xs
xsm
sm
md
lg

“ถาวร”โบ้ย!กทม. เคลียร์ปัญหาห้างยักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(21 พ.ค.55) ในกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา ที่มีนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี เป็นประธานกรรมาธิการ ได้พิจารณากรณีที่กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต่อสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) โดยมีตัวแทนหน่วยงาน อาทิ นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. ตัวแทนบริษัทกรุงเทพธนาคม และ ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัทบีทีเอสซี เข้าชี้แจง
ทางกรรมาธิการฯ ที่เป็นส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการขยายเวลาสัมปทานการเดินรถของกรุงเทพมหานคร รวมถึงสอบถามถึงเหตุผลและความโปร่งใสต่อการทำสัญญาดังกล่าว
โดยนายธีระชน ชี้แจงย้ำว่า การทำสัญญา 30ปี ไม่ใช่เป็นการขยายสัมปทานการเดินรถให้กับบริษัทบีทีเอสซี แต่เป็นการทำสัญญาจ้างอีกฉบับเพื่อให้บริษัทบีทีเอสซี เข้ามาดำเนินการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งกทม. เป็นผู้ดูแล โดยระยะเวลาทำสัญญาคือ 30 ปี โดยสัญญาจะสิ้นสุดประมาณปี 2585ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสสายหลักที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
“กทม.ได้ใช้หลักคิดที่ว่าหากมีการแยกทำสัญญากับโครงการส่วนต่อขยาย จะเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.2หมื่นล้านบาท และเกิดความไม่คุ้มค่าการลงทุน อีกทั้งภาระทางการเงิน กว่า 1.2หมื่นล้านจะตกมาอยู่ที่กทม. เพราะกทม. ต้องนำเงินงบประมาณไปอุดหนุนในส่วนความไม่คุ้มทุนและขาดทุนที่เกิดขึ้น ดังนั้นทางกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้หาวิธีแก้ปัญหา โดยใช้เวลาศึกษากว่า 1 ปีเพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงกลายเป็นการรวมสัญญาแบบบูรณาการ เพื่อลดความซ้ำซ้อน ประหยัด และสะดวกกับการบริหารจัดการ” นายธีระชน
นายธีระชน ได้ตอบคำถามของกรรมาธิการที่ถามว่าทำไมถึงต้องเร่งทำสัญญาในช่วงนี้ ว่า เพราะทางกทม. เล็งเหตุถึงความคุ้มค่าต่อการบริหารจัดการการเดินรถ รวมถึงการทำสัญญาเป็นระยะเวลา 30 ปีจะสร้างความคุ้มค่าการลงทุน และประหยัดภาษีของคนกรุงเทพ มากถึง 6,000 ล้านบาท และจะสามารถดูแลราคาค่าโดยสาร อยู่ที่เริ่มต้น 15 บาทได้ แต่หากรอเวลาให้สัญญาหมดอายุในอีกหลายปีข้างหน้า อาจทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการขาดช่วงการบริหารได้ ทั้งนี้การทำสัญญาระยะยาว 30 ปี จะทำให้เกิดความมั่นใจกับคู่สัญญา และจะส่งผลดีต่อการดูแลรักษาตัวรถไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงช่วงที่ต้องมอบทรัยพ์สินให้กับกทม. ภายหลังจากที่หมดสัญญาสัมปทาน
ทั้งนี้ กรรมาธิการได้นัดหมายกับกทม. ว่าในวันที่7 มิถุนายน จะเข้าไปดูงานการบริหารระบบรถไฟฟ้าของกทม. พร้อมขอลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการเดินรถในส่วนต่างๆ ที่กทม.รับผิดชอบ อีกทั้งจะขอรับทราบนโยบายต่อการเชื่อมต่อโครงข่ายเดินรถมวลชน เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส, รถบีอาร์ที ตามที่เคยได้ระบุว่าจะใช้ระบบการเดินทางแบบตั๋วร่วม
อีกด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.โดยมีนายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้รับเรื่อง เพื่อให้ตรวจสอบส่วนราชการกรุงเทพมหานคร,บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ในการใช้เงินงบประมาณในการทำสัญญาให้บริหารรถไฟฟ้า เพิ่มเติม ใน 8 ประเด็น

**โบ้ย!กทม.เคลียร์ปัญหาห้างยักษ์
นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรมช.มหาดไทย รับผิดชอบกรมที่ดิน พร้อมด้วยนายนพรัตน์ นพรัตน์ศิริ นักวิชาการที่ดินชำนาญการ สำนักจัดการที่ดินของรัฐ กรมที่ดิน แถลงยืนยันกรณีลงชื่ออนุมัติที่ดินพิพาทลำกระโดง จำนวน 1 ไร่ 1 งาน ซึ่งมีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค ทั้งนี้มีหมายศาลสั่งให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้าง เพราะรุกล้ำที่สาธารณะ ว่า ในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งรมช.มหาดไทยนั้นได้มีหนังสือแจ้งขออนุมัติใช้พื้นที่จากกรมที่ดินและสำนักกฎหมาย สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยจริง ซึ่งตนก็ได้อนุมัติไปจริง แต่ในเอกสารหลักฐานการขออนุญาตนั้นทางกทม. ไม่ได้มีการแนบหลักฐานคำพิพากษาขับไล่ให้ห้างฯ ออกจากพื้นที่มาด้วย ดังนั้นตนจึงไม่ทราบเรื่อง และขอยืนยันถึงความบริสุทธิ์ ทั้งนี้หากจะมีการสอบสวนผู้กระทำความผิดก็ควรจะต้องไปไล่หาข้อเท็จจริงกับข้าราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครในฐานะผู้เสนอเรื่อง
“เมื่อเช้านี้ตนได้เจอและชี้แจงกับนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่เป็นคนออกมาเปิดประเด็นแล้วเพื่อไม่ให้นักการเมืองถูกข้าราชการนำมาอ้างเป็นเครื่องมือ เพราะในข้อเท็จจริงนั้นนักการเมืองไม่สามารถไปล้วงลูกกับการทำงานของข้าราชการประจำได้”
ด้านนายประชา แถลงว่า แม้นายถาวรจะออกมาปฏิเสธว่าไม่ทราบคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ตนก็ยังสงสัยว่าการกระทำของนายถาวร ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. รองปลัดกทม. และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องขออนุญาตประกอบกิจการฯ อาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ เพราะอาจมีกระบวนการปกปิดอำพรางคำพิพากษา และตนจะยื่นเรื่องนี้ให้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กรมสอบสวนคดีพิเศษ และป.ป.ช.ตรวจสอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น