xs
xsm
sm
md
lg

กทม.นอนยันสัญญาบีทีเอสไม่ขัดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กทม.จับมือเคทีแถลงย้ำชัดไม่เอื้อบีทีเอสซี ประชาชนได้ประโยชน์เต็มๆ ชี้ไม่ต้องแจ้งรมว.มหาดไทยเพราะไม่ได้ต่อสัญญาสัมปทาน “ยุทธพงศ์ ” แฉ กทม.เสียค่าโง่อีก 6.4 พันล้านบาท

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วยนายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ร่วมแถลงข่าวกรณีที่กทม.มอบให้เคทีลงนามต่อสัญญาจ้างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เดินรถไฟฟ้าระยะเวลา 30 ปี โดยนายธีระชน กล่าวว่า การจ้างบีทีเอสซีเดินรถไฟฟ้า 30 ปี เป็นการยืนยันว่ากทม.จะไม่ต่อสัญญาสัมปทานกับบีทีเอสซี และการที่กทม.จ้างเคทีก็สามารถทำได้เพราะมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครรองรับ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความแล้วว่า กทม.มีอำนาจตัดสินใจในการว่าจ้างบริษัทเอกชนมาดูแลทรัพย์สิน โดยการต่อสัญญาในครั้งนี้ได้มีการศึกษารวมถึงผ่านความเห็นชอบจากสภากทม. ดังนั้นการต่อสัญญาครั้งนี้เพื่อที่ให้กทม.มีอำนาจในการควบคุมดูแลระบบรถไฟฟ้า รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนที่ใช้บริการในระยะยาว

"การจ้างเดินรถครั้งนี้เป็นไปตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ มาตรา 89 (8) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะของเราจึงไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเว้นแต่บีทีเอสซีประสงค์จะต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งต้องแจ้ง กทม.ล่วงหน้า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด " นายธีระชน กล่าว

นายธีระชน กล่าวต่อว่า ตนได้มอบหมายให้ทางสำนักกฎหมายและคดีทำหนังสือกฎหมายปกขาว ชี้แจงรายละเอียดของโครงการระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด มอบให้สภาผู้แทนราษฎร สภากรุงเทพมหานครและสื่อมวลชนได้ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง และ กทม.พร้อมที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้ ตนเตรียมที่จะขอเข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อชี้แจงในประเด็นต่างๆให้เข้าใจ

ด้านนายอมร กล่าวว่า สำหรับค่าจ้างบีทีเอสซีเดินรถไฟฟ้า 1.9 แสนล้านบาทในระยะเวลา 30 ปี ไม่ได้ตั้งขึ้นโดยพลการ เคทีได้เชิญสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียมาประเมินค่าใช้จ่ายทั้งหมด และได้มีการเจรจาอย่างถึงที่สุดแล้ว ซึ่งถูกกว่าประมาณ 1,800 ล้านบาท และในเงินจำนวนนี้บีทีเอสซียังต้องนำไปเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีกในเวลา 30 ปี ทั้งนี้ ยืนยันว่ากทม.มีอำนาจต่อรองสูงกว่าอีก 17 ปีที่รอให้หมดสัญญาสัมปทาน เพราะบีทีเอสซีมีความต้องการที่จะเดินรถอยู่แล้ว แต่ในอนาคตบีทีเอสซีอาจเดินรถในเส้นทางที่ยาวกว่าในปัจจุบัน และค่าจ้างอาจสูงกว่าตอนนี้หรืออาจคิดว่าไม่มีความจำเป็นมาเดินรถให้กทม.ในระยะทางสั้นๆ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต จึงต้องต่อสัญญา

**เพื่อไทยปูดเสียค่าโง่ 6 พันล.

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีดังกล่าวว่า การต่อสัญญาดังกล่าว นอกจากทำให้บีทีเอสได้เดินรถในลักษณะผูกขาดแล้ว ยังทำให้กทม.ต้องเสียค่าโง่อีก 6,472 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าชดเชยให้บีทีเอสที่ต้องสูญเสียรายได้ในเส้นทางที่เป็นส่วนต่อขยายการเดินรถที่ผู้ได้รับสัมปทานมักจะขาดทุน และไม่ได้ใช้งบประมาณรายจ่ายปกติของกทม.ปี 2555 แต่เป็นการตั้งข้อบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติมมาจ่ายค่าชดเชยให้บีทีเอส ซึ่งการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวมาจากเงินคงคลังของกทม. ที่อาจเข้าข่ายผิดระเบียบได้ เพราะต้องใช้ในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน เช่น เกิดภัยพิบัติ หรือน้ำท่วมเท่านั้น ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในกรณีนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น