xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจแข็ง อำนาจนุ่ม - สหรัฐฯ จีน ไทย

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านบทความของคุณยุค ศรีอาริยะ เรื่อง “วิวาทะคอร์เนล : การเมืองไทยภายใต้ปีกพญาอินทรี” ที่ตีพิมพ์ติดต่อกันหลายตอนในเว็บไซต์เอเอสทีวี/ผู้จัดการ ในนั้นได้พูดถึงเรื่อง soft power “อำนาจอ่อน” (หรือ “อำนาจนุ่ม”ตามที่ผู้เขียนเคยนำมาใช้) อันหมายถึงอิทธิพลทางความคิดที่สถาบันการศึกษาชั้นนำในสหรัฐฯ ปลูกฝังให้นักศึกษาผูกติดอยู่กับแนวคิดตะวันตกนิยมอย่างแนบเนียน และมีนักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยโลดแล่นไปในสายธารแห่งปัญญาโดยมีสายป่านทางปัญญาของสถาบันเหล่านี้ติดตามไปทุกแห่งหน ดุจปลาลากสายเบ็ด แต่ก็มีบางคนที่มีศักยภาพทางปัญญาเฉพาะตัว ใช้องค์ความรู้เฉพาะตน หล่อเลี้ยงฐานปัญญาของตนเองขึ้นมา จนกล้าแกร่ง สามารถนำเสนอแนวคิดที่เป็นอิสระจาก “สายเบ็ด” เหล่านั้น และพร้อมที่จะหันกลับไปมองสำนักปัญญาเหล่านั้นอย่าง “เข้าใจ” และ “รู้ทัน”

คุณยุค ศรีอริยะ เป็นปัญญาชนคนหนึ่งของประเทศไทย ที่บรรลุสู่สภาวะแห่งความเป็นอิสระ ด้วยการใช้ทฤษฎี “ระบบโลก” ได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง

ผู้นำเสนอจินตภาพหรือคอนเซ็ปต์ soft power “อำนาจนุ่ม” คือศาสตราจารย์โจเซฟ ไน (Joseph S Nye) แห่งสถาบันเคเนดี้ มหาวิทยาฮาวาร์ด มีความหมายกว้างๆ ว่าเป็นอำนาจดึงดูดใจให้คนยอมรับ คู่ขนานไปกับอำนาจแข็ง “hard power”

อธิบายกว้างๆ โดยไม่อิงหลักวิชาการ อำนาจแข็ง หมายถึงอำนาจรูปธรรม สัมผัสได้ เช่น แสนยานุภาพทางทหาร ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ส่วนอำนาจนุ่ม ก็คืออำนาจนามธรรม สัมผัสไม่ได้ แต่รู้สึกได้ นิยมชมชื่น ติดหูติดตาติดใจได้ เช่น วิถีชีวิตแบบอเมริกัน ที่ส่งผ่านทางภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือค่านิยมทางวิชาการดังที่คุณยุค ศรีอาริยะนำเสนอ

ในทัศนะของผู้เขียน ศาสตราจารย์โจเซฟ ไน ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ทั้งในวงวิชาการและวงการเมือง (เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) เป็นผู้ “เข้าถึง” แก่นแท้ของ “อำนาจ” ว่า มีทั้งอำนาจแข็งและอำนาจนุ่ม แล้วใช้สองสิ่งที่เชื่อมโยงกันนี้อธิบายปรากฏการณ์ อันได้แก่สถานภาพของอำนาจโดยรวมของประเทศหนึ่งๆ

ในที่นี้ ผู้เขียนขอใช้จินตภาพหรือ “คอนเซ็ปต์” soft power มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ ควบคู่กับ hard power หรือ “อำนาจแข็ง” ในบริบทของดุลอำนาจระหว่าง สหรัฐฯ กับจีน และในบริบทของดุลอำนาจระหว่างอำนาจเผด็จการรัฐสภาในระบอบทักษิณกับอำนาจปฏิรูปที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นหัวหอก

ในกรณีของสหรัฐอเมริกา ความเป็นมหาอำนาจมิได้แสดงออกเพียงด้านเศรษฐกิจการผลิต และแสนยานุภาพทางทหารเท่านั้น แต่ยังแสดงออกทางด้านความเป็นผู้นำทางด้านวิชาการที่ส่งผ่านมาทางสถาบันการศึกษา และค่านิยม ที่ส่งผ่านมาทางภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือสื่อสารมวลชนยักษ์ใหญ่ เช่น ซีเอ็นเอ็น รอยเตอร์ ที่สื่อทั่วโลกรับและถ่ายทอดด้วยภาษาท้องถิ่น ทั้งบทวิเคราะห์และเนื้อข่าว ป้อนให้แก่ผู้บริโภคสื่อภายในประเทศตนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สามารถสร้างฐานมุมมองให้แก่คนเกือบทั้งโลก ให้เป็นแบบอเมริกันอย่างรอบด้าน

คนไทยตกอยู่ในการครอบงำของอำนาจแข็งและอำนาจนุ่มของสหรัฐฯ มานาน จึงไม่แปลกที่คำพูดของคนอเมริกัน ตั้งแต่ประธานาธิบดีจนถึงดาราดัง มักจะ “เข้าหู” คนไทยได้ง่าย

ประเทศจีนรับแนวคิดเรื่อง “อำนาจแข็ง” และ “อำนาจนุ่ม” มาใช้ประเมินอำนาจของตน (เรียกรวมๆ ว่า “พลังรวมของชาติ”หรือ “กั๋วเจียจงเหอสือลี่”) และปรับแนวคิดการพัฒนาประเทศให้ครอบคลุมทั้งทางด้าน “แข็ง” และ “นุ่ม” โดยประยุกต์เข้ากับหลักวิภาษวิธี ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงและแปรเปลี่ยนสู่กันและกันของอำนาจทั้งสองนี้ ปัจจุบันได้กำหนดยุทธศาสตร์การสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ให้ดำเนินไปอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในรูปของ “การผลิต” ป้อนตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายให้การผลิตทางด้านวัฒนธรรม กลายเป็นจุดแข็งกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจระลอกใหม่

โดยภาพรวม ณ วันนี้ สหรัฐฯ ยิ่งใหญ่กว่าจีนทั้งอำนาจแข็งและอำนาจนุ่ม แต่มีแนวโน้มที่จะถูกเบียดบี้มากขึ้นเรื่อยๆ

เกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการสร้างอำนาจนุ่ม ควบคู่ไปกับการสร้างอำนาจแข็ง

ประเทศไทยวันนี้ อำนาจแข็งและอำนาจนุ่มยังไม่แสดงออกอย่างชัดเจน เหตุเพราะยังติดขัดอยู่กับความล้าหลังทางการเมือง ขาดนักการเมืองที่ดีมีคุณภาพไม่มีรัฐบาลที่ทุ่มเทบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และกำลังอยู่ในระหว่างการขับเคี่ยวกันระหว่างอำนาจสองฝ่าย คือ ฝ่ายเผด็จการรัฐสภาในระบอบทักษิณ และฝ่ายปฏิรูปนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ภายหลังการขับเคี่ยวกันของอำนาจสองฝ่ายนี้ ประเทศไทยจึงจะก้าวเข้าสู่ระยะของการพัฒนาอำนาจแข็งและอำนาจนุ่มอย่างจริงจัง

เมื่อนำเอากรอบความคิดเรื่องอำนาจแข็งและอำนาจนุ่มมาวิเคราะห์ ก็จะพบว่า ปัจจุบันนี้ “ฝ่ายเผด็จการรัฐสภา” มีอำนาจแข็งชัดเจน ทั้งเงินทองและสมัครพรรคพวก ผูกขาดอำนาจการเมืองในระบบรัฐสภา และเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ แต่อำนาจนุ่มของพวกเขาต่ำมาก เนื่องจากใช้ “ตรรกโจร” ชี้นำการเคลื่อนไหวต่อสู้ พูดผิดเป็นถูก มีพฤติกรรมตลบแตลง ตะแบงไปเรื่อยๆ และใช้ข้อมูลด้านเดียวกลบเกลื่อนการทุจริตฉ้อฉล กอบโกยโกงกิน ฯลฯ ซึ่งไม่ทนต่อการพิสูจน์ ตรงกันข้าม “ฝ่ายปฏิรูปฯ” ขาดอำนาจแข็งอย่างเห็นได้ชัด มวลชนกระจัดกระจาย ขาดการจัดตั้ง เครื่องมือสำคัญอย่างเอเอสทีวี/ผู้จัดการก็อยู่ในฐานะง่อนแง่น ขาดการสนับสนุนทางการเงิน แต่อำนาจนุ่มแข็งแกร่ง ด้วย “ใช้ธรรมนำหน้า” ยึดมั่นในความถูกต้อง และผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน บุคลากรและผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ตลอดจนแกนนำมวลชน มีจิตใจเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ทุ่มเทเสียสละ

มองในภาพรวม และมองลึกไปสู่อนาคต ฝ่ายเผด็จการรัฐสภา มีโอกาสกระชับอำนาจแข็งในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยเฉพาะต่อวงการศาลและกองทัพ แต่จะลำบากยิ่งขึ้นในการกระชับอำนาจนุ่ม เนื่องจากถูกฝ่ายปฏิรูปฯ เปิดโปงมากขึ้น ชัดเจนขึ้น ทำให้สังคมส่วนใหญ่แสดงท่าทีปฏิเสธมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปรับกลยุทธ์การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา จากการเคลื่อนไหวต่อสู้เฉพาะเรื่อง เป็นการต่อสู้เพื่อปฏิรูปประเทศไทย มีเป้าหมายชัดเจน โดยกำหนดยุทธศาสตร์ใหญ่ “หยุดระบอบเผด็จการรัฐสภา” เพื่อนำไปสู่การสร้างการเมืองใหม่ เปิดทางให้แก่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ เข้ามีส่วนร่วมสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง และร่วมจัดตั้งคณะผู้บริหารประเทศที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ การสร้างอำนาจนุ่มได้ดี เช่น ความสำเร็จในการรณรงค์เผยแพร่ความคิดปฏิรูปประเทศไทย เมื่อประชาชนเข้าใจ ให้การสนับสนุน ก็จะกลายเป็นอำนาจแข็งของฝ่ายปฏิรูปฯ ทันที ตรงกันข้าม พฤติกรรมเลวร้ายต่างๆของฝ่ายเผด็จการรัฐสภา ก็จะทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาในหมู่ประชาชน หรือกระทั่งในหมู่มวลชนของพวกเขาเอง ซึ่งเท่ากับบั่นทอนอำนาจแข็งของพวกเขาไปในตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น