xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยแบบพอเพียง (2)

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

อาทิตย์ที่แล้ว ผมเขียนเรื่อง “ประชาธิปไตยแบบพอเพียง” ทำให้เกิดความคิดว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้น เป็นระบอบการเมืองที่มีไว้เพื่อป้องกัน และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นี่จึงเป็นสาเหตุให้ประชาธิปไตยสนองตอบแต่ความต้องการ และผลประโยชน์ของนายทุน และชนชั้นกลาง จนมีข้อสรุปว่า ปัจจัยสำคัญของการมีประชาธิปไตยก็คือ การมีชนชั้นกลางสนับสนุน

ในสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศที่มีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย คนยากจนมักไม่มีที่ยืน ในอเมริกาเองมีคนจนอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ มากมาย และกล่าวได้ว่าพวกเขาไม่มีตัวแทนผลประโยชน์

คำถามก็คือ ในสังคมแบบสังคมไทยที่ยังมีคนยากจนอยู่นับจำนวนมากนั้น ระบอบประชาธิปไตยมีประโยชน์กับพวกเขาเพียงใด เราจึงพบว่าปัญหาของคนยากจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน หรือเรื่องราคาผลิตผลทางการเกษตร มักไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างแท้จริง และฝ่ายองค์กรเอกชน และองค์กรประชาชนเท่านั้นที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรียกร้องผลประโยชน์ให้คนเหล่านี้

เรามีความคาดหวังให้ชุมชนในชนบท มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหมายความถึงการจัดรูปแบบการปกครองให้ชุมชนท้องถิ่น ใช้วิธีการของประชาธิปไตย แต่ข้อเท็จจริงคือคนในชนบทไม่ค่อยเห็นคุณประโยชน์ของประชาธิปไตยในแง่วิธีการปกครอง แม้แต่สิทธิเลือกตั้งก็ไม่หวงแหน มีการขายสิทธิ ส่วนกระบวนการปกครองแบบประชาธิปไตยระดับชาติ และท้องถิ่นนั้น ประชาชนก็เป็นฝ่ายถูกกระทำมากกว่าเป็นฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

บางทีการคาดหวังให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยต้องการให้ประชาชนมีความพร้อม และเป็นส่วนสำคัญของระบอบการเมือง น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นรูปแบบ และวิธีการไม่มีความหมายต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่การดำเนินกิจกรรมที่ชาวบ้านจัดให้มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของตนเอง กลับมีความสำคัญกว่า และกระบวนการแก้ปัญหาที่ใช้ก็คือ การมีส่วนร่วมกันโดยอาศัยความสัมพันธ์แบบดั้งเดิม โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีการจัดโครงสร้าง และวิธีการทำงานแบบประชาธิปไตย

ในแง่นี้ ประชาธิปไตยแบบพอเพียง น่าจะเป็นคำตอบ แต่อะไรเล่าคือ “ประชาธิปไตยแบบพอเพียง” ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องดูที่เป้าหมายของประชาธิปไตยว่าคือการสร้างความพอเพียง และการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชนและชาวบ้าน การสร้างภูมิคุ้มกันนี้ส่วนหนึ่งก็คือ การปกป้องมิให้ระบบทุนนิยมเข้ามาทำลายชุมชน ไปๆ มาๆ ประชาธิปไตยแบบทุนนิยมกลับเป็นอันตรายสำหรับชาวบ้าน ดังเห็นได้จากการที่ชาวบ้านต้องพึ่งปุ๋ย ย่าฆ่าแมลง เงินกู้ทั้งในและนอกระบบ ชาวบ้านที่รอดพ้นจากภัยนี้ได้ ล้วนแล้วแต่หันมาพึ่งพาเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ ลดความเกี่ยวข้องกับตลาด หาทางปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ

เศรษฐกิจแบบพอเพียง ปฏิเสธระบบทุนนิยม การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งไม่ได้เริ่มต้นโดยมีโครงสร้างชุมชนแบบประชาธิปไตย แต่เริ่มด้วยการร่วมกันทำกิจกรรมที่เรียบง่าย และพึ่งพาตนเอง สร้างความเข้มแข็งให้อยู่ได้ โดยพึ่งพาการตลาดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

การสร้างและส่งเสริมประชาธิปไตยแบบพอเพียง คือ การปลดปล่อยประชาชนให้เป็นอิสระจากการตกอยู่ในสภาวะการอุปถัมถ์ของระบอบการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือ ในระดับชุมชนประชาธิปไตยแบบพอเพียงสามารถเกิดขึ้นได้ จากการร่วมกันทำกิจกรรมที่พึ่งรัฐให้น้อยลง และปล่อยให้ชุมชนจัดการตนเองมากกว่าที่จะให้องค์กรปกครองท้องถิ่นดำเนินการ

ในแง่นี้ การกระจายอำนาจที่แท้จริง จึงไม่ใช่การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่จะต้องลงไปถึงประชาชนให้ประชาชนจัดการทำกิจกรรมต่างๆ เอง โดยทำแผนชุมชน ตั้งเป้าหมายระดับชุมชน และตั้งงบประมาณ จัดการงบประมาณได้เอง จึงจะเรียกได้ว่ามีประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง

หากเราเข้าใจในความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยแบบตะวันตก มีตัวแทนกับประชาธิปไตยแบบพอเพียงที่ประชาชนไม่ต้องมีตัวแทน แต่มีแผน มีงบประมาณของตนเองแล้ว เราก็จะพบกับความสำเร็จสามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น