xs
xsm
sm
md
lg

ปูดงบผี “ปู” สูงเกิน สร.1คว้า 7.3หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(15 พ.ค.55)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า จากการตกลงเบื้องต้นกับวิปรัฐบาลจะมีการพิจารณารายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 เป็นเวลา 3 วันคือวันที่ 21-23 พ.ค. โดยให้เวลาฝ่ายละ 13 ชั่วโมงไม่รวมเวลาประท้วง ซึ่งในส่วนของพรรคฝ่ายค้านจะแบ่งเวลาให้กับพรรคภูมิใจไทย รักประเทศไทย มาตุภูมิ และพรรคที่มีส.ส.อยู่ในสภา โดยมีจะส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายประมาณ 40 คน มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาภาพรวมการจัดงบรายจ่าย ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆโดยจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ 63 คน แบ่งเป็นพรรคสัดส่วนครม. 15 คน พรรคเพื่อไทย 26 คน ประชาธิปัตย์ 15 ภูมิใจไทย 3 ชาติไทยพัฒนา 2 ชาติพัฒนา 1 พลังชล 1 และพรรคเล็ก 1 ซึ่งในวันนี้ได้เชิญสำนักงบประมาณมาชี้แจง
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า โดยมีข้อสังเกต 2 ประเด็นคือ 1.ภาพรวมในการจัดงบประมาณแต่ละกระทรวงเป็นการจัดงบแบบการเมืองกินรวบ โดยเฉพาะกระทรวงที่พรรคเพื่อไทยดูแล ส่วนใหญ่จะได้รับการปรับงบประมาณเพิ่มขึ้นอาทิ กระทรวงแรงงานเพิ่มขึ้น 131.9 เปอร์เซ็นต์ กระทรวงไอซีที 108.6 เปอร์เซ็นต์ กระทรวงคมนาคม 4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สำนักนายกฯปรับเพิ่ม 14.7 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะงบฉุกเฉินที่นายกฯมีอำนาจสั่งจ่ายได้เลย หรือที่เรียกว่างบผีปรับเพิ่ม 11.67 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 6.7 หมื่นล้านบาทเป็น 7.3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่กระทรวงที่พรรคร่วมรัฐบาลดูแลอาทิกระทรวงการท่องเที่ยวถูกปรับลด 10.5 เปอร์เซ็นต์ กระทรวงเกษตรฯปรับลด 4.8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มีปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ อย่างงบน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาทเพิ่งใช้ไปได้เพียง 5.4 หมื่นล้านบาท ยังไม่ถึงครึ่ง หรือ เงินที่ได้จากพ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทครม.เพิ่งอนุมัติใช้งบไป 2.6 หมื่นล้านบาท แสดงถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่มีปัญหา ดังนั้นถ้างบประมาณปี 56 ยังมีประสิทธิภาพเพียงเท่านี้จะกระทบประโยชน์ประชาชนแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2556 ที่ทางสำนักงบประมาณได้จัดทำขึ้น มีสาระสำคัญ ดังนี้ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2556 จำนวน 2,400,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จำนวน 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
โดยนโยบายงบประมาณปี56 เป็นงบประมาณขาดดุล ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของหน่วยงานควบคู่กับการพิจาณาแหล่งเงินอื่น ได้แก่ เงินกู้ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ เงินรายได้ และเงินสะสมคงค้างของหน่วยงาน รวมทั้งพิจารณาทบทวนเพื่อปรับลดเป้าหมายการดำเนินงานของหน่วยงานที่มีลำดับความสำคัญลดลง หรือหมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและสถานการณ์ปัจจุบัน และให้ทสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อ
สำหรับงบประมาณปี56 จำนวน 2,400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 1,901,911.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2555 จำนวน 61,239.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79.2 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 448,938.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 จำนวน 10,383.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 โดยรายจ่ายลงทุนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของวงเงินงบประมาณ นอกจากนี้ได้กำหนด รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 49,149.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 จำนวน 2,295.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1 ของวงเงินงบประมาณ
ส่วนหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 5ลำดับแรก คือ 1.กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 460,075,180,900 บาท คิดเป็นร้อยละ 19.2 ของวงเงินงบประมาณ 2. งบกลาง จำนวน 319,207,000,000 บาท 3.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 309,205,167,300 ล้านบาท 3.กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 214,845,460,700 บาท 4.กระทรวงกลาโหม จำนวน 180,,811,381,800 บาท 5. กระทรวงการคลัง จำนวน 179,249,013,800 บาท
นอกจากนี้ในส่วนของประมาณการรายรับรัฐบาลได้ประมาณการรายรับในปี 2556 จำนวน 164,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7 โดยแบ่งเป็นรายได้จากภาษีอากรรวม 168,195.1 หรือร้อยละ 7.7 การขายสิ่งของและบริการ จำนวน 76.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 อย่างไรก็ดีคาดว่ารายได้จากการเก็บภาษีรัฐพาณิชย์จะลดลงประมาณ 4,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3.8 และรายได้อื่นๆ จำนวน 28.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1
ส่วนภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 56 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ ร้อยละ 4-5 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3.8 ส่วนภาคการส่งออกคาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย และปัจจัยที่พึงระวังในการบริหารเศรษฐกิจปี56 คือ ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประกอบกับราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบในตลาดโลกยังคงผันผวนในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณของกลุ่มประเทศยุโรปที่ยังอยู่ในระดับสูง.
กำลังโหลดความคิดเห็น