กทม.ล้อมคอกเตรียมออกข้อบัญญัติใหม่ให้ทุกอาคารที่สร้างก่อนปี 2535 ติดตั้งสปริงเกอร์สำหรับอาคาร 5 ชั้นขึ้นไป เผยพื้นที่เสี่ยงอาคารไร้สปริงเกอร์ส่วนใหญ่อยู่ใจกลางเมืองเยาวราช-สีลม
วันนี้ (5 มี.ค.) เวลา 13.30 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้อาคารฟิโก้เพลส อโศก เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า วันนี้ กทม.และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วศท.) ได้ร่วมเข้าตรวจสอบอาคารดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าตัวโครงสร้างของอาคารไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ยังไม่สามารถใช้อาคารได้เนื่องจากมีน้ำจากการดับเพลิงเจิ่งนองอยู่ทั่วอาคาร และมีเขม่าควันตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นบนสุด และขณะนี้ได้มีคำสั่งห้ามเข้า ห้ามใช้อาคารมาติดไว้โดยรอบอาคาร โดยออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปภายในอาคารเด็ดขาด เนื่องจากต้องให้เจ้าหน้าที่การโยธา และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจสอบให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวขออนุญาตก่อสร้างตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งยังอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฉบับเก่าอยู่ คือไม่ได้ติดตั้งระบบสปริงเกอร์ ทำให้เพลิงได้ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง อย่างไรก็ตาม กทม. จะขอความร่วมมือจากเจ้าของอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนมีพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 ให้มีการติดตั้งระบบสปริงเกอร์ในอาคารตั้งแต่ 5 ชั้นขึ้นไป เนื่องจากอาคารใหม่ที่มีการติดตั้งปริงเกอร์ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้มักจะควบคุมได้ ไม่ลุกลามข้ามชั้น โดยหากเจ้าของอาคารรายใดต้องการติดตั้ง กทม.ก็จะเร่งรัดอนุญาตให้มีการดำเนินการทันที นอกจากนั้น ได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำนักการโยธา (สนย.) และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ลงพื้นที่สำรวจอาคารขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างก่อนปี 2535 ซึ่งคาดว่าทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีกว่า 1,000 อาคาร โดยจะรวบรวมแบบ Digitize เข้าระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยในการเผชิญเหตุหากเกิดเพลิงไหม้ในอนาคต และสนับสนุนให้เอกชนเข้าตรวจอาคารเพื่อออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร (แบบ ร.1) ด้วย
นายธีระชนกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กทม.จะเสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร เพื่อออกข้อบัญญัติบังคับใช้ให้อาคารสูงทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 ทุกอาคาร เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการออกข้อบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งจะจัดหากองทุนด้านความปลอดภัยสนับสนุนโดยใช้เบี้ยป้องกันอัคคีภัยที่ลดลงมาผ่อนชำระหรือให้บริษัทประกันอัคคีภัยปล่อยสินเชื่อ
“คงต้องรอนสิทธิเจ้าของอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2535 บางส่วน ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของท่านและประชาชนที่อาศัยอยู่รอบอาคาร โดยอาคารส่วนใหญ่ที่ไม่มีสปริงเกอร์จะอยู่ย่านใจกลาง กทม.เช่น ที่เยาวราช สีลม” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว