xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จ้างบีทีเอส 1.9 แสนล้าน เดินรถทุกโครงข่ายยาว 30 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.จ้างบีทีเอส 1.9 แสนล้าน บริหารการเดินรถทุกโครงข่ายยาว 30 ปี ชี้รายได้จะเข้ากทม. 1.1 แสนล้าน "ประภัสร์" ท้วงขอมหาดไทยหรือยัง

วันนี้( 3 พ.ค.) เวลา 17.00 น. ที่โรงแรมอิสตินแกรนด์ สาทร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ในวงเงิน 190,054.8 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี ในการบริหารการเดินรถส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง 5.3 กิโลเมตร 30 ปี ส่วนต่อขยายตากสิน-วงเวียนใหญ่ 2.2 กิโลเมตร 30 ปี โครงสร้างบีทีเอสตามสัญญาสัมปทานเดิม (หมอชิต-อ่อนุชและสนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน 23 กิโลเมตร) ที่จะสิ้นสุดในปี 2572 หลังจากนั้นเป็นการจ้างบริหารต่ออีก 13 ปี และ ส่วนต่อขยายจากวงเวียนใหญ่ - บางหว้า (เพชรเกษม) 5.25 กิโลเมตร 30 ปี

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้จะทำให้กทม.และประชาชนได้ประโยชน์ซึ่งตนเองขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการขยายสัมปทานให้กับบีทีเอสหากแต่เป็นการยืนยันว่ากทม.จะไม่ขยายสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอสซึ่งเมื่อสัญญาสัมปทานหมดในปี 2572 ซึ่งกทม.จะได้รายได้ 1.1 แสนล้านบาท หลังจากที่สัมปทานของเส้นทางเดิมสิ้นสุดที่ทรัพย์สินจะเป็นของกทม.และมีรายได้จากค่าโดยสารทั้งหมด ซึ่งจะมีผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอีกมาก เฉพาะเส้นทางที่ขยายไปบางหว้าจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 500,000 คนต่อวัน ในขณะที่บีทีเอสก็มีหลักประกันสัญญาระยะยาวที่จะไปลงทุนเกี่ยวกับระบบรถเพิ่มขึ้น โดยการลงนามจ้าง 30 ปีในวงเงิน 1.9 แสนล้านบาทไม่สูง เพราะหากเปิดประกวดราคาให้มีการยื่นข้อเสนอบริหารเดินรถใหม่ เชื่อว่าข้อเสนอของบริษัทฯต่างที่จะเสนอในอีก 17 ปีหลังจากนี้จะต้องเป็นราคาที่สูงกว่าที่ตกลงว่าจ้างบีทีเอสแน่นอน เพราะผู้เดินรถรายใหม่ต้องมีการลงทุนมากกว่าบีทีเอสแน่นอน และการลงนามครั้งนี้กทม.เป็นผู้กำหนดอัตราค่าโดยสารซึ่งแน่นอนว่าผู้ว่าฯกทม.มาจากการเลือกตั้ง คงไม่ยอมให้มีการเก็บค่าโดยสารแพงแน่นอน และตนไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่บอกว่าเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสายซึ่งไม่ใช่การสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะรัฐจะต้องใช้เงินเข้าไปอุดหนุนอีกมหาศาล ซึ่งก็จะกลายเป็นเจ๊งกันไปหมดเหมือนที่กรุงลอนดอน อังกฤษที่รัฐอัดเงินเข้าไปเพื่อทำให้ค่าโดยสารถูกก็เจ๊ง แต่การดำเนินการของกทม.จะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ซึ่งเรื่องนี้ได้ใช้เวลาพิจารณานานมาก และเป็นข้อสรุปร่วมกันว่าแนวทางนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ด้านนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การดำเนินการของกทม.เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการบริหารทรัพย์สินของกทม. ไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย กทม.ออกข้อบัญญัติรองรับเรื่องนี้ 4 ฉบับ หากจะไปรออนาคตอีก 17 ปีค่อยมีการเจรจาหรือเปิดประกวดราคา ค่าบริหารจัดการจะต้องสูงกว่าตอนนี้แน่นอน เพราะเอกชนต้องคิดต้นทุนในการบริหารจากค่าเสื่อมราคาต่าง ๆ แนวทางนี้นอกจากจะป้องกันทรัพย์สินกทม.แล้ว ยังทำให้เกิดรายได้กลับมาที่กทม.ด้วย ถ้ารัฐบาลและนักกฎหมายเปิดใจให้กว้างรูปแบบนี้จะเป็นตัวอย่างการบริหารระบบการเดินรถที่เกิดประโยชน์ที่สุด และหากรัฐบาลจะยึดไปบริหาร ก็ต้องมีการตกลงจ่ายค่าทรัพย์สินกับกทม.ในราคาที่เป็นธรรมด้วย
 
ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า จากที่มีข้อวิพากษ์ถึงค่าโดยสารส่วนต่อขยายอ่อนนุช - แบริ่ง ซึ่งกทม.จัดเก็บ 15 บาทตลอดสาย แต่เมื่อรวมกับค่าโดยสารของบีทีเอสแล้วหากนั่งสุดสายและจ่ายอีก 15 บาทเพื่อเข้าระบบของกทม.ก็จะเสียแพงมาก ว่า เรายืนยันว่ากทม.ไม่ได้จัดเก็บค่าโดยสารแพงกทม.รถไฟฟ้าใต้ดินของรฟม. แต่ค่าโดยสารของบีทีเอสกทม.ไม่ได้สามารถคุมได้เพราะเป็นการให้สัมปทานแต่เมื่อใดที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกทม.ก็จะสามารถบริการจัดการค่าโดยสารได้  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่ารายได้ในส่วนต่อขยายของกทม.ติดลบเนืื่องจากต้องการให้ราคาค่าโดยสารถูก
กำลังโหลดความคิดเห็น