xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ย้ำไม่ต่อสัมปทานบีทีเอสซี แต่ว่าจ้าง 30 ปีแทน ปชช.ได้ประโยชน์แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม.ไม่ปล่อยมือเคที เดินหน้าต่อสัญญาบีทีเอส 30 ปี ไม่ต้องแจ้ง มท.1 ย้ำชัดไม่เอื้อบีทีเอสซีแน่ และ ปชช.จะได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะไม่ต่อสัมปทาน ขณะที่ กทม.เองจะประหยัดงบถึง 6,000 ล้านบาท "ธีระชน" เผยเตรียมทำสมุดปกขาวชี้แจงต่อทุกฝ่ายแน่ วอน ปชช.มั่นใจการกระทำของ กทม.

วันนี้ (14 พ.ค.) 10.15 น. ที่ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ร่วมแถลงข่าวกรณีที่ กทม.มอบให้เคทีลงนามต่อสัญญาจ้างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เดินรถไฟฟ้าระยะเวลา 30 ปี และถูกมองว่าเป็นประเด็นทางการเมือง ทั้งนี้ มีนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ อัยการที่ปรึกษาพิเศษ ผู้บริหารและผู้แทนจากสำนักงานกฎหมายและคดี กทม.ร่วมแถลงข่าว

นายธีระชน กล่าวว่า การจ้างบีทีเอสซีเดินรถไฟฟ้า 30 ปี เป็นการยืนยันว่า กทม.จะไม่ต่อสัญญาสัมปทานกับบีทีเอสซี เนื่องจากหากให้มีการต่อสัญญาสัมปทาน บีทีเอสซีจะได้สัมปทานทันทีโดยไม่มีคู่แข่ง ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญา (First right refusal) และในระยะยาวหากบีทีเอสซีได้บริหาร กทม.จะไม่มีอำนาจในการควบคุมอัตราค่าโดยสาร และการที่กทม.จ้างเคทีก็สามารถทำได้เพราะมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครรองรับ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความแล้วว่า กทม.มีอำนาจตัดสินใจในการว่าจ้างบริษัทเอกชนมาดูแลทรัพย์สิน โดยการต่อสัญญาในครั้งนี้ได้มีการศึกษารวมถึงผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร ดังนั้นการต่อสัญญาครั้งนี้เพื่อที่ให้กทม.มีอำนาจในการควบคุมดูแลระบบรถไฟฟ้า รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนที่ใช้บริการในระยะยาว

"การจ้างเดินรถครั้งนี้ไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะการจ้างเป็นไปตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ มาตรา 89 (8) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะของเราจึงไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเว้นแต่บีทีเอสซีประสงค์จะต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งต้องแจ้ง กทม.ล่วงหน้า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด ซึ่งกรณีนี้ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานข้อ 27 ซึ่งไม่เกิดขึ้นแน่ เพราะผู้ว่าฯ กทม.ไม่ต่อสัญญาสัมปทาน" นายธีระชน กล่าว

นายธีระชน กล่าวต่อว่า ตนได้มอบหมายให้ทางสำนักกฎหมายและคดีทำหนังสือกฎหมายปกขาว ชี้แจงรายละเอียดของโครงการระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด มอบให้สภาผู้แทนราษฎร สภากรุงเทพมหานครและสื่อมวลชนได้ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง และ กทม.พร้อมที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้ ตนเตรียมที่จะขอเข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาเพื่อชี้แจงในประเด็นต่างๆให้เข้าใจ

"ประเด็นนี้ถูกนำมาหยิบยกเป็นประเด็นทางการเมืองก็ดูไม่ค่อยจะสบายใจ ทั้งเรื่องนามสกุล ถามว่ารองผู้ว่าฯกทม. ทยา ทีปสุวรรณ คลานตามท่านพิมล ศรีวิกรณ์ บ้านเลขที่ 111 ถ้าคิดอย่างนีท่านรองผู้ว่าฯทยา ก็คงไม่ได้เป็นรองผู้ว่าฯหรอกครับ ดังนั้นอยากให้ประชาชนเข้าใจในประเด็นทั้งหมดว่าเราทำเพื่อบนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน" นายธีระชน กล่าว

ด้านนายอมร กล่าวว่า สำหรับค่าจ้างบีทีเอสซีเดินรถไฟฟ้า 1.9 แสนล้านบาทในระยะเวลา 30 ปี ไม่ได้ตั้งขึ้นโดยพลการ เคทีได้เชิญสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ( Asian Development Bank : ADB) มาประเมินค่าใช้จ่ายทั้งหมด และได้มีการเจรจาอย่างถึงที่สุดแล้ว ซึ่งถูกกว่าหลักสากลทั่วโลกประมาณ 1,800 ล้านบาท และในเงินจำนวนนี้บีทีเอสซียังต้องนำไปเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีกมากมายในตลอดระยะเวลา 30 ปี อาทิ ค่าบริหารจัดการเดินรถ ค่าจ้างพนักงาน ค่าบำรุงรักษาสินทรัพย์หรือระบบไม่ให้เสื่อมสภาพ ค่าจ้างบริษัทกลางดูแลการจัดเก็บค่าโดยสาร เป็นต้น

นายอมร กล่าวต่อว่า การต่อสัญญาในตอนนี้ กทม.มีอำนาจต่อรองสูงกว่าอีก 17 ปีที่รอให้หมดสัญญาสัมปทาน เพราะบีทีเอสซีมีความต้องการที่จะเดินรถอยู่แล้ว แต่ในอนาคตบีทีเอสซีอาจเดินรถในเส้นทางที่ยาวกว่าในปัจจุบัน เขาจะต่อรองค่าจ้างที่อาจสูงกว่าตอนนี้หรืออาจคิดว่าไม่มีความจำเป็นมาเดินรถให้กทม.ในระยะทางสั้นๆ ก็ได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในอนาคต จึงต้องต่อสัญญาตั้งแต่ตอนนี้ที่ยังมีเวลาเจรจา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรอหมดสัญญาสัมปทานในอีก 17 ปี อาจได้ผู้รับจ้างเดินรถที่ถูกกว่าบีทีเอส นายอมร กล่าวว่า ในปี 2543 เคทีเคยร่างข้อกำหนดคุณสมบัติการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) เพื่อหาผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่มีเอกชนสนใจ เพราะติดปัญหาการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) เพราะต้องหาพื้นที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ที่ต้องเวนคืนพื้นที่ ซึ่งศูนย์ซ่อมบำรุงเป็นของบีทีเอสซีที่เช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์ เช่นเดียวกันเมื่อหมดสัญญาสัมปทาน สิ่งที่จะตกเป็นของกทม.คือโครงสร้างที่เป็นเสา สถานี ทางเดินรถ ส่วนศูนย์ซ่อมฯ ต้องสร้างขึ้นเอง การจ้างบีทีเอสซี จึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการสร้างใหม่และทำให้การเดินรถไม่สะดุด เพราะไม่ต้องหาพื้นที่สร้างศูนย์ซ่อมฯ

"สัญญา 30 ปี เป็นการทำให้รถไฟฟ้ามีสภาพพร้อมใช้งานไปตลอด เพื่อความปลอดภัยในระบบ เพราะการหาผู้รับจ้างใหม่ในอนาคต อาจเกิดความเสี่ยง ไม่มีความพร้อม และมีการประเมินจากสถาบันที่ปรึกษาแล้วว่าการจ้างในระยะเวลา 30 ปีถูกกว่าสัญญาจ้าง 17 ปี ถึง 6,000 กว่าล้าน ดังนั้นจึงต้องเป็นบีทีเอสซีเพราะไม่ต้องจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน ค่าก่อสร้าง Depot และการเชื่อมระบบอาณัติสัญญาณ" นายอมร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น