xs
xsm
sm
md
lg

พท.ยื่น ป.ป.ช.ฟัน “สุขุมพันธุ์” กทม.-กรุงเทพธนาคม ต่อสัญญารถไฟฟ้าเลี่ยง กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จิรายุ” นำทีมยื่น ป.ป.ช.ฟ้อง กทม.-กรุงเทพธนาคม ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หลังต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าอีก 13 ปี รวม 2 แสนล้าน อ้างจงใจเลี่ยงกฎหมาย ทำสาธารณชนเสียประโยชน์


วันนี้ (15 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ร้องต่อ ป.ป.ช. พร้อมด้วยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้เอาผิดผู้บริหาร กทม. และบริษัทลูกของ กทม. กรุงเทพธนาคม ในฐานะเป็นข้าราชการอาจมีส่วนรู้เห็นให้ดำเนินการลงนามสัญญาให้บริการรถไฟฟ้าไปอีก 13 ปี มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ระหว่าง บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด อันเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครเป็นผู้ลงนามในสัญญาแทน อันเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมาย ถึง 4 ฉบับ อันอาจส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะของประชาชน โดยร้องทุกข์กล่าวโทษให้เอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการ และพวก 3. นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และพวก 4. นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และพวก ซึ่งเป็นกรรมการในบริษัทที่กรุงเทพมหานคร ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบ โดยขอให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดบุคคลดังกล่าวใน (3, 4) ข้างต้น ในฐานะเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และ (1, 2) ผู้ว่าราชการ และรองผู้ว่าราชการในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และกระทำการจงใจและหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

นายจิรายุกล่าวว่า คณะกรรมการติดตามกรณีดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย ได้เห็นสิ่งผิดปรกติหลายประเด็น อันเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายหลายฉบับ ในข้อสังเกตดังนี้กรณีดังกล่าวนี้ มีลักษณะของการกระทำที่มีการแบ่งแยกหน้าที่ กันกระทำ ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง และผู้เกี่ยวข้องอื่น ร่วมกับ นายประพันธ์พงศ์ เวชาชาชีวะ ประธานกรรมการ นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานของรัฐ) และกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีการกระทำเป็นลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. เริ่มต้นจากการทำสัญญาจ้างบริหารจัดการเดินรถโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายสีลม (2.2 กิโลเมตร) ระหว่างส่วนราชการกรุงเทพมหานคร กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2552 จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 หรือภายในวงเงิน 850,582,539.52 บาท ซึ่งแล้วแต่อย่างใดจะถึงกำหนดก่อน เพื่อให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด สามารถไปทำสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ในฐานะ ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ ค่าจ้าง 450 ล้านบาท สัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จนกว่าสัญญาฉบับนี้หรือสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง หรือมีการยกเลิกสัญญาฉบับนี้หรือสัญญาสัมปทาน การที่มีสัญญาฉบับนี้มีข้อตกลงว่าจะมีผลใช้บังคับจนกว่าสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง หรือมีการยกเลิกสัญญาสัมปทาน ทำให้สัญญาฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสัมปทานทันที เนื่องจากสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นกรณีการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐเกินกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว และจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ แต่ก็มีการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนมาตั้งแต่แรกแล้ว

2. โดยก่อนที่ส่วนราชการกรุงเทพมหานครจะทำสัญญาดังกล่าวกับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครในเรื่องเกี่ยวกับการให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามารถจ้างบริษัทของกรุงเทพมหานครได้โดยวิธีกรณีพิเศษ เพื่อให้ส่วนราชการกรุงเทพมหานครสามารถทำสัญญากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดได้ โดยไม่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ

3. หลังจากที่ส่วนราชการกรุงเทพมหานครได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวแล้ว ส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมอีก เพื่อให้ส่วนราชการกรุงเทพมหานครและหรือบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานของรัฐ สามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้อีกหลายฉบับ

4. นอกเหนือจากการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานครที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในขณะเดียวกันบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบว่าด้วยการพัสดุของบริษัทเอง ซึ่งเชื่อว่าเป็นการเพิ่มระเบียบใหม่ เพื่อเอื้อต่อการทำสัญญากับบีทีเอสซี ทั้งนี้ การแก้ไขระเบียบในข้อ 8 (4) วิธีพิเศษ การจัดหาพัสดุ หรือการจ้างโดยวิธีพิเศษนั้น ได้เพิ่มข้อ ช. ที่ระบุว่า เป็นพัสดุที่ต้องจัดหาโดยเร่งด่วน เนื่องจากหากจัดหาโดยวิธีอื่นจะเกิดความเสียหายกับบริษัท และข้อ ฌ. ที่ระบุว่าเป็นงานที่กระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าจะเกิดความเสียหายแก่บริษัท โดยระเบียบดังกล่าวนั้นมีการแก้ไขในวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 “การแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวจะทำให้บริษัทสามารถใช้อำนาจตรงในการทำสัญญาโดยวิธีพิเศษโดยไม่จำกัดวงเงินและเป็นอำนาจของกรรมการผู้อำนวยการเป็นผู้กำหนดการจัดการพัสดุหรือการว่าจ้างอย่างเต็มที่ว่าจะดำเนินการโดยวิธีการใด”

5. ภายหลังจากใช้เวลาประมาณ 2 ปีเศษ เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคม 2552 จนถึงวันที่ 4พฤษภาคม 2555 ส่วนราชการกรุงเทพมหานครได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบว่าด้วยการพัสดุ แล้วเสร็จ ส่วนราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้อนุมัติ/เห็นชอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ทำการนำสัญญาต่างๆของการให้บริการเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 23 กิโลเมตร เส้นทางสายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร เส้นทางส่วนต่อสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร รวม 3 เส้นทาง ทำการต่ออายุสัญญาว่าจ้างเดินรถ 3 เส้นทางพร้อมกันให้มีระยะเวลานานถึง 30 ปี และจะสิ้นสุดสัญญาพร้อมกัน ในปี 2585 โดยไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อ บีทีเอสซี แล้ว การกระทำดังกล่าวโดยการแบ่งแยกหน้าที่กันทำโดการวางแผนอย่างเป็นระบบอาจมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุน การร่วมกันกระทำดังกล่าวของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง กับนายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการ นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดและกรรมการบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยที่ลักษณะการดำเนินการดังกล่าว เป็นการนำสัญญาจ้าง 2 สัญญา (สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อสายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ โดยสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จนกว่าสัญญาฉบับนี้หรือสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง หรือมีการยกเลิกสัญญาฉบับนี้หรือสัญญาสัมปทาน) มารวมกับสัญญาสัมปทานหลักหรือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสัมปทานหลักซึ่งมีการลงทุนเกินกว่า1,000 ล้านบาท ทำให้เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) เพราะการนำสัญญาจ้าง 2 สัญญามารวมกับสัญญาสัมปทานหลัก หรือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสัมปทานหลัก ถือว่ามีการดำเนินการเพิ่มเติมในโครงการที่มีสินทรัพย์อยู่แล้วเกินกว่า 1,000 ล้านบาท จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 8 คือให้กระทรวงเจ้าสังกัดของหน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณาเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการต่อส่วนราชการ ดังนี้ (2) โครงการที่มีทรัพย์สินอยู่แล้ว ให้เสนอต่อกระทรวงการคลังพิจารณา

นอกจากนี้ เฉพาะการต่ออายุสัญญาสัมปทานที่ทำขึ้นระหว่างส่วนราชการกรุงเทพมหานครและบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการสำหรับการก่อสร้าง เดินรถ และโอนสิทธิ โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 9เมษายน 2535 ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี นับแต่วันเริ่มเดินรถเชิงพาณิชย์ สัญญาครบกำหนดในวันที่ 8 เมษายน 2572 ซึ่งเป็นสัญญาที่มีการลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาทที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนอยู่แล้ว เมื่อมีการต่ออายุสัญญาออกไปอีก 13 ปี สิ้นสุดในปี 2585 ซึ่งถือว่ามีการดำเนินการโครงการที่มีสินทรัพย์อยู่แล้วเกินกว่า 1,000 ล้านบาท จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 8 พ.ร.บ.ร่วมทุน คือ ให้กระทรวงเจ้าสังกัดของหน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณาเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการต่อส่วนราชการ ดังนี้ (2) โครงการที่มีทรัพย์สินอยู่แล้ว ให้เสนอต่อกระทรวงการคลังพิจารณา

2. เอื้อประโยชน์เอกชนรายเดียว การร่วมกันกระทำดังกล่าวของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง กับนายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการ นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และกรรมการบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียวคือ บีทีเอสซี ทำสัญญาผูกพันเป็นระยะเวลานานถึง 30 ปี โดยไม่มีจัดซื้อจัดจ้างใหม่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ถือว่าเป็นการปิดโอกาสเอกชนรายอื่น ซึ่งทำให้กรุงเทพมหานครเสียโอกาสที่จะได้ระบบเทคโนโลยีที่ดีกว่าและประชาชนที่ใช้บริการอาจจะได้ราคาที่ถูกกว่าได้ ทางกรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะทราบได้อย่างไรว่าระบบเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบันดีที่สุดและมีราคาที่ถูกกว่าได้ เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีเพียงไม่กี่บริษัทที่สามารถบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าได้ (เช่น บริษัท รถไฟฟ้า จำกัด) แต่หากเปิดโอกาสให้บริษัทต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญร่วมกับบริษัทในประเทศไทยเข้าทำการร่วมประมูลงานบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าดังกล่าว ทางกรุงเทพมหานครและประชาชนอาจจะได้ระบบเทคโนโลยีที่ดีกว่าและราคาที่ถูกกว่าได้ และในการประมูลงานนั้น บีทีเอสซี ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าเดิมอยู่แล้วจะไม่เสียเปรียบในการเปิดประมูลใหม่แต่อย่างใดแต่กลับจะมีข้อได้เปรียบกว่าบริษัทอื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการจัดซื้อจัดจ้างอยู่แล้ว

3.หลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว)กรณีที่กรุงเทพมหานครจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครและถือว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ เพื่อเปิดช่องให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไปจ้างเอกชนรายอื่นได้อีก ทั้งๆที่หากให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร คือ สำนักจราจรและขนส่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการทั่วไป เปิดโอกาสให้เอกชนแต่ละรายเข้าทำการเสนอราคาแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ตามข้อบัญญัติกรุงเมพมหานครว่าด้วยการพัสดุและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุการกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ป้องกันให้มีการแข่งขันกันเสนอราคาเพื่อประโยชน์สูงสุดให้แก่หน่วยงานของรัฐอย่างแท้จริงและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

4. ข้อสังเกตอื่นๆ 4.1 กรณีการทำสัญญาจ้างบริหารจัดการเดินรถโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายสีลม (2.2 กิโลเมตร) ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2552 จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 หรือภายในวงเงิน 850,582,539.52 บาท ซึ่งแล้วแต่อย่างใดจะถึงกำหนดก่อน และสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ลงวันที่ 12พฤษภาคม 2552 ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ ค่าจ้าง 450 ล้านบาท จะทำให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีรายได้จากส่วนต่างของสัญญาทั้งสองสัญญาเป็นเงินประมาณ 400 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 3 ปี เฉลี่ยเป็นเงินปีละประมาณ 130 ล้านบาท แต่จากการแถลงข่าวของนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การทำสัญญาทำสัญญาแรก ค่าจ้างส่วนต่างได้ 400 ล้านบาท 3 ปี เฉลี่ยปีละ 130 ล้านบาท ต่อมาได้มีการจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นเวลา30 ปีๆ ละ 60 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,800 ล้านบาท ซึ่งจำนวนค่าจ้างตามสัญญาแรกเฉลี่ยปีละ 130 ล้านบาทสูงกว่าสัญญาฉบับใหม่คือปีละ 60 ล้านบาทเป็นเงินจำนวนมาก มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

4.2 การที่มีข้อตกลงว่าสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เลขที่ กธ.ส.002/2552 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม2552 ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ สัญญาฉบับนี้จะสิ้นสุดลงภายในระยะเวลา 28 เดือนหลังจากวันเริ่มเดินรถเชิงพาณิชย์ ค่าจ้างในช่วงระยะเวลา 28 เดือน เป็นเงิน 450 ล้านบาทโดยคำนวณจากสมมติฐานกำหนดระยะเวลาการจ้าง 21 ปี และสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จนกว่าสัญญาฉบับนี้หรือสัญญาสัมปทาน (ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2535) จะสิ้นสุดลง หรือมีการยกเลิกสัญญาฉบับนี้หรือสัญญาสัมปทาน (ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2535) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันกับสัญญาสัมปทานดังกล่าว ทำให้สัญญาฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสัมปทาน และค่าจ้างในช่วงระยะเวลา 28 เดือน เป็นเงิน 450 ล้านบาท โดยคำนวณจากสมมติฐานกำหนดระยะเวลาการจ้าง 21 ปี ดังนั้น ถ้ามีการจ้างกำหนดระยะเวลา 21 ปี ค่าจ้างต้องเกิน 1,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน ซึ่งถ้ามีการจ้างระยะเวลา 21ปีตามเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาแล้วย่อมต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐฯ ด้วย ดังนั้น การทำสัญญานี้ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐฯ แล้ว รวมทั้งปัญหาการตีความกฎหมายว่าเป็นการทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เพราะเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาต้องการทำสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา 21 ปีไม่ใช่ระยะเวลา 28 เดือน เพราะหากเป็นนิติกรรมอำพรางแล้ว สัญญาดังกล่าวจะต้องถูกใช้บังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางคือการจ้างระยะเวลา 21 ปีทันที และต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ทำการต่ออายุสัญญาดังกล่าวตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 4…ของสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เลขที่ กธ.ส.002/2552 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2552

4.3 นอกจากนี้ เหตุใดกรุงเทพมหานครจึงต้องให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ด้วย เพราะถ้ากรุงเทพมหานครจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีโดยตรงเองแล้ว จะต้องมีค่าจ้างน้อยกว่าที่ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จ้างแทนอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายน้อยลง ประหยัดงบประมาณของกรุงเทพมหานคร และอาจจะมีส่วนทำให้ค่าโดยสารถูกลงด้วย 4.4 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดเป็นบริษัทซึ่งมีทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐ จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 เมื่อประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จึงเป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าว (สิ่งที่ส่งมาด้วย 3) ปัจจุบันมีนายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานกรรมการ และ นายอมร กิจเชวงกุล เป็นกรรมการผู้อำนวยการมานานถึง 12 ปี (ตุลาคม 2543 ถึง พฤษภาคม 2555) แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น