xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยอนันต์”ชำแหละกลุ่มทุน ขี่คอรัฐฮุบผลประโยชน์ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ชัยอนันต์" ชำแหละ "กล่มทุน" ขี่คอ"รัฐ" ฮุบผลประโยชน์ชาติ อัดฝ่ายการเมืองกัดกันหวังชิงฐานเสียง สับ"ประชานิยม"ทำระบบเละเทะ "บรรเจิด" เปิดพิมพ์เขียวโครงสร้างการเมืองไทย ชูตั้ง “สภาประชาชนจังหวัด” คานอำนาจรัฐรวมศูนย์ "พิชาย"ลั่นเดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศทั้งระบบ ทวงคืนปตท.กลับมาเป็นของประชาชน

วานนี้ (22 พ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ "จากรัฐรวมศูนย์อำนาจ สู่การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน" จัดโดยกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์

ในช่วงแรก ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตกรรมการปฏิรูปประเทศ ร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง"รัฐชาติสู่รัฐการตลาดอำนาจรวมศูนย์" โดยกล่าวว่า ในทางรัฐศาสตร์ หรือในทางสังคม เราแบ่งความสัมพันธ์เป็น 3 เส้า ได้แก่ รัฐ เอกชน และประชาสังคม

รัฐ ในที่นี้หมายถึงระบบราชการและรัฐบาลอยู่บนสุด ถัดลงมาก็เป็นภาคเอกชน ซึ่งมีตัวแทนของตลาดเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ และภาคประชาสังคม ที่มีประชาชน และชุมชน ในแต่ละสมัยความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ส่วน ก็แตกต่างกันไป ก่อให้เกิดนโยบายในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นส่วนผสมระหว่างผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม

แต่ในปัจจุบันการกระจายอำนาจของรัฐ ไม่ได้กระจายไปสู่ประชาสังคมอย่างแท้จริง เพราะเอกชนหรือตลาด ก้าวหน้าไปมาก ซึ่งทำให้ระบบการเมืองของวันนี้แตกต่างจากสมัยก่อน เพราะในอดีตการหาเสียง นโยบาย และการดำเนินการ ยังมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับสาธารณประโยชน์อยู่ แต่การเมืองปัจจุบันกลับไม่เสรี และละเลยประโยชน์ส่วนรวม เพราะมีกลุ่มทุนหรือตลาด ครอบงำอยู่ ทำให้ตลาดการเมืองแบบใหม่ ไม่ต่างจากตลาดของการซื้อขาย การเลือกตั้ง ก็เป็นการซื้อขาย

"จะว่าไป วันนี้เราไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เพราะในความเป็นจริง การเลือกตั้งก็คือการประมูล ใครมีเงินมากก็ได้ตำแหน่ง หรือพื้นที่ตรงนั้นไป การซื้อขายตำแหน่ง ก็มีมาก เพราะฉะนั้นเมื่ออิทธิพลของตลาดที่เข้าสู่การเมือง ก็ทำให้ประชาชนมีความเคยชินกับการเมืองที่กลายเป็นลักษณะผู้ซื้อ ผู้ขายในที่สุด เหมือนคำที่ว่า เงินไม่มากาไม่เป็น จึงไม่แปลกว่า การซื้อเสียงในท้องถิ่นจึงมีมาก" ดร.ชัยอนันต์ กล่าว

ดร.ชัยอนันต์ กล่าวอีกว่า งบประมาณของชาติ ไม่ใช่ของสาธารณะอีกต่อไป แต่เป็นการแย่งชิงของนักการเมือง ที่แข่งขันกันเข้าไปควบคุมอำนาจ กลไกรัฐ เพื่อนำงบประมาณมาใช้ประโยชน์มากกว่า การคอร์รัปชันจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยทั่วไปเราจะพบว่าปัญหาของประชาธิปไตยไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของพรรคการเมือง หรือคุณธรรมของนักกการเมือง แต่อยู่ที่โครงสร้างของรัฐ และโครงสร้างตลาด

"รัฐได้แปรสภาพจากรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ กลายเป็นรัฐตลาด สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ นโยบายประชานิยม ที่มุ่งที่จะซื้อคะแนนเสียงจากประชาชน ซื้อขายคะแนนเสียงกลายเป็นการแลกเปลี่ยนทางการเมือง อำนาจที่ได้ไป ก็นำไปทำให้ประชาชนให้การสนับสนุน โดยหวังจะได้เสียงคืนมา นักการเมืองวันนี้พยายามทำสองอย่าง คือ มือหนึ่งแย่งชิงงบประมาณมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว อีกมือก็นำงบประมาณลงไปให้ประชาชน เพื่อหวังซื้อเสียงให้ตัวเอง"

ดร.ชัยอนันต์ กล่าวด้วยว่า ยุคนี้ต้องยอมรับว่า ตลาดมีอำนาจมากกว่ารัฐ รัฐต้องทำทุกวิถีทางที่จะรักษาตลาดไว้ โดยเฉพาะตลาดทุน ที่เป็นเครื่องบ่งชี้เสถียรภาพของรัฐบาล ทำให้ฝ่ายการเมืองพยายามรักษากฎหมาย สร้างมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะชักจูงให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้อิทธิพลของตลาดได้มีส่วนในการกำหนดนโยบายของรัฐหลายอย่าง อาทิ นโยบายต่างประเทศ และเศรษฐกิจ เพื่อเป็นหลักประกันว่า นักลงทุนเข้ามาในประเทศต้องได้รับการคุ้มครอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ลักษณะดั้งเดิมของรัฐเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ให้ความสำคัญกับเอกชน หรือตลาดมากกว่าภาคประชาสังคม

ดร.ชัยอนันต์ กล่าวในช่วงท้ายของการปาฐกถา ว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า เมื่อดูความสัมพันธ์ของรัฐ ตลาด และชุมชน ในปัจจุบัน จะพบว่าตลาดเติบโตขึ้นมาก ปริมาณความสำคัญของธุรกรรมการเงินของตลาด ของบรรษัทข้ามชาติต่างๆ มีมากว่างบประมาณของรัฐหลายร้อยเท่า ตลาดขยายตัวโดยมีเครื่องมือของตัวเอง ระบบราชการและชุมชน ด้อยกว่าเป็นอย่างมาก เพราะวันนี้ประชาสังคมถูกประกบอยู่ตรงกลาง ระหว่างอำนาจรัฐที่รวมศูนย์ และไม่เป็นกลาง กับอำนาจตลาดที่รุกรานชีวิตของประชาชนในรูปแบบของระบบทุนนิยมต่างๆ ดังนั้นทางออกของปัญหานี้คือ ต้องมีเศรษกิจพอเพียง พึ่งตัวเองให้ได้ เพื่อปฏิเสธทั้งอำนาจรัฐ และอำนาจตลาด

"ปัญหาของประชาธิปไตยนั้น เป็นปัญหาของอำนาจรัฐ และอำนาจตลาด ที่ทั้งสองอำนาจ ยังไม่เสรีอย่างแท้จริง ทำให้เสรีประชาธิปไตยที่แท้จริงเหมือนในต่างประเทศยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ตราบเท่าที่ยังความพยายามเข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐ และนำอำนาจรัฐไปออกนโยบายเพื่อส่งเสริมกลุ่มนายทุน ความเป็นอิสระเสรีของรัฐ และตลาด ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว ก็จะเป็นความกดดันให้ประชาชนปลีกตัวออกจากอำนาจทั้งสอง" ดร.ชัยอนันต์กล่าว

**ทักษิณใช้กลไกตลาดรวบอำนาจ

จากนั้นเป็นการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “จากรัฐรวมศูนย์อำนาจ สู่การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน” โดยมีวิทยากรเข้าร่วมที่น่าสนใจได้แก่ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และนายคมสัน โพธิ์คง สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นายทวีศักดิ์ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศ หรือการจัดระเบียบการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ที่ในอดีต มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากนอกประเทศ แต่ในการปฏิรูปประเทศของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นเป็นความพยายามเพื่อตอบสนองรัฐการตลาด นำวิธีการเอกชนมาใช้ในระบบราชการ เพื่อรวบอำนาจเข้าไปสู่รัฐบาลกลาง ครอบชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย โดยผ่านกลไกการตลาด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับประชาชน โดยส่วนตัวเห็นว่า รัฐควรสละอำนาจกระจายการปกครองไปสู่ท้องถิ่น และชุมชนจะเป็นการปฏิรูปประเทศอีกครั้ง แม้นักการเมืองไม่ยอมรับเงื่อนไข ก็เชื่อว่าประชาชนจะร่วมกันขับเคลื่อนให้สำเร็จได้

** ยุคนี้เผด็จการพรรคการเมือง

ด้าน นายบรรเจิด กล่าวว่า พัฒนาการเมืองไทยจากพ.ศ. 2475 จนถึงขณะนี้ 80 ปีเป็นความขัดแย้งชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่ม ได้แก่ ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ ชนชั้นนำฝ่ายทุน และชนชั้นนำสายทหราร แต่ไม่ได้มีพื้นที่ให้แก่ประชาชนธรรมดาเลย จึงนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนการผูกขาดทางธุรกิจโดยการใช้อำนาจรัฐในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ปันผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องตัวเอง ทำให้สภาพการเมืองที่เราเผชิญอยู่ปัจจุบันคือ การปรากฏตัวของเผด็จการโดยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเผด็จการที่มีอานุภาพมาก

"ในสมัยเผด็จการนาซีฮิตเลอร์ มีการออกรัฐบัญญัติมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับฮิตเลอร์ และนำไปสู่การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ประเทศไทยวันนี้ เรากำลังเจอเผด็จการแก้รัฐธรรมนูญ ตามใบสั่งเจ้าของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเผด็จการเข้มข้นที่สุดในโลก เพราะจะมีรัฐธรรมนูญที่จะร่างเสร็จสิ้นตามใบสั่งของคนคนเดียว" นายบรรเจิดกล่าว

นายบรรเจิด กล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่ของโครงสร้างระบบการเมืองไทยคือ 80 ปีของประชาธิปไตยไทย ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำของสังคม ไม่ได้มีพื้นที่ของประชาชน หรือตัวแทนของประชาชน เหตุผลที่ไม่มีพื้นที่เพราะประเทศเราใช้ระบบตัวแทนผ่านพรรคการเมือง และมีนายทุนผูกขาดครอบงำพรรคการเมือง จึงไม่มีตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐสภาจึงกลายเป็นของเจ้าของพรรค ที่สามารถกำหนดทิศทางให้เป็นอย่างไรก็ได้ เพราะฉะนั้นตัวแทนของพรรคการเมืองจึงไม่ใช่ผู้แทนราษฎรอย่างที่พูดกัน

"วันนี้เจ้าของพรรคส่งสัญญาณมาว่า เราต้องปรองดองแล้ว สำเร็จหรือไม่จะพิสูจน์กันในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะโหวตวาระ 3 สัปดาห์หน้า คำถามจึงมีว่า พื้นที่ของประชาชนอยู่ตรงไหนในประเทศนี้ อย่างดีมาที่หอประชุมนี้ สวนลุมฯ หรือสนามหลวง ชุมนุมให้ตายก็ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร ดังนั้นเมื่อเราไม่ต้องการให้ตัวแทนประชาชนอยู่ข้างถนน เราต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีบทบาททางการเมือง ปลุกกระแสประชาชนทั่วประเทศ สร้างพื้นที่ภาคประชาสังคมทุกพื้น ที่จะมาคานอำนาจรัฐ เช่น สภาประชาชนจังหวัดอำนาจกำหนดทิศทางตนเอง และตัดขาดจากชนชั้นนำของประเทศอย่างเด็ดขาด" นายบรรเจิดกล่าว

นายบรรเจิด ยังได้นำเสนอ" พิมพ์เขียวโครงสร้างสถาบันการเมืองไทย" โดยอธิบายว่า หากจะให้พี่น้องประชาชนเข้าไปมีบทบาทในโครงสร้างการเมืองไทย ต้องแก้โจทย์การผูกขาดโดยชนชั้นนำให้ได้ ดังนั้นจึงควรมีการจัดตั้ง “สภาประชาชนจังหวัด” ที่ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง โดยให้สภาฯ นี้เลือกตัวแทนผลประโยชน์ในทางพื้นที่เข้ามานั่งในวุฒิสภา เพื่อใช้คานอำนาจกับรัฐ มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องรอ ครม.สัญจรเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ฝ่ายการเมืองไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะจะไม่สามารถหากินจากงบประมาณของชาติได้อีก ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรนั้น ก็จะให้คัดเลือก ส.ส.ที่มาจากตัวแทนของประชาชนจากฐานอาชีพที่หลากหลายกว่าในปัจจุบัน ในส่วนท้องถิ่นก็ต้องสร้างองค์กรในระดับพื้นที่ และชุมชนให้เข้มแข็ง ในลักษณะ “สภาชุมชนท้องถิ่น” เพื่อให้องค์กรเหล่านี้มาติดตามแผนงาน และตรวจสอบการใช้งบประมาณ โดยทำงานเชื่อมโยงกับสภาประชาชนจังหวัด เชื่อว่าทิศทางนี้จะเป็นการตอบโจทย์เพื่อไม่ให้ชนชั้นนำผูกขาดอีกต่อไป และเป็นการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

** ต้องเอาปตท.กลับมาเป็นของปชช.

ในช่วงสุดท้ายเป็นการแจ้งกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางวิชาการ “ก้าวไปข้างหน้า” ของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” โดย นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้แถลงว่า กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์จะเดินหน้านำเสนอแนวทางในการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจส่วนร่วมและในระดับท้องถิ่น โดยให้ภาคประชาชนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบของสภาประชาชนในระดับจังหวัด และเปลี่ยนโครงสร้างของระบบรัฐสภา ให้มีตัวแทนของประชาชนในทุกภาคส่วนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นอกจากนี้จะมีการจัดทำแผนพัฒนาประเทศและท้องถิ่นโดยภาคประชาชนเอง รวมไปถึงแผนการจัดสรรงบประมาณด้วย

นายพิชาย กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญที่ดำเนินการต่อไปที่มีความสำคัญต่ออนาคตของชาติ คือการปฏิรูประบบนโยบายและการบริหารพลังงานของชาติ ทั้งก๊าซและน้ำมัน ที่กำลังจะตกอยู่ในมือของเถ้าแก่ และพรรคพวก ขั้นแรกคือ การนำ ปตท. กลับมาเป็นของประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันในมีการปฏิรูประบบการศึกษาไทยขนานใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจากระบบอุปถัมป์หรือแป๊ะเจี๊ยะอีกต่อไป เพื่อไม่ให้ผลิตคนที่จะมาคอยเดินตามเภถ้าแก่ออกมาอีก ตลอดจนไปถึงการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกร และผู้บริโภคที่เผชิญกับของแพงอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.นี้ทางกลุ่มจะเริ่มเดินสายสัญจรเพื่อพูดคุยเสวนากับประชาชนทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น