xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สารพัดปัญหาชดเชยหลังน้ำลด ปทุมฯ-นนท์ ลูกเมียน้อยกทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ประกาศหลักเกณฑ์การขอรับเงินชดเชยค่าเสียหาย (หลังน้ำลด กรณีฟื้นฟูเยียวยา)นอกจากชดเชยบ้านที่อยู่อาศัยประจำ และทรัพย์สินเสียหายได้รับเงิน 5,000 บาท ต่อครัวเรือน ตามแผนของรัฐบาล กำหนดการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม 2554

1. กรณีเสียหายทั้งหลัง เช่น บ้านพัง บ้านสูญหายจากการพัดพาของน้ำรัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยให้ไม่เกิน รายละ 30,000 บาท 2. กรณีเสียหายบางส่วน เช่น ประตู หน้าต่างพัง กระเบื้อง พื้นปาเก้ เสียหายรัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยให้ไม่เกิน รายละ 20,000 บาท (หรือ จ่ายตามจริง เท่าที่ซ่อมแซม)
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 กำหนดให้ไปยื่นขอความช่วยเหลือรอบแรก ณ ท้องที่ที่อาศัยอยู่ เช่น อบต. / เทศบาล

ขณะที่รัฐบาลออกมติ ครม.เมื่อเดือนมกราคม 2555 เห็นชอบช่วยเหลือในหลายๆด้าน

วันที่ 12 ธ.ค. 2554 รัฐบาลอนุมัติวงเงิน 20,110.557 ล้านบาท ให้เป็นงบประมาณจ่ายค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนเท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน 20,000 บาท และค่าชดเชยให้บ้านที่เสียหายทั้งหลังแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

เรื่องนี้ คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เป็นเจ้าภาพ

ผ่านมา 5 เดือนเงินก้อนแรกโผล่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา บางพื้นที่ จ.ลพบุรี บางพื้นที่ และที่ “จ.ปทุมธานี”พื้นที่ซึ่งคาดว่า จะถูกน้ำท่วมมากที่สุด

21พ.ค.2555 เป็นวันแรกที่มีการจ่ายจริง! หลังจากพรรคเพื่อไทย พ่ายแพ้การเลือกตั้ง ส.ส.และ นายกฯอบจ.ในพื้นที่นี้อย่างราบคาบ

ที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี นายพิชัยลักษณ์ เพชรบุรีกุล นายอำเภอเมืองปทุมธานี ได้จัดให้มีการมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเพื่อนำไปใช้สำหรับการซ่อมแซมบ้าน

โดยมี “ธนาคารออมสิน” เปิดจุดให้บริการ สำหรับการมอบเงินช่วยเหลือที่ อำเภอเมืองปทุมธานี ตำบลบางปรอก เทศบาลตำบลบางหลวง รวมถึง ต.คลองสาม อ.คลองหลวง ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรีฯลฯ

วันนั้นรองนายกฯยงยุทธ ควง “นายชูชาติ หาญสวัสดิ์” รมช.มหาดไทย มาร่วมกันดูวิธีจ่ายเงินซ่อมแซมบ้านให้ผู้ประสบภัย ที่วัดโพธิ์สพผลเจริญ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

จุดนี้ชาวบ้าน “คนเสื้อแดง”ที่ได้รับเงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านไม่ธรรม ได้รวมตัวกันมาปิดถนนหน้าวัดแต่ 2 รมต.กลับชิ่งหนี เพียงส่ง “ยศวริศ ชูกล่อม” หรือเจ๋ง ดอกจิก ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลับผู้ว่าฯปทุมธานีมาพูดคุย

และรับปากว่า! จะให้คำตอบภายใน 7 วัน ก็ต้องตามกันดู

ปัญหานั้นวันนั้น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่รัฐมนตรีลงไปดูด้านเดียว

ที่ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี” มีประชาชนหมู่บ้านจุฑาภัทร และหมู่บ้านณัฐนันท์ โฮม 4 ต.คูขวาง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และ จาก ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี กว่า 200 คน

มารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัด เนื่องจากไม่พอใจที่คณะกรรมการประเมินค่าความเสียหายได้ประเมินจ่ายค่าความเสียหาย ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสภาพบ้านที่เหมือนกันอยู่ติดกันได้เงินชดเชยค่า ซ่อมแซมบ้านไม่เท่ากัน เช่นบ้านอยู่ติดกันหลังหนึ่งได้ค่าชดเชย 18,000 บาท แต่อีกหลังที่ติดกันได้เพียง 4,000 บาท

โดยเฉพาะกรณีบ้านของนางสาวอัมภา ผลมะเทือง บ้านเลขที่ 53 หมู่ 1 ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ที่ท่วมทั้งหลังได้แจ้งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ อบต.คลองควาย มาตีความเสียหายและถ่ายรูปเป็นหลักฐาน แต่กลับได้รับเช็คเงินสดช่วยเหลือน้ำท่วมจากธนาคารกรุงไทย เป็นเงิน 200 บาท ถือว่าไม่เป็นธรรมเพราะบ้านน้ำท่วม เสียหายทั้งหลังข้าวของเครื่องใช้ในบ้านพังหมด เจ้าหน้าที่ไม่รู้เอาอะไรคิด ถึงได้ให้เงินเยียวยาแค่ 200 บาท
แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่อ้างว่า บ้านนี้“เต้าปลั๊กไฟ”เสียหายเท่านั้น

อีกคน น.ส.ศิริภรณ์ เขียวไพบูลย์ ชาวบ้านหมู่ที่ 4 ต.คลองควาย อ.สามโคก บอกว่า เงินเยียวยาที่ได้รับในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกับคนอื่นๆเหมือนกัน ซึ่งถ้าเทียบกับความเสียหายของบ้านที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้วนั้นค่าเสียหายในความเป็นจริงก็อยู่ราวๆเกือบ 50,000 บาท เพราะว่าบ้านตนเองจมทั้งหลังช่วงน้ำ ท่วมยังต้องมาอาศัยกางเต้นริมถนนนอนเลย แต่กลับได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลแค่ 1,800 บาท จึงอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองช่วยนำกลับไปพิจารณาใหม่ด้วยด้วย

ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี “ขจรศักดิ์ สิงโตกุล” ได้แค่บอกว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนหลักเกณฑ์การให้เงินช่วยเหลือ ทั้งนี้เพื่อให้การจ่ายเงินอยู่บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของผู้เดือดร้อนมากที่สุด
จึงเกิดคำถามว่า เอามาตรฐานอะไรมาเป็นตัวประเมิน ในเมื่อบ้านใกล้กัน น้ำท่วมพร้อมกัน แห้งพร้อมกัน และมีการเข้าไปสำรวจค่าเสียหายจริงทุกหลังหรือ?

แต่พื้นที่มีการถามมาอย่างมาก อาจจะถูกมองว่าเป็นพื้นที่ “ลูกเมียน้อย”เพราะใกล้ กทม. คือพื้นที่ใน จ.นนทบุรี พบว่าบางพื้นที่มีการจ่ายจริงแล้ว เช่น อ.เมืองนนทบุรี อ.ปากเกร็ด อ.ไทรน้อย

อย่างเรื่องที่ “เทศบาลบางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี”

พื้นที่จุดนี้ ได้รับการร้องเรียนว่า แม้บ้านอยู่นนทบุรี น้ำท่วมไม่ต่ำกว่าเมตร แต่สามารถกันน้ำไม่ให้เข้า บ้าน ได้

“ตู้ไม้สักสั่งทำขนาดใหญ่ยาว 4 เมตรครึ่ง ตู้ปลาไม้สักขนาด 2 เมตรครึ่ง อีกทั้งตู้เสื้อผ้าไม้สักอีกหลายตู้ไม่เสียหาย แต่สุดท้าย โดนเทศบาลฯเย้ยหยันมาทางโทรศัพท์ว่า “อดได้เงิน 3 หมื่นคนแถวบ้านพี่ได้หมด”

ทำให้งงมาก! เพราะอะไรก็แล้วแต่ เขาไม่ได้หวังที่จะได้เงิน เพราะบ้านที่ลงทุนซื้อที่ดินเอง กว่า 90 ตารางวา ปลูกสร้างด้วยฝีมือเพื่อน เขาถามกลับมา เจ้าหน้าที่เทศบาลที่โทรมาหัวเราะว่า “ไม่ได้เงินมันตลกตรงไหน”

กลับมาที่ภาพรวมของ จ.นนทบุรี ที่พบว่ามีการประกาศชื่อแล้ว ก็มี เทศบาลบางศรีเมือง เทศบาลตำบลไทรม้า ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในอำเภอเมือง ได้รับเงินเงินช่วยเหลือน้ำท่วมตามเกณฑ์

แต่ปัญหาอยู่ตรง ผู้เดือดร้อนจะระบุตรงกันว่า “ข่าวเงียบมาก ประชาสัมพันธ์อ่อน” บางรายระบุว่า ถ้าไม่เข้าไปทำธุระในเทศบาลหรืออบต. คงไม่รู้เรื่องเลย

ปัญหานี้ อบต. และเทศบาล ส่วนใหญ่จะแจ้งว่า ได้ติดประกาศแล้ว และ ประกาศผ่าน “เวปไซด์ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น”นั้นๆไปแล้ว ส่วนบางคนที่ได้น้อย เทศบาล-อบต.แจ้งว่า ก็เพราะตอนเขียนขอความเสียหายไปเป็นแสนบาท พอประเมินจริงๆก็จะได้น้อย เป็นไปอย่างนั้น

ส่วนพื้นที่ที่ติดกรุงเทพฯ อย่าง อ.บางบัวทอง อ.บางกรวย อ.บางใหญ่ คงต้องรอหน่อยเพราะจากจำนวนหมู่บ้านที่มากคาดว่าจะได้รับเร็วๆนี้เช่นกัน หรืออาจะได้รับพร้อมกับพื้นที่กรุงเทพฯ ราวๆเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคมนี้

แต่จำนวนเงินจะได้เท่าไร ไม่มีใครรู้!!!!

กลับมาดูปัญหาตอนนี้คนในพื้นที่เริ่มแตกแยกกันซะแล้ว เพราะจำนวนเงินที่แตกต่างกัน

มีคำถามว่า ทุกบ้านก็อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน บ้านสองชั้นเนื้อที่ใกล้เคียงกัน ระดับน้ำเท่ากันทั้งหมู่บ้าน ที่ ข้องใจกันคือบ้านที่อยู่ในซอยย่อยของหมู่บ้านเดียวกัน ยังได้ไม่เท่ากัน

บางหลังก็ได้ 5,000 บางหลังก็ได้ 10,000 บางหลังก็ได้20,000เต็ม บ้านชั้นเดียวก็น่าจะได้เต็ม
แต่ที่บางหลังได้เพิ่มเกิน20,000 บางหลังได้ 30,000-40,000 ก็มี

บางพื้นที่ประเมินว่า เสื้อผ้าจมน้ำได้คนละ 1000 ชุดนักเรียนจมน้ำได้คนละ 1000 ฯลฯ

บางพื้นที่ ช่วงนั้นใกล้เลือกตั้งนายกเทศบาลพอดี เลยได้เยอะบ้างก็ยังมี

ส่วนประชาชนบางพื้นที่อ้างว่าตัวเองไม่ทราบจริง ๆ ก็ฝากถามผู้รับผิดชอบว่า “จะมียื่นเรื่องรอบสองหรือเปล่า”

สุดท้ายพื้นที่ กทม.ไล่ตั้ง แต่ “รังสิต ดอนเมือง สายไหม บางเขน ฯลฯ ก่อนหน้านั้น “สำนักงบประมาณ กทม.” บอกมาว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีน้ำท่วมทั้งสิ้น 42 เขต มีบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 1,242,916 ครัวเรือน คาดว่าจะใช้งบประมาณในการเยียวยากว่า 20,000 ล้านบาท

กทม.รวบรวมมูลค่าความเสียหาย “ลอตแรก 530 ล้านบาท”

แต่ล่าสุดคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรุงเทพมหานคร (ก.ช.ภ.กทม.) ได้สรุป มีมติให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ 36 เขต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,186,747,336.34 บาท ดังนี้

1.ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำที่เสียหายบางส่วน จำนวน 108,111 หลัง เป็นเงิน 1,116,418,321.34 บาท
2.ค่าวัสดุก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำที่เสียหายทั้งหลัง จำนวน 2 หลังเป็นเงิน 60,000 บาท
3.ค่าเช่าบ้าน จำนวน 308 ครอบครัว เป็นเงิน 818,498 บาท
4. ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ จำนวน 9,675 ครอบครัว เป็นเงิน 66,700,520 บาท
5.ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต จำนวน 79 ราย เป็นเงิน 2,750,000 บาท

โดยจะจ่ายเงินให้ประชาชนผ่านธนาคารกรุงไทย โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเขตรวบรวมข้อมูลและเลขที่บัญชีประชาชน ก่อนจะส่งให้ธนาคารกรุงไทยจ่ายเงินต่อไปคาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินได้ในเดือนมิ.ย.นี้

ขณะที่ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ตั้งเป้าตรวจสอบการใช้จ่ายงบน้ำท่วม ปี 2556 ของรัฐบาลจำนวน 1.2 แสนล้านบาทที่ขณะนี้มีการเบิกจ่ายไปเพียง 5.4 หมื่นล้านบาท ที่มีการเบิกจ่ายไปไม่ถึง 50 % .

กำลังโหลดความคิดเห็น