและประเมินสถานการณ์อย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ต่อไป
1. ทักษิณ ได้บรรลุข้อตกลงบางประการกับชนชั้นนำเก่า ทำให้มีความมั่นใจว่าเมื่อกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว หากมีการเสนอเข้าไปตีความในศาลรัฐธรรม ผลลัพธ์จะออกมาในแนวทางที่ตอบสนองความต้องการของทักษิณ อย่างแน่นอน ฉะนั้นทักษิณ จึงไม่กลัวเรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
2.ทักษิณ ประเมินพลังในการต่อต้านกฎหมายนี้ของภาคประชาชนต่ำ เพราะที่ผ่านมามีภาคประชาชนหลายกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์และสภาผู้แทนทักษิณหลายครั้ง แต่มีจำนวนผู้เข้าร่วมไม่มากนัก เมื่อเทียบกับมวลชนลัทธิแดงผู้สนับสนุนทักษิณ จึงทำให้เขาย่ามใจและคิดว่าพลังภาคประชาชนที่จะมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองก็คงมีไม่มากเช่นกัน แกนนำลัทธิแดงบางคนถึงกับออกมาดูถูกว่าคงมีประชาชนไม่เกินห้าร้อยคนที่ออกมาชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้
3.ทักษิณ อาจคิดว่าหากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป ความลับร้ายแรงบางประการระหว่างการชุมนุม เช่น เกี่ยวกับเรื่องราวของคนชุดดำที่ตนเองซุกเอาไว้จะถูกเปิดโปงออกมา จากการที่มีกระบวนการแสวงหาความจริงจากสังคม รวมทั้งจากกลุ่มมวลชนลัทธิแดงบางกลุ่มที่เริ่มสงสัยและท้าทายทักษิณเพิ่มขึ้น และหากความลับเหล่านั้นถูกเปิดออกมาจริง มวลชนเสื้อแดงก็จะเกิดอาการตาสว่าง และทราบว่าใครกันแน่ที่เป็นสาเหตุและชักใยทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมา เมื่อนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่ามวลชนลัทธิแดงจะหันคมหอกคมดาบไปทิ่มแทงทักษิณ แทนอำมาตย์ที่พวกเขาถูกปั่นหัวให้เชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรง ด้วยความกลัวดังกล่าวทักษิณจึงต้องเร่งรีบให้มีการนิรโทษกรรมตนเองโดยเร็วที่สุด
4.ทักษิณ อาจประเมินว่า สถานการณ์การคัดค้านจะทวีความรุนแรง เพราะเมื่อพันธมิตรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆออกมาคัดค้าน จะไปกระตุ้นให้กลุ่มมวลชนลัทธิแดงที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของทักษิณและนักการเมืองทุนสามานย์ที่เป็นสมุนของทักษิณ ออกมาชุมนุมสนับสนุน พ.ร.บ. ปรองดอง และเมื่อมวลชนสองฝ่ายออกมาเผชิญหน้ากัน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกันและสถานการณ์บานปลายออกไป จนเกิดความรุนแรงขึ้นมา
หากการปะทะและความรุนแรงขยายตัวออกไปจนกระทบถึงความมั่นคงปลอดภัย ก็มีความเป็นไปได้ที่ทหารจะเข้ามาแทรกแซง โดยการรัฐประหาร ซึ่งหมายความว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะถูกยกเลิก และคณะรัฐประหารย่อมออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ตนเอง และก็อาจจะครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆที่ผ่านมาด้วยตั้งแต่ปี 2548 โดยอ้างว่าทำเพื่อให้เกิดการปรองดองและเริ่มต้นกันใหม่ หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทักษิณ ย่อมได้ประโยชน์เต็มๆ แต่เป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากความสูญเสียของประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง
สำหรับภาคประชาชนซึ่งมีความอึดอัดคับข้องใจกับพฤติกรรมการลุแก่อำนาจอย่างเหิมเกริมของทักษิณ รัฐบาลหุ่น และรัฐสภาหุ่นของทักษิณ อีกทั้งยังเอือมระอากับความอ่อนด้อยไร้เดียงสา ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประเทศ การทุจริตประพฤติมิชอบ ของคณะรัฐมนตรี และนักการเมืองทุนสามานย์ทั้งหลาย การเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองนิรโทษกรรมแก่ทักษิณและพวกพ้องจึงเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้าย
อารมณ์ความรู้สึกของคนจำนวนมากจึงพัฒนาไปถึงจุดหรือเข้าสู่สภาวะที่ไม่อาจอดทนได้อีกต่อไปการร่วมกันปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อจัดการกับความเลวร้ายที่ดำรงอยู่จึงเกิดขึ้นมาอีกครั้ง
แม้ว่าในระยะสองสามปีที่ผ่านมาภาคประชาชนที่เคยร่วมกันต่อสู้กับระบอบทักษิณจะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันบ้างอันเนื่องมาจากความแตกต่างของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและจุดยืนทางการเมืองในบางประเด็นที่ไม่ตรงกัน แต่เมื่อมีการเสนอการนิรโทษกรรมทักษิณ ชินวัตรและนักการเมืองทุนสามานย์ทั้งหลาย โดยใช้หลักทรราชย์ของเสียงส่วนใหญ่เพื่อล้มล้างอำนาจตุลาการ ทำลายหลักนิติรัฐ และนิติธรรม เพียงเพื่อให้พวกพ้องตนเองได้ประโยชน์ ภาคประชาชนกลุ่มต่างๆก็ปล่อยวางความเห็นและจุดยืนในประเด็นที่แตกต่างไว้ก่อน และหันมาร่วมมือกันอีกครั้ง
ความสามัคคีของภาคประชาชนในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการรัฐสภาและนักการเมืองทุนสามานย์ที่ชั่วช้าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากต่างคนต่างเคลื่อนไหวไม่รวมตัวกัน พลังในการขับเคลื่อนและผลักดันเพื่อหยุดยั้งการรุกคืบทางอำนาจ และการขจัดอิทธิพลอันป่าเถื่อนของกลุ่มทุนสามานย์ก็จะไม่เพียงพอ และในทางกลับกันก็จะถูกฝ่ายทุนสามานย์แยกสลายได้ง่าย
30 พฤษภาคม 2555 จึงนับว่าเป็นวันแห่งการปรองดองแห่งชาติของภาคประชาชน โดยเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันอีกครั้งอย่างมีวุฒิภาวะทางอารมณ์และปัญญา แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติการทางการเมืองในทางสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็ดำรงอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของกลุ่มตามความถนัด
หากภาคประชาชนแต่ละกลุ่มสามารถร่วมกันพัฒนามุมมองในการเข้าใจปัญหาสังคมการเมืองไทยอย่างเป็นระบบได้ใกล้เคียงกัน จนทำให้ทุกกลุ่มร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองอย่างเข้มข้น ต่อเนื่องเป็นกระแส ไม่หยุดหย่อน วันนั้นแหละที่จะเป็นจุดจบของระบอบทักษิณและนักการเมืองทุนสามานย์