xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดันคดี“ฆ่าแดง”ขึ้นศาลอาญาโลก-ระวัง“แม้ว”จะโดนก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่พยามเดินเรื่องนำคดี 91 ศพขึ้นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การนำคดีการตายของคน 91 คนระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เป็นประเด็นที่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชูขึ้นมาตีปี๊บทำลายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งแต่หลังจบการชุมนุมใหม่ๆ

โดยมีนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชาวแคนาดาที่ พ.ต.ท.ทักษิณว่าจ้างมาเป็นผู้ดำเนินการนำเรื่องไปฟ้องต่อ ไอซีซี.ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2553 และพยายามโพนทนาตีข่าวต่อเนื่องจนถึงปี 2554 เพื่อให้สังคมโลกเชื่อว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์คือฆาตกรสังหารคนเสื้อแดง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาว ถูกดันก้นขึ้นเป็นนายกนอมินีคนที่ 3 เท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณกลับมากุมอำนาจรัฐไว้ในมืออีกครั้ง

ภารกิจในการแย่งชิงอำนาจรัฐกลับคืนจึงสำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเร่งรัดการนำคดี 91 ศพฟ้องต่อไอซีซีเพื่อทำลายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์แต่อย่างใด แต่จะหยุดเสียเลยก็ไม่ได้ เพราะได้รับปากกับคนเสื้อแดงไว้แล้ว จึงปล่อยให้ทนายความฝรั่งดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้หันมาเดินเกมในหลากหลายรูปแบบโดยมีเป้าหมายสูงสุด คือการกลับเข้าประเทศโดยปราศจากความผิด ทั้งการชิมลางด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเสนอแผนปรองดอง การออกกฎหมายนิรโทษกรรมลบล้างความผิดให้ตัวเอง

จะเห็นได้ว่า หมากเกมที่คืบหน้าที่สุดและมีเสียงต่อต้านน้อยที่สุด ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2 แล้ว

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อผลในการลบล้างความผิดและกระชับอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณให้มากขึ้นนั้น จะต้องใช้เวลาอีกเกือบ 2 ปี ซึ่งถือว่านานพอสมควร สำหรับคนใจร้อนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และในระหว่างการยกร่างฯ ซึ่งต้องมีการเปิดให้อภิปราย รับฟังความคิดเห็น เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตราใดที่เอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณบ้างจะต้องถูกชำแหละออกมาอย่างแน่นอน

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่หมากตัวเดียวที่ พ.ต.ท.ทักษิณคาดหวังจะใช้เดินเพื่อลบล้างความผิดให้ตัวเอง แต่จะต้องเดินหมากตัวอื่นควบคู่กันไปด้วย หนึ่งในนั้นคือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ภายใต้ข้ออ้างเรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติ

จะเห็นได้ว่า มีการตั้งคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 ในช่วงที่ประชาชนยังทุกข์ร้อนเพราะมหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ และเขตภาคกลาง โดยมี พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคมาตุภูมิเป็นประธาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดภาพความปรองดองตั้งแต่ต้น เนื่องจาก พล.อ.สนธิคือหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

หลังจากนั้นงานของ กมธ.ปรองดองก็คืบหน้าอย่างรวดเร็ว มีการมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าไปทำการศึกษาวิจัยแนวทางการสร้างความปรองดอง และรีบแถลงข่าวตั้งแต่การวิจัยยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งผลการวิจัยออกมาก็เข้าทางเท้าของ พ.ต.ท.ทักษิณไปเต็มๆ นั่นคือการเสนอให้นิรโทษกรรมความผิดของทุกๆ ฝ่ายที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งยกเลิกผลทางกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.)ที่ได้ทำสำนวนฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณในคดีทุจริตไว้ 10 กว่าคดี

สอดคล้องกับท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่ให้สัมภาษณ์นักข่าวอยู่ตลอดว่า ได้เตรียมร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้พร้อมแล้ว

ขณะเดียวกัน รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พยายามสร้างภาพปรองดองด้วยการเข้าหา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณและแกนนำคนเสื้อแดงจะเคยปลุกระดมมวลชนว่า พล.อ.เปรมเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของคนเสื้อแดงก็ตาม

อย่างไรก็ดี จนขณะนี้ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่สามารถทำให้สังคมเห็นด้วยอย่างเอกฉันท์กับแนวทางการปรองดองที่กำลังดำเนินการอยู่ได้ โดยคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเริ่มตาสว่างเห็นว่าพวกตนถูกหลอกให้ไปตาย สุดท้ายก็ต้องกลับมาปรองดองกันเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับเข้าประเทศได้โดยปราศจากความผิด

ขณะที่ภาคประชาชนอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยมีบทบาทในการล้มรัฐบาลทักษิณและนอมินีมาแล้ว ได้ย้ำจุดยืนคัดค้านแนวทางการปรองดองที่จะนำไปสู่การลบล้างความผิดให้นักการเมือง และพร้อมที่จะต่อสู้คดีที่พันธมิตรฯ ถูกฟ้องตามกระบวนการยุติธรรม

ส่วนพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตกเป็นจำเลยของฝ่ายคนเสื้อแดง กรณีการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการปรองดองด้วยการนิรโทษกรรม และท้ากลับไปยังฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณว่า หากจะมีการนิรโทษกรรมจริงๆ ให้งดเว้นการนิรโทษกรรมแก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แลกกับการงดเว้นนิรโทษกรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ เอาหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณไม่กล้ารับคำท้า ซึ่งทำให้เสียรังวัดไปพอสมควร เพราะเท่ากับยอมรับว่า เป้าหมายการนิรโทษกรรมอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณนั่นเอง

การนำคดี 91 ศพขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะบีบพรรคประชาธิปัตย์ ให้เข้าสู่การปรองดองตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการ

วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้จัดการสัมนาเชิงวิชาการเรื่อง ประเทศไทยกับศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ห้อง 214 อาคารรัฐสภา 2 โดยมีนักวิชการสายคนเสื้อแดงเข้าร่วมพูดคุยเป็นส่วนใหญ่ อาทิ นายพนัส ทัศนียานนท์ รศ.สุดสงวน สุธีสร นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์) มีนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีกลุ่มคนเสื้อแดง จำนวนกว่า 100 คนเข้าร่วมรับฟัง

แน่นอนเนื้อหาในการเสวนา คือการตีปี๊บการนำคดี 91 ศพยื่นฟ้องต่อไอซีซี โดยอ้างว่าแม้ประเทศไทยยังไม่ลงสัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำให้คดีการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 จะไม่ได้รับการพิจารณา เพราะการดำเนินคดีจะไม่สามารถย้อนหลังได้ แต่ก็ยังมีช่องทางตาม บทที่ 12 วรรค 3 ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กำหนดการประกาศรับเขตอำนาจศาล ซึ่งจะมีผลต่อเหตุการณ์หรือคดีที่ต้องการให้นำมาพิจารณาเป็นพิเศษเฉพาะกรณีได้
       
   ต่อมาวันที่ 2 พ.ค.ที่รัฐสภา นายสุนัยก็พานางเอเวอร์รีน บาลาอิส ตัวแทนศาลอาญาระหว่างประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกร่วมแถลงข่าวหาช่องเอาผิดนายอภิสิทธิ์ให้ได้ โดยอ้างว่าแม้ประเทศไทยจะไม่ได้ลงสัตยาบันเป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ประเทศไทยสามารถอาศัยช่องทางตามธรรมนูญกรุงโรมที่ระบุว่าแม้ประเทศนั้นไม่ต้องเป็นภาคีกับศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ให้ ครม.ประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สามารถให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบได้ โดยเฉพาะกรณีการสลายการชุมนุม 91 ศพ เหตุการณ์ภาคใต้ ซึ่ง นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ยื่นเรื่องนี้ไปยัง ครม.ให้พิจารณาแล้ว ขณะเดียวกันกรรมาธิการต่างประเทศก็จะเร่งรัดเรื่องนี้ควบคู่กันไป
        
 นายสุนัยอ้างว่า ส่วนกรณีที่ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เป็นการยื่นในนามสัญชาติอังกฤษ ที่นายอภิสิทธิ์ถือสัญชาติอังกฤษ โดยประเทศอังกฤษเป็นภาคีกับศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ศาลได้รับฟ้องไปแล้ว แต่ปัญหาคือไม่สามารถเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยได้เพราะเรายังไม่ได้เป็นภาคีโดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ ให้ความเห็นว่า การสลายการชุมนุมไม่เข้าข่ายที่ไอซีซีจะพิจารณา เพราะมีอำนาจพิจารณาเฉพาะคดี 4 ประเภท คือ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และการกำจัดชาติพันธุ์ ในทางกลับกันการฆ่าตัดตอนยาเสพติดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่างหากที่เข้าข่าย

การเดินหน้าเรื่อง ไอซีซี.ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงน่าจะเป็นเพียงการเดินเกมเพื่อบีบพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกระบวนการปรองดองเท่านั้น เพราะถ้าจะให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีไอซีซีโดยสมบูรณ์ พ.ต.ท.ทักษิณต่างหากที่จะถูกเล่นงานก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น