xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ส่อผิดต่อสัญญาBTS “ธาริต”ทันใจ!ร่อนหนังสือถาม มท.1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(21 พ.ค..55)นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงความคืบการตรวจสอบกรณีที่พรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องกรณีกรุงเทพมหานคร ลงนามต่อสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส และบริษัท กรุงเทพ ธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครว่า ดีเอสไอตรวจสอบเอกสารย้อนหลังพบว่า โครงการรถไฟฟ้าจัดทำขึ้นตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ. 2535 ให้อำนาจรมว.มหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้าธนายงซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล แต่พล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เห็นว่า โครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้าน เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จึงนำเรื่องเข้าพิจารณาในครม. เพื่ออนุมัติลงนามในสัญญาและตั้งให้ผู้ว่ากทม.เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับดูแลกิจการรถไฟฟ้าตั้งแต่นั้นมา รวมถึงการจัดตั้งบริษัทกรุงเทพธนาคมขึ้นบริหารจัดการ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นในข้อกฎหมายว่า เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทนเพียงครั้งเดียวหรือไม่ เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทน
ล่าสุดดีเอสไอได้ส่งหนังสือถึงรมว.มหาดไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ บีทีเอส และบริษัทกรุงเทพธนาคมฯ เพื่อสอบถาม 4 ประเด็น ได้แก่ 1. อำนาจในการอนุมัติให้สัมปทานกับบีทีเอส เป็นอำนาจของรมว.มหาดไทยแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ 2. การแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นมีขอบเขตอำนาจอย่างไร 3. ผู้ว่ากทม.สามารถลงนามในสัญญาใหม่ หรือแก้ไขสัญญา หรือขยายอายุสัมปทานเองโดยไม่ขออนุมัติจากรมว.มหาดไทยเป็นการกระทำโดยชอบหรือไม่ และ 4. การขยายอายุสัญญาสัมปทานโดยกระทำในนามของบริษัทกรุงเทพธนาคม สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรมว.มหาดไทยหรือไม่
หาก รมว.มหาดไทยชี้แจงว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพฯเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ ไม่ดำเนินการที่กระทบกับสัมปทานหลักได้ ไม่เช่นนั้นสัญญาจะถือเป็นการทำโดยไร้อำนาจ ทำให้สัญญาไม่สมบูรณ์ แต่ถ้ารมว.มหาดไทยชี้แจงว่าไม่ใช่อำนาจของรมว.มหาดไทย ก็ต้องพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากสัญญามีมูลค่าสูงตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จำเป็นต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตามได้กำหนดให้รมว.มหาดไทย ชี้แจงกลับดีเอสไอภายในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ส่วนของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯให้ชี้แจงกลับมาภายในวันที่ 23 พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กทม.อ้างว่าได้สอบไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งยืนยันว่ามีอำนาจลงนามในสัญญากับบีทีเอส นายธาริต กล่าวว่า จากการตรวจสอบเรื่องที่กฤษฎีกาตีความไม่ตรงกับเรื่องนี้ เป็นการตีความเรื่องกิจการร่วมทุนฯ ประเด็นในเรื่องนี้คือฐานอำนาจในการดำเนินการ โดยคนที่ชี้ได้ดีที่สุดคือเจ้าของอำนาจ นั่นคือ รมว.มหาดไทย

**เคทีโวยดีเอสไอไม่รอ
นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อสอบถามเรื่องอำนาจการอนุมัติสัมปทานรถไฟฟ้าให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีของ กทม. ว่าเป็นอำนาจของใคร รวมถึงประเด็นผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจกระทำการใดที่กระทบกระเทือนต่อสัมปทานหรือไม่ ว่า ตนเองไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดที่ดีเอสไอออกมาแถลงก่อนที่ กทม. จะนำเอกสารข้อมูลต่างๆ ไปยื่นให้แก่ดีเอสไอในวันที่ 23 พ.ค.นี้เพื่อให้นำข้อมูลไปเปรียบเทียบกัน อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าการลงนามในสัญญาจ้างบีทีเอสซีเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นเวลา 30 ปีนั้นไม่ใช่เป็นการขยายระยะเวลาสัญญาสัมปทานเดิมที่ กทม.ได้ทำไว้เมื่อปี 2535 แต่เป็นการจ้างให้เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งหลังจากหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของ กทม.
การให้สัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้นเป็นไปตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2513 ที่ระบุว่าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.)อนุมัติสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าให้กับท้องถิ่น โดยมอบอำนาจการบริหารให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะการดำเนินการจ้างเดินรถไม่ใช่การขยายสัมปทาน จึงไม่ขัดกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดทรัพย์สินก็จะตกเป็นของกทม.ในฐานะคู่สัญญาตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งจะทำให้ กทม.กำหนดค่าโดยสารเองได้
อีกทั้ง ตนเองยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การทิ้งทวนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะหมดวาระ แต่เป็นแนวคิดที่มีการหารือของทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายข้าราชการ ไม่ได้เป็นคำสั่งของผู้ว่าฯ กทม.ให้ข้าราชการปฏิบัติตาม และก็ไม่ได้เป็นการตีกันนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล แต่ในทางกลับกันรัฐบาลสามารถทำได้มากขึ้นด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 พ.ค. นี้ เคทีจะเดินทางไปชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมกรรมาธิการวุฒิสภา และในวันที่ 24 พ.ค. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม.ก็จะไปชี้แจงต่อกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วย
“ถ้าภาคการเมืองหรือดีเอสไอใช้ความพยายามในการเรียนรู้หลักเกณฑ์ข้อเท็จจริงของการจ้างเดินรถในครั้งนี้ก็จะไม่มีปัญหา แต่เพราะมีความเข้าใจผิดในเรื่องข้อกฎหมายจึงมีปัญหาดังกล่าว และเรื่องนี้คงไม่เลวร้ายที่สุดถึงขั้นทำให้การทำสัญญาเป็นโมฆะเพราะเราเดินมาถูกต้องตามหลักการทางกฎหมายแน่นอนแต่ถ้ามีการทำให้สัญญาเป็นโมฆะด้วยกระบวนการอื่น ผมก็ตอบไม่ได้ แต่ยืนยันเป็นการทำสัญญาที่มีการศึกษาทุกขั้นตอนอย่างดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก” นายอมร กล่าว

** มท.1 ตีมึนสัญญารถบีทีเอส
ที่กระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ระงับสัญญากทม.จ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ว่า ได้สั่ง กทม. ให้ชี้แจงรายละเอียด โดยสิ่งเหล่านี้มีเอกสารเป็นหลักฐานที่ตรวจสอบได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้รับเรื่องร้องเรียนมาจาก 2 ทาง คือจากพรรคเพื่อไทย และจากทางกระทรวงคมนาคม ซึ่งขณะนี้ก็มีทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการด้านกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบสัญญาดังกล่าวอย่างละเอียด
“ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะระบุได้ว่าสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด สามารถดำเนินต่อได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ได้รับหนังสือชี้แจ้งจากกรุงเทพมหานครมาแล้ว โดยเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งน่าจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ก่อนจะชี้ขาดได้ว่าสัญญาดังกล่าวถูกต้องตามขั้นตอน และถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่” รมว.มหาดไทยกล่าว

** .พท.เล็งยื่นสตง.สอบกทม.ฮั้ว
ที่รัฐสภา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเซ็นสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอส ว่า ที่ประชุมของคณะกรรมการติดตามทุจริตของพรรคเพื่อไทย มีมติว่าในวันที่ 22 พ.ค. เวลา 10.00 น. จะไปยื่นเรื่องต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรุงเทพมหานคร กับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพฯและหน่วยงานของรัฐ ในการใช้เงินงบประมาณและการใช้ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ในกรณีการจ้างเอกชนรายบริษัทว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อคับ มติ ครม. และแผนปฏิบัติราชการในการบริหารการเงินของรัฐว่ามีการทุจริตในการใช้งบประมาณ ดังนี้
1.ขอให้ตรวจสอบบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จึงไม่ยอมให้ สตง. ดำเนินการตรวจสอบบัญชีรายงานการรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ 2.ขอให้ตรวจสอบงบประมาณของกรุงเทพมหานครในการจ้างบริบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ไปทำสัญญาจ้างกับบีทีเอสซีในการบริหารจัดการเดินรถโครงการระบบขนส่งมวลชน กทม. ส่วนต่อขยายสายสีลม 3.ขอให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. และนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. อ้างว่าเป็นเงินที่ กทม.ต้องใช้งบประมาณมาจ่ายจริงเพียง 6,400 ล้านบาทเท่านั้นในการจ้าง บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด 4.ขอให้ตรวจสอบการประมูลโครงการส่วนต่อขยายสายสีลม ที่ไม่มีการเปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นเข้าร่วมประมูล
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า 5.ขอให้ทำการศึกษาและความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีการบริหารจัดการเดินรถเส้นทางสถานีหมอชิต – อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน เป็นการใช้ทรัพย์สินของ กทม. เกินกว่า 1,000ล้านบาท ภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในปี 2572 6.ขอให้ทำการศึกษาและความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ ผู้ว่าฯ กทม.และรองผู้ว่าฯ กทม. อ้างว่าเงินที่ กทม. ต้องใช้ งบประมาณจ่ายจริงเพียง 6,400 บาทนั้นว่าจะมีกระทบผลต่อการจัดทำงบประมาณของ กทม. หรือไม่ 7.ขอให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณของ กทม. ในกรณีที่ต้องจ่ายเงิน 6,472 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยให้บีทีเอส ที่อ้างว่าสูญเสียรายได้และขาดทุน ในเส้นทางที่เป็นส่วนต่อขยายว่า เป็นไปอย่างถูกต้องและไปตามมติ ครม.หรือไม่
และ 8.ขอให้ตรวจสอบการจัดเก็บรายได้จากการให้บริการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีลม ที่เป็นไปตามสัญญา ตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 52 ของ กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รวมทั้งตรวจสอบการประเมินรายได้ ที่ กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จัดเก็บ ที่ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ กทม. อ้างว่า ตามสัญญา 30 ปี จะมีรายได้ประมาณ 3 แสนบาทและกทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะมีส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 110,000 บาท และบีทีเอส จะมีรายได้ประมาณ 190,000 บาท

**ปูดให้ห้างยักษ์ เช่าเดือนละ5แสน
ที่รัฐสภา นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายคมน์กฤษณ์ ปานเพชร นิติกรชำนาญการ สำนักงานการคลัง กทม. พบข้อมูลว่าการอนุมัติพื้นที่ของกทม.ในบริเวณพื้นที่ลำกระโดงสาธารณะ จำนวน 1 ไร่ 1 งาน ที่ห้างบริษัทธนบุรี เรียลเอสเตท จำกัด ได้สร้างห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ บางแค เป็นอาคาร 11 ชั้น ที่ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า และโรงภาพยนตร์ อาคารจอดรถ และสะพานลอยเชื่อม 2 จุด ภายหลังที่ศาลอาญาได้มีการตัดสินว่าเป็นการใช้พื้นที่ไม่ชอบและสั่งให้รื้ออาคารสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวพร้อมบริวารออกจากพื้นที่เมื่อปี 2537 แต่กลับไม่มีปฏิบัติตามคำพิพากษาแต่อย่างใด จนกระทั่งปี 2551 บริษัทดังกล่าวได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานที่ดินบางแค กระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ทำหน้าที่กำกับดูแลในขณะนั้นทำทำหนังสือสั่งการไปยังกทม. และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากทม.ก็ได้ลงนามเห็นชอบให้ใช่พื้นที่ดังกล่าวต่อไป โดยได้รับค่าสตอบแทนเดือนละ 5 แสนบาท
นายประชา กล่าวต่ออีกว่า ในกาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ จึงอยากถามพรรคประชาธิปัตย์ว่าเคยตรวจสอบในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะตนเชื่อว่าผู้ว่ากทม.น่าจะทราบเรื่องนี้ดีเพราะมีคำพิพากษาดังกล่าวมาแล้ว จะอ้างว่าเป็นเรื่องก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งก็คงไม่ได้ ขณะเดียวกันตนจะยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ให้เอาผิดกับนายถาวร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งให้มีการบังคับใช้ตามคำพิพากษาในการรื้อสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะต่อไป
นายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันการตั้งลำกระโดงของห้างเดอะมอลล์บางแคนั้น สามารถทำได้ หากสร้างให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สอยร่วมกัน และให้ทางราชการสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตลอด พร้อมกันนี้ยังชี้แจงว่า หากมีการสร้างเกิดขึ้น ทางกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าเช่าและกำหนดว่าใครจะได้รับผลประโยชน์ โดยตามปกติแล้วจะต้องเป็นของเขตที่สถานที่นั้นสร้างอยู่ โดยฝากบอกไปยัง นายประชา ประสพดี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ด้วยว่า หากต้องการระงับโครงการ หรืออยากดำเนินการอย่างไร ก็สามารถทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น