เคที โวย ดีเอสไอไม่รอเอกสาร แต่โร่ไปทำหนังสือถึงมหาดไทย ยันไม่ได้ขยายสัญญาสัมปทาน ขอทุกฝ่ายศึกษากฎหมายให้แน่ชัดก่อนตีโพย หวั่นสัญญาเป็นโมฆะ เตรียมชี้แจง กมธ.วุฒิ-กมธ.ป.ป.ช.
นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อสอบถามเรื่องอำนาจการอนุมัติสัมปทานรถไฟฟ้าให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ของ กทม.ว่า เป็นอำนาจของใคร รวมถึงประเด็นผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจกระทำการใดที่กระทบกระเทือนต่อสัมปทานหรือไม่ ว่า ตนเองไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดที่ดีเอสไอออกมาแถลงก่อนที่ กทม.จะนำเอกสารข้อมูลต่างๆ ไปยื่นให้แก่ดีเอสไอในวันที่ 23 พ.ค.นี้ เพื่อให้นำข้อมูลไปเปรียบเทียบกัน อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่า การลงนามในสัญญาจ้างบีทีเอสซีเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นเวลา 30 ปีนั้น ไม่ใช่เป็นการขยายระยะเวลาสัญญาสัมปทานเดิมที่ กทม.ได้ทำไว้ เมื่อปี 2535 แต่เป็นการจ้างให้เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งหลังจากหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของ กทม.
นายอมร กล่าวต่อว่า การให้สัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น เป็นไปตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 ม.ค.2513 ที่ระบุว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) อนุมัติสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าให้กับท้องถิ่น โดยมอบอำนาจการบริหารให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะการดำเนินการจ้างเดินรถไม่ใช่การขยายสัมปทาน จึงไม่ขัดกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ทรัพย์สินก็จะตกเป็นของกทม.ในฐานะคู่สัญญาตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งจะทำให้ กทม.กำหนดค่าโดยสารเองได้ อีกทั้งตนเองยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การทิ้งทวนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะหมดวาระ แต่เป็นแนวคิดที่มีการหารือของทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายข้าราชการ ไม่ได้เป็นคำสั่งของผู้ว่าฯ กทม.ให้ข้าราชการปฏิบัติตาม และก็ไม่ได้เป็นการตีกันนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล แต่ในทางกลับกันรัฐบาลสามารถทำได้มากขึ้นด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ เคทีจะเดินทางไปชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมกรรมาธิการวุฒิสภา และในวันที่ 24 พ.ค.นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.ก็จะไปชี้แจงต่อกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วย
“ถ้าภาคการเมือง หรือ ดีเอสไอ ใช้ความพยายามในการเรียนรู้หลักเกณฑ์ข้อเท็จจริงของการจ้างเดินรถในครั้งนี้ก็จะไม่มีปัญหา แต่เพราะมีความเข้าใจผิดในเรื่องข้อกฎหมาย จึงมีปัญหาดังกล่าว และเรื่องนี้คงไม่เลวร้ายที่สุดถึงขั้นทำให้การทำสัญญาเป็นโมฆะ เพราะเราเดินมาถูกต้องตามหลักการทางกฎหมายแน่นอน แต่ถ้ามีการทำให้สัญญาเป็นโมฆะด้วยกระบวนการอื่น ผมก็ตอบไม่ได้ แต่ยืนยันเป็นการทำสัญญาที่มีการศึกษาทุกขั้นตอนอย่างดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก” นายอมร กล่าว