xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ท้าเพื่อไทยฟ้องต่อสัญญาบีทีเอส 30 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.ท้าเพื่อไทย ฟ้องระงับต่อสัญญาเดินรถบีทีเอส 30 ปี ลั่นทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ชี้ ต่อสัญญาช่วยอุดช่อง รบ.จ้องฉกรถไฟฟ้า แฉปีที่แล้ว คค.ขอซื้อบีทีเอสในราคาค่าโครงสร้าง เจอตอกกลับต้องจ่ายอย่างน้อย 1.1 แสนล้านบาท เพราะทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ไม่เป็นกังวลถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย เตรียมยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้ระงับการเซ็นสัญญาว่าจ้างการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กับบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ระยะเวลา 30 ปี วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท เพราะเกรงว่าไม่โปร่งใส

“หากมีช่องทางฟ้องได้ ก็ฟ้องได้เลย เพราะยืนยันว่า การดำเนินการของ กทม.ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง โดย กทม.ได้เซ็นสัญญาว่าจ้างเคที ซึ่งกฤษฎีกาตีความแล้วว่า ไม่ได้เป็นบริษัทเอกชน เพราะ กทม.ถือหุ้นอยู่กว่า 99% เพราะฉะนั้นถือเป็นรัฐวิสาหกิจของ กทม.ในการบริหารจัดการรถไฟฟ้าบีทีเอส ระยะเวลา 30 ปี เป็นเงิน 1,800 ล้านบาท” นายธีระชน กล่าว

ส่วนการจ้างเดินรถนั้น นายธีระชน ระบุว่า เป็นสัญญาระหว่างเคที กับ บีทีเอส 1.9 แสนล้านบาท ซึ่ง กทม.ได้ออกข้อบัญญัติ กทม.ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.รองรับทั้งหมด 6 ฉบับ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จริงๆ แล้วนั้น กทม.มีภาระงบประมาณผูกพันที่ต้องจ่ายเพียง 6,400 ล้านบาท ไม่ใช่ 1.9 แสนล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่ใช้สำหรับอุดหนุนให้ระบบการเดินรถสามารถเดินต่อไปได้ในช่วง 17 ปีแรกที่ยังอยู่ในช่วงสัมปทาน แต่หลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุด คือ ปี 2572 ทรัพย์สินก็จะเป็นของ กทม.รายได้ทั้งหมดจากการเดินรถก็เป็นของ กทม.ทั้งหมด ซึ่งคาดในระยะเวลา 13 ปี จะทำให้ กทม.มีรายได้ถึง 1.1 แสนล้านบาท

นายธีระชน กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการอุดช่องว่างไม่ให้รัฐบาลเข้ามาฮุบรถไฟฟ้าสายนี้ที่เป็นทรัพย์สินของ กทม. โดยผู้บริหาร กทม.มีสิทธิที่จะกำหนดค่าโดยสารเอง หากผู้ว่าฯ กทม.ในอนาคตมาจากพรรคเพื่อไทย ก็สามารถกำหนดค่าโดยสารได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจรัฐมาฮุบ ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม เคยทำหนังสือถึง กทม.เพื่อขอซื้อรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่หากรัฐบาลจะมาซื้อตอนนี้รัฐบาลจะจ่ายแค่ค่าโครงสร้างไม่ได้ เพราะทรัพย์สินได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นแล้ว ซึ่งจะต้องจ่ายอย่างน้อย 1.1 แสนล้านบาท หรืออาจจะถึง 5 แสนล้านบาท ให้กับ กทม. อย่างไรก็ตาม ตนจะนำเรื่องมูลค่าทรัพย์สินของรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้าที่ประชุมผู้บริหาร กทม.เพื่อให้เป็นบันทึกรายงานการประชุมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

“กทม.ใช้เวลาดำเนินการมา 3 ปี ออกข้อบัญญัติ 6 ฉบับ ซึ่งกฎหมายทุกฉบับออกจากสภา กทม.มี พ.ร.บ.รองรับ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วทั้งหมด ถ้าเขาจะฉกไปทำปู้ยี่ปู้ยำโดยเอาไปอุ้มระบบขนส่งอื่น กทม.ยอมไม่ได้เด็ดขาด แต่หากจะยึดก็ไม่ง่ายเพราะต้องจ่ายอย่างน้อย 1.1 แสนล้านบาท” นายธีระชน กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น