xs
xsm
sm
md
lg

กทม.แจง กมธ.คมนาคมจ้างบีทีเอสซีเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายโปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ (แฟ้มภาพ)
กทม.แจง กมธ.คมนาคม ไม่ได้ขยายสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสให้บีทีเอสซี แต่เป็นการทำสัญญาจ้างในส่วนต่อขยายที่ กทม.ดูแลแบบบูรณาการ เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุน ลดความซ้ำซ้อน สะดวกในการบริหารจัดการ แถมประหยัด 1.2 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม วุฒิสภา วันนี้ (22 พ.ค.) ที่มีนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี เป็นประธานกรรมาธิการ ได้พิจารณากรณีที่กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ต่อสัปมทานเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) โดยมีตัวแทนหน่วยงาน เช่น นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม., นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม และ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท บีทีเอสซี เข้าชี้แจง

โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามในประเด็นที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการขยายเวลาสัมปทานการเดินรถของกรุงเทพมหานคร รวมถึงสอบถามถึงเหตุผลและความโปร่งใสต่อการทำสัญญาดังกล่าว โดยนายธีระชนชี้แจงย้ำว่า การทำสัญญา 30 ปีดังกล่าวไม่ใช่เป็นการขยายสัมปทานการเดินรถให้กับบริษัท บีทีเอสซี แต่เป็นการทำสัญญาจ้างอีกฉบับเพื่อให้บริษัท บีทีเอสซี เข้ามาดำเนินการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่ง กทม.เป็นผู้ดูแล ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีลม ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า ช่วงที่ 1 (สะพานตากสิน-แยกตากสิน) ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร, โครงการรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท ส่วนต่อขยายสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีลม ส่วนต่อขยายตากสิน-เพชรเกษม ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร โดยระยะเวลาทำสัญญาคือ 30 ปี โดยสัญญาจะสิ้นสุดประมาณปี 2585ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสสายหลักที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“กทม.ได้ใช้หลักคิดที่ว่าหากมีการแยกทำสัญญากับโครงการส่วนต่อขยาย จะเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท และเกิดความไม่คุ้มค่าการลงทุน อีกทั้งภาระทางการเงิน กว่า 1.2หมื่นล้านจะตกมาอยู่ที่ กทม. เพราะ กทม.ต้องนำเงินงบประมาณไปอุดหนุนในส่วนความไม่คุ้มทุนและขาดทุนที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทาง กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้หาวิธีแก้ปัญหา โดยใช้เวลาศึกษากว่า 1 ปีเพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงกลายเป็นการรวมสัญญาแบบบูรณาการ เพื่อลดความซ้ำซ้อน ประหยัด และสะดวกกับการบริหารจัดการ” นายธีระชนกล่าว

นายธีระชนได้ตอบคำถามของคณะกรรมาธิการที่ถามว่าทำไมถึงต้องเร่งทำสัญญาในช่วงนี้ว่า เพราะทาง กทม.เล็งเหตุถึงความคุ้มค่าต่อการบริหารจัดการการเดินรถ รวมถึงการทำสัญญาเป็นระยะเวลา 30 ปีจะสร้างความคุ้มค่าการลงทุน และประหยัดภาษีของคนกรุงเทพฯ มากถึง 6,000 ล้านบาท และจะสามารถดูแลราคาค่าโดยสารอยู่ที่เริ่มต้น 15 บาทได้ แต่หากรอเวลาให้สัญญาหมดอายุในอีกหลายปีข้างหน้าอาจทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการขาดช่วงการบริหารได้

ทั้งนี้ การทำสัญญาระยะยาว 30 ปีจะทำให้เกิดความมั่นใจกับคู่สัญญา และจะส่งผลดีต่อการดูแลรักษาตัวรถไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงช่วงที่ต้องมอบทรัยพ์สินให้กับ กทม.ภายหลังจากที่หมดสัญญาสัมปทาน

“ผมเข้าใจว่าประเด็นนี้ทำให้เกิดเป็นประเด็นทางการเมืองที่ต้องถกเถียงกัน ทั้งนี้ ผมยืนยันว่าการทำสัญญาดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นการปิดประตูตายที่ไม่ให้รัฐบาลเข้ามายึดการดำเนินงานส่วนดังกล่าว แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมต่อการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนของ กทม.ในอนาคต และเพื่อรับประกันว่าราคาค่าโดยสารเริ่มต้นจะไม่แพงกว่า 15 บาท ทั้งนี้ ตามกฎหมายของ กทม.ให้สิทธิผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามากำหนดราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมได้ ดังนั้นการทำสัญญาจึงเป็นผลดีเพื่อสร้างเสถียรภาพการบริการ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกรรมาธิการได้นัดหมายกับ กทม. ว่าในวันที่ 7 มิถุนายนจะเข้าไปดูงานการบริหารระบบรถไฟฟ้าของ กทม. พร้อมขอลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการเดินรถในส่วนต่างๆ ที่ กทม.รับผิดชอบ อีกทั้งจะขอรับทราบนโยบายต่อการเชื่อมต่อโครงข่ายเดินรถมวลชน เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส, รถบีอาร์ที ตามที่เคยได้ระบุว่าจะใช้ระบบการเดินทางแบบตั๋วร่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น