ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เพียงผ่านไปไม่กี่เดือนของการครองอำนาจรัฐ ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์หาใช่เป็นตัวแทนแห่งผลประโยชน์ของประชาชาติ ประชาชนไทย มิได้เป็นตัวแทนแห่งคุณค่าทางคุณธรรมและความยุติธรรมของสาธารณชน มิได้เป็นตัวแทนแห่งวัฒนธรรมอันดีงามของสังคม และมิได้เป็นตัวแทนแห่งความสามารถและภูมิปัญญาของประชาคมชาวไทย
ตรงกันข้าม ปรากฎการณ์เชิงประจักษ์ที่สัมผัสได้ด้วยประสาทการรับรู้ของสามัญชน อันเป็นผลมาจากการกระทำของรัฐบาล ทำให้สิ้นไร้คำถามและข้อสงสัยทั้งปวง เปิดเผยถึงให้เห็นถึงความลวงหลอก กลอกกลิ้ง ว่าแท้จริงแล้ว แนวทางมาตรการนโยบายและการดำเนินการทุกอย่างทุกประการ ล้วนกระทำเพื่อตอบสนองผลประโยชน์บุคคลที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองและมวลชนเฉพาะที่เป็นฐานคะแนนของตนเท่านั้น ในการกระทำดังกล่าวรัฐบาลมิได้สนใจหรือคำนึงถึงความเสียหายอันเป็นผลสืบเนื่องแต่อย่างใด
ผู้คนที่จิตไม่มืดบอดและไม่ลุ่มหลงต่อรางวัลลาภยศย่อมทราบว่า “ผู้เป็นนายเหนือหัวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์คืออาชญากรหนีคุกในคดีทุจริตตามกฎหมาย ป.ป.ช. ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร” มีหลักฐานมากมายที่ยืนยันความเที่ยง(validity)ทางวิชาการของข้อสรุปนี้ อาทิ การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยอันเป็นพรรครัฐบาลซึ่งใช้คำขวัญติดป้ายทั่วเมืองว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” หรือ การสัมภาษณ์ของทักษิณ ชินวัตรต่อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ว่า เขาได้พบกับนายพลอาวุโสตานฉ่วยและประธานาธิบดีเต็งเส่งแห่งประเทศพม่า เพื่อปูทางให้กับการเยือนพม่าของนางสาวยิ่งลักษณ์ให้ราบรื่นยิ่งขึ้น เป็นต้น
การเป็นนายเหนือหัวรัฐบาลย่อมทำให้มีอำนาจและอิทธิพลในการควบคุมทิศทางนโยบาย การจัดสรรบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง การจัดสรรงบประมาณ และการตัดสินใจทางการเมืองอื่นๆ และในทางกลับกัน รัฐบาลก็ย่อมปฏิบัติตามและดำเนินงานตามความปรารถนาและเป้าประสงค์ของผู้ที่เป็นนายเหนือหัว ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เหล่านี้
เหตุการณ์แรกคือ การมอบหนังสือเดินทางให้ทักษิณ ชินวัตร กระทรวงต่างประเทศให้ข้าราชการนำหนังสือเดินทางของประเทศไทยไปมอบให้กับทักษิณ ชินวัตรถึงที่พำนักในต่างประเทศ ทั้งที่ทักษิณ เป็นนักโทษคดีอาญาแผ่นดิน อยู่ระหว่างการหนีคดี หากกระทรวงการต่างประเทศมีวิธีการปฏิบัติเช่นนี้เป็นมาตรฐานและมิได้กระทำเพื่อทักษิณคนเดียว หลังจากเหตุการณ์การมอบหนังสือเดินทางแก่นักโทษเช่นทักษิณแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศก็ควรสั่งให้ข้าราชการเดินทางไปมอบหนังสือเดินทางแก่นักโทษคดีหนีคุก หนีระบบยุติธรรมของไทยทุกคนที่อยู่ในต่างประเทศ และควรให้ข้าราชการไปมอบหนังสือเดินทางแก่นักโทษทุกคนที่อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ รวมทั้งควรส่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเดินทางไปถามประชาชนทุกครัวเรือนว่าประสงค์จะมีหนังสือเดินทางหรือไม่ หากบุคคลใดต้องการหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศก็ควรไปทำให้เขาถึงที่บ้าน โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาทำที่กรมการกงสุลให้เสียเงินและเวลา
หากกระทรวงต่างประเทศยืนยันว่ามิได้ทำเพื่อทักษิณและมีความเป็นธรรมในการให้บริการแก่ทุกคน ก็ควรดำเนินการในลักษณะข้างต้น แต่หากกระทรวงต่างประเทศมิได้ปฏิบัติตามนี้ ก็ย่อมเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่า กระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กระทำเพื่อผลประโยชน์ของนายเหนือหัวคือ ทักษิณ ชินวัตร เป็นหลัก
เหตุการณ์ที่สอง คือการพยายามแก้พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ(พ.ร.ฎ.) โดยจะเอาเงื่อนไขความผิดต้องห้ามปล่อยตัวที่แนบท้ายอันได้แก่เรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ ออกไปจาก พ.ร.ฎ. เพราะหากดึงเรื่องนี้ออกไปจะทำให้ทักษิณ ชินวัตร อยู่ในข่ายของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษทันที และเรื่องที่เกิดควบคู่ไปกับการพยายามในการออก พ.ร.ฎ. อภัยโทษนี้คือ การปรับปรุงโรงเรียนพลตำรวจ บางเขนให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เพื่อเป็นคุกสำหรับกักขังนักโทษคดีการเมือง ทั้งหมดนี้รัฐบาลกระทำการเพื่อที่รองรับการกลับมาและการให้อภัยโทษแก่ทักษิณ ทว่าเรื่องนี้รัฐบาลกระทำไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะประชาชนทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันเปิดโปงและต่อต้าน จนรัฐบาลต้องยอมถอย และยื่น พ.ร.ฎ. ตามแบบแผนเดิมที่เคยทำมาตั้งแต่ในอดีต แต่การพยายามกระทำของรัฐบาลในเรื่องนี้เพื่อช่วยทักษิณ แม้ว่าจะไม่สำเร็จ ก็ย่อมเป็นดัชนีหนึ่งที่บ่งบอกได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำเพื่อทักษิณ และกระทำอย่างต่อเนื่อง
เหตุการณ์ที่สาม คือการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม รัฐบาลยิ่งลักษณ์กระทำการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการผลิตวาทกรรมว่า ไม่นิรโทษกรรมเพื่อคนคนเดียว การประกาศสนับสนุนแนวทางปรองดองของคณะกรรมการอิสระฯที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน และการสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ อันมีพลเอกสินธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นประธานคณะกรรมธิการฯ และมีนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรองประธาน เพื่อหาแนวทางในการนิรโทษกรรมทักษิณ ชินวัตรและกลุ่มแกนนำลัทธิแดงที่ถูกดำเนินคดีก่อการร้ายอย่างแยบคาย โดยพยายามพ่วงเอาคดีทางการเมืองอื่นๆของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เข้าไปด้วยเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความชอบธรรมสำหรับการนิรโทษกรรม และให้เป็นไปตามที่รัฐบาลประกาศเอาไว้ แต่การพยายามเอาผู้อื่นมาเป็นตัวประกันเพื่อทำให้ตนเองได้สิ่งที่ต้องการนั้น ย่อมมิอาจปกปิดเจตนาอันแท้จริงของตนเองไปได้
เหตุการณ์ที่สี่ คือการเร่งรัดการแก้รัฐธรรมนูญ ในเรื่องนี้ระยะแรกนางสาวยิ่งลักษณ์ แถลงต่อสาธารณะว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรและภาคประชาชน ต่อมาไม่นานกลับประกาศว่าการแก้ไขรัฐธรรมเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องกระทำภายในหนึ่งปี การแก้ไขรัฐธรรมของรัฐบาลมีเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังสองประการ ประการแรกคือ เหตุผลที่มาจากความต้องการของทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการแก้ไขมาตรา 309 อันจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ตนเองพ้นรอดพ้นจากคดีต่างๆที่กำลังถูกยื่นฟ้องโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คดีเหล่านี้ในปัจจุบันได้ยุติการดำเนินตามกระบวนการชั่วคราวเพราะทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ประการที่สอง แก้ไขตามความต้องการของบรรดาแกนนำลัทธิแดง อันมี นางธิดา ถาวรเศรษฐ เป็นประธาน โดยกลุ่มนี้เห็นว่า รัฐธรรม พ.ศ. 2550 เกิดจากการรัฐประหาร ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงต้องร่างใหม่ แม้ว่าการอ้างเหตุผลจะแตกต่างกัน แต่ความปรารถนาเบื้องลึกแห่งการกระทำมิได้แตกต่างกันอย่างใด
การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลมีหลายวิธีการทั้งการตั้งนักวิชาการด้านกฎหมายเป็นกลุ่มทำงานโดยการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ. นธ.) ซึ่งมีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน การดำเนินการโดยพรรคเพื่อไทย และกลุ่มลัทธิแดง กระบวนการเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมปรากฎชัดอย่างเป็นระบบในปลายเดือนธันวาคม 2554 และต่อเนื่องมาในเดือนมกราคม 2555 โดยมีการนำเสนอทั้งวิธีการในการแก้ไข และเนื้อหาในการแก้ไข อย่างไรก็ตามภายในกลุ่มรัฐบาลมีความเห็นแตกต่างเป็นสองแนวทางเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แนวทางแรกคือการเลือกตั้งคณะผู้ร่างจากประชาชน ซึ่งเป็นแนวทางที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงและสอดคล้องกับความต้องการของลัทธิแดง แนวทางที่สองคือ แนวทางร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะบุคคลจำนวน 34 คน ซึ่งนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ นธ. เป็นผู้คัดเลือกด้วยตนเอง โดยอ้างว่าบุคคลทั้ง 34 คน เป็นผู้สนใจรัฐธรรมนูญและมีความเชี่ยวชาญ เปรียบเสมือนสถาปนิกที่สร้างบ้าน อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดแนวทางของนายอุกฤษ มงคลนาวิน และแนวทางของพรรคเพื่อไทย ก็อาจประสานกันไป โดยมีคณะผู้ร่างที่มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง และมาจากการแต่งตั้งอีกส่วนหนึ่ง
กระนั้นหากพรรคเพื่อไทยและแกนนำลัทธิแดงยอมใช้แนวทางนี้ ก็เท่ากับว่า เป็นการกลืนน้ำลายตนเองและกลายเป็นพวกไม้หลักปักขี้เลน ไร้จุดยืน ฉวยโอกาส ความเชื่อถือที่ได้รับจากสาวกลัทธิแดงอาจลดลง เพราะพรรคเพื่อไทยและแกนนำลัทธิแดงมักจะประกาศจุดยืนว่าประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งย่อมทำลายหลักการดังกล่าว และไม่ได้แตกต่างจากการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่พวกเขาโจมตีว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ ดังนั้นแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มคนที่มาจากการแต่งตั้งของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ไม่ว่าแกนนำลัทธิแดงจะชอบหรือไม่ชอบตัวบุคลในคณะนี้ ก็เป็นเสมือนของแสลงที่พวกเขาต้องปฏิเสธ
เหตุการณ์ที่ 5 การออกมาตรการเยียวยา ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 รัฐบาลได้ใช้ข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตยของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) อันมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการกำหนดมาตรการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงตั้งแต่ช่วงก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงเดือน พฤษภาคม 2553 โดยครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน ตลอดจนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ เงินช่วยเหลือในการเยียวยามีทั้งเงินชดเชยในการเสียชีวิต เงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ เงินชดเชยกรณีทุพลภาพ เงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บไม่สูญเสียอวัยวะ และเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล โดยวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้มีประมาณ 2,000 ล้านบาท
จำนวนเงินที่ให้กับผู้เสียชีวิตเมื่อรวมทุกส่วนเข้าด้วยกันมีประมาณ 7 ล้านกว่าบาท ซึ่งสูงกว่าเงินชดเชยที่รัฐเคยให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อื่นๆเช่น กรณีประชาชนเสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับคนละ 1 แสนบาท เพราะฉะนั้นการชดเชยให้แก่ผู้ประสบความรุนแรงทางการเมืองตามมติ ครม. ครั้งนี้จึงสูงกว่าปกติถึงประมาณ 70 เท่าตัว
เหตุผลเบื้องหลังของรัฐบาลในการออกมาตรการนี้ หาได้เป็นไปตามที่กล่าวอ้างอย่างสวยหรูต่อสาธารณะแต่ประการใด เจตนาอันแท้จริงคือการตอบแทนผลประโยชน์แก่มวลชนเสื้อแดงที่เป็นฐานทางการเมืองของตนเอง เป็นการทำตามสัญญาที่แกนนำแดงเคยกล่าวกับผู้ชุมนุมเสื้อแดงว่าหากเสียชีวิตจะได้รับค่าตอบแทนเป็นล้าน เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลเสมือนถูกนำไปเป็นค่าจ้างให้กับมวลชนลัทธิแดงผู้ทำงานจนเสียชีวิตเพื่อให้พรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงได้อำนาจมา ดังนั้นเมื่อรัฐบาลได้ครองอำนาจจึงกระทำการที่เป็นเสมือน “ปล้นเงินประชาชนทั้งประเทศ เพื่อตบรางวัลแก่สาวกลัทธิแดง”
เกือบครึ่งปีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ครองอำนาจการบริหารประเทศไทย พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลนี้มิได้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชาติไทย แต่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มลัทธิแดง รัฐบาลตัดสินใจและกระทำทางการเมืองทางที่เอื้อประโยชน์ต่อคนเหล่านั้นในหลากหลายช่องทาง ส่งเสริมให้พวกตนเองเป็นมหาอภิสิทธิชน และเหยียบย่ำหลักนิติรัฐ เลือกปฏิบัติ ฉกฉวยทรัพยากรและงบประมาณของชาติไปปรนเปรอ สร้างความร่ำรวยแก่พวกพ้องตนเองอย่างปราศจากความละอาย อันเป็นการสร้างความอยุติธรรมและความไม่เสมอภาคในสังคมอย่างรุนแรง
สิ่งที่รัฐบาลบริหารมิใช่เพียงที่กล่าวมายังมีอีกหลายเรื่องหลายประเด็นที่ต้องบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ความเสียหายของชาติไทย ดังนั้นในตอนต่อไปผู้เขียนจะวิเคราะห์และอธิบายลักษณะของการมิได้เป็นตัวแทนแห่งคุณค่าทางคุณธรรมและความยุติธรรมของปวงสาธารณชนให้กระจ่างชัดเจน