xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ยื่นผู้ตรวจฯวินิจฉัยรธน. ส่อขัดกม.“5 มิ.ย.”คาดลงมติวาระ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(15 พ.ค.55) นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาญาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม 15 วันที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศย่างเต็มที่ แต่มีเพียงประเด็นเดียวที่กรรมาธิการเสียงข้างมากและรัฐบาลยอมแก้ตามคือเปลี่ยนกฎหมายจัดการเลือกตั้งส.ส.ร.จากกฎหมายท้องถิ่นมาเป็นกฎหมายเลือกตั้งส.ส.และส.ว.จึงมีอีก 5 ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านเป็นห่วงได้แก่
1.การเลือกส.ส.ร.จากภาควิชาการ 22 คน 2.ให้อำนาจประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นคนของรัฐบาลเป็นผู้กำหนดองค์กรที่จะส่งชื่อ ถือเป็นการล็อคชั้นที่ 1 การล็อคชั้นที่ 2คือ ให้สมาชิกแต่ละคนลงคะแนนเลือกได้ 22 คน อาจมีการบล็อกโหวตให้เป็นไปตามที่รัฐบาลชี้ว่าจะเลือกใคร รวมถึงการให้อำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขัดต่อหลักการปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปัตย์ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่
3.เมื่อยกร่างแล้วแทนที่จะนำเข้าสู่รัฐสภาก่อนกลับไปทำประชามติเลย คงกลัวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาอันไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลประสงค์ 4. การไม่กล้ากำหนดห้ามส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะไปเกี่ยวข้องกับการล้มคดีความที่ได้มีการตัดสินหรือพิพากษาไปแล้วถือว่ามีเจตนาซ่อนเร้น เพื่อจะเอื้อประโยชย์ให้ใครคนใดคนหนึ่ง
5.การไม่ห้ามส.ส.ร. เล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปีหลังกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นอาจมีเจตนาต่างตอบแทนกัน เพื่อจะให้ส.ส.ร.เชียนตามใบสั่ง จึงขอให้ประชาชนติดตามการเลือกตั้งหรือการสรรหาส.ส.ร.ว่าจะมีการบล็อกโหวตหรือล็อคสเปกกันหรือไม่ รวมถึงเนื้อหาการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเปิดทางเพื่อล้มคีดให้ใครหรือไม่ อย่างไรก็ตามจากการหารือได้ข้อตกลงร่วมกันกับวิปรัฐบาลจะมีการลงมติในวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.

**ปชป..เตรียมยื่นผู้ตรวจการฯชี้ส่อขัดกม.
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้การพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จะเข้าสู่วาระ 3 ในวันที่ 5 มิถุนายน ทางคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ จะเตรียมรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในสัปดาห์หน้า เพื่อวินิจฉัยกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่
สำหรับประเด็นที่ส่อว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.ขัดต่อมาตรา 291 เดิมที่กำหนดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้เพียงบางมาตรา ไม่ใช่จัดทำใหม่ทั้งฉบับเช่นนี้ 2.กรณีที่ประชาชนมอบอำนาจให้ ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้จัดทำกฎหมาย แต่กลับมอบให้ ส.ส.ร. เป็นผู้ดำเนินการแทน
3.กฎหมายการเลือกตั้ง ต้องเป็นกฎหมายเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เท่านั้น แต่กลับนำกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. มาบังคับใช้โดยอนุโลม ซึ่งก็พบว่ามีข้อบกพร่องอยู่หลายส่วน 4.ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจัดทำประชามติ ปี 2552 ซึ่งกำหนดให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจในเนื้อหาก่อนทำประชามติ ไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้กลับให้เวลาน้อยกว่า 90 วัน
5.เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ แทนที่จะส่งกลับให้สภาเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง แต่กลับมอบอำนาจให้ประธานรัฐสภาตรวจสอบเพียงคนเดียว ซึ่งตนไม่เชื่อว่าเขาจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้หลังจากที่ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในสัปดาห์หน้าแล้วทันทีที่วาระ 3 ผ่านก็จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความต่อไป

**โคทมเดินสายถกแถลงยกร่างทั่วประเทศ
เวลา 14.00 น. ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา นายโคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวภายหลังการประชุมถกแถลงรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 14 - 15 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ทางสถาบันได้มีการจัดทำโครงการถกแถลงเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เพื่อหยิบยกบางประเด็นของรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณา หลังจากจัดประชุมกลุ่มเจาะจง 8 ครั้ง โดยมีข้อเสนอ 9 ข้อ อาทิ การกำหนดที่มาผู้สมัคร ส.ส.จะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง รวมถึงควรจะใช้ระบบเลือกตั้งใดเลือกตั้ง ส.ส. ความสำคัญของ ส.ว. ว่าควรมีหรือไม่ หรือหากมีแล้วจะทำหน้าที่ มีวาระการดำรงตำแหน่งกี่ปี รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ควรจะมีมาตรฐานในการดำเนินงานเช่นไร และกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน ควรกำหนดโครงสร้างตุลาการให้ยึดโยงประชาชนมากขึ้นหรือไม่
เช่น การให้วุฒิสภาหรือรัฐสภามีส่วนร่วมในการคัดเลือกประธานศาลฎีกา จากการเสนอชื่อของประธานศาลฎีกา ทั้งนี้ทางสถาบันจะเริ่มการถกแถลงเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ โดยในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้จะลงพื้นที่ในกลุ่ม 6 จังหวัด ภายในเดือนกันยายน เพื่อเร่งเดินสายทำความเข้าใจกับประชาชนได้แล้วเสร็จโดยเร็วด้วย และในต้นเดือนตุลาคมนี้ ทางสถาบันก็จะมีการจัดประชุมใหญ่เพื่อสรุปข้อคิดเห็นก่อนนำเสนอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญนำไปประกอบยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
นายโคทม กล่าวด้วยว่า ตนไม่คาดหวังว่าข้อเสนอทั้งหมดจะถูกบรรจุอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอเป็นเสียงของประชาชนโดยตรง ไม่ใช่กลุ่มผู้มีอำนาจ ตลอดจนเป็นแนวทางที่เริ่มจากการนำข้อเสนอไปเผยแพร่ให้กับประชาชนเพื่อเป็นทาง เลือกให้ประชาชนนำไปพิจารณาต่อยอดและมีความพร้อมที่จะตัดสินใจในการเลือก ตั้ง ส.ส.ร. อย่าง ไรก็ตาม การเปิดประเด็นครั้งนี้สามารถป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องมือ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะไปผูกโยงเพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ หากส.ส.ร.ไม่นำข้อเสนอของทางสถาบันภายหลังจากการจัดเวทีและได้ข้อสรุปทั่วประเทศแล้ว ทางส.ส.ร.ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากข้อสรุปทั้งหมดเป็นความคิดเห็นที่มาจากทุกภาคส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น