ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สถานการณ์เศรษฐกิจของโลกและของไทยไม่ดีเอาจริงๆ
ของแพง ว่างงาน เอสเอ็มอี ปิดกิจการ
กลายเป็นเรื่องควบคู่กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ในด้านต่างประเทศนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า อัตราว่างงานของ 17 ประเทศสมาชิกยูโรโซนพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 10.9 % ในเดือน มี.ค. จาก 10.8 % เมื่อเดือน ก.พ. ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงในรอบ 15 ปีทีเดียว
ถือเป็นสัญญาณอันตรายว่า วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เห็นได้จากในขณะนี้ ประเทศสมาชิกเกือบครึ่ง ตกอยู่ในสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ
นั่นทำให้แรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ด้วยมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ มากกว่าการรัดเข็มขัดเพียงอย่างเดียว
ตัวเลขการว่างงานของประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะ เช่น สเปน กลายเป็นประเทศที่มีอัตราว่างงานสูงที่สุดในยูโรโซน อยู่ที่ 24.1 % โดยมีอัตราว่างงานของเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ถึง 51.1 %
กรีซ มีอัตราว่างงานสูงอยู่ที่ 21.7 % ซึ่งเป็นประเทศที่เผชิญกับวิกฤตหนี้ครั้งรุนแรงที่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากนานาชาติถึง 2 ครั้ง
อิตาลี อัตราการว่างงานพุ่งสูงสุด ทุบสถิติอยู่ที่ 9.8 % ในเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นจาก 9.6 % ในเดือน ก.พ. สะท้อนว่า ชาวอิตาลีกำลังหางานในเดือนมี.ค. มีจำนวนสูงถึง 2.506 ล้านคน โดยอิตาลี เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยูโรโซน
อังกฤษและโปแลนด์ อัตราการว่างงานมีระดับคงที่ที่ 10.2 % ในเดือน ก.พ. สูงกว่าเดือน ก.พ.ปีที่แล้วที่มีเพียง 9.4 %
นั่นทำให้มีแนวโน้มว่า รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ จะถูกกดดันให้มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
จะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศเหล่านี้ ไม่สามารถควบคุมได้
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของไทย ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
นั่นทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3 %
เหตุผสำคัญ มาจาก กนง.เห็นว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน ยังเป็นระดับที่เหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ให้เข้าสู่ภาวะปกติ และสอดคล้องกับการรักษาเงินเฟ้อในกรอบเป้าหมาย ตอนนี้แม้เงินเฟ้อจะเร่งขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในกรอบ ยังไม่มีสัญญาณว่าจะก่อให้เกิดปัญหาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ” คำอธิบายของ “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ที่สำคัญคือ สถานการณ์ที่ไม่ปกติกลับถูกซ้ำเติมด้วยฝีมือของรัฐบาล
ทำงานไม่เป็น บริหารเศรษฐกิจมหภาคไม่ถูก เลยทำให้ของแพง คนว่างงาน เงินขาดมือ
ผลการสำรวจพบว่า “ผลงานจัดอยู่ในประเภทยอดแย่”
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพล ได้เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ จากองค์กรชั้นนำ 26 แห่ง จำนวน 63 คน เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง “ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในรอบ 9 เดือน”
สาระสำคัญของผลสำรวจเรื่องผลงานการบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ปรากฏว่า รัฐบาลได้คะแนนเพียง 3.83 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
นักเศรษฐศาสตร์ ที่ถูกสำรวจครั้งนี้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งกรณีสำเร็จศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอกอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านวิเคราะห์วิจัย หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปี จนถึงปัจจุบัน
โดยหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัย เศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 26 แห่ง ที่สำรวจ ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.), สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.), สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.), ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ, บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน, บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส, คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ, สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒิ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และนักวิจัยประจำศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ผลสำรวจด้านการเติบโตของ จีดีพีได้ 5 คะแนน ด้านการนำพาเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ได้ 4.53 คะแนน ด้านการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ 3.75 คะแนน
ด้านการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ 3.47 คะแนน ด้านการแก้ปัญหา / ดูแลเสถียรภาพของราคาสินค้า 3.17 คะแนน และด้านการบริหารจัดการราคาพลังงานได้เพียง 3.03 คะแนน
ผลงานในโครงการที่ได้หาเสียงไว้นั้น นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า มีผลงานอยู่ในระดับยอดเยี่ยม ได้แก่ โครงการขจัดภัยยาเสพติดใน 12 เดือนได้ 54.9 % โครงการคืนภาษีให้ผู้ซื้อรถคันแรกได้ 35.3 % และ โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคได้ 33.3 %
โครงการที่มีผลงานในระดับยอดแย่ 43.5 % โหวตให้โครงการยกเลิกกองทุนน้ำมัน (การลดราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล) 40.3 % ลงคะแนนให้โครงการจำนำข้าว 38.7 % ลงคะแนนให้โครงการแจกแท็บเล็ต และ 38.7 % ลงคะแนนให้โครงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทภายใน 90 วัน
นั่นหมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า โครงการยกเลิกกองทุนน้ำมัน โครงการจำนำข้าว โครงการแจกแท็บเล็ต และโครงการขึ้นค่าแรง 300 บาท....เป็นโครงการยอดแย่
แปลไทยเป็นไทยคือ ไม่มีประโยชน์กับสังคมโดยรวม
แต่กลับเปิดช่องให้มีการโกงมโหฬาร
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มักจะรู้สึกตัวช้ากับความเดือดร้อนของผู้คน
แต่จะเต้นเป็นเจ้าเข้า ถ้าหากเจ้าของพรรคเพื่อไทย เดือดร้อน
เพราะนั่นไม่ใช่ต้นทุนของพรรคเพื่อไทย แต่ของแพง ต้นทุนสูง ทำให้การดำเนินธุรกิจฝืดเคืองมาก
ต่างกับคำอธิบายของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี จนไม่กล้าตอบคำถามของนักข่าว เกี่ยวกับของแพง
แม้กระทั่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า “ธุรกิจจะเติบโตภายใต้ภาวะที่ต้นทุนสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงาน หรือ ต้นทุนทางการเงิน ความเสี่ยงหลักในปีนี้มาจากปัจจัยภายนอกประเทศโดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจลุกลามไปยังประเทศใหญ่ๆ”
“ต้นทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสามปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรกคือ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยฯประเมินว่าจะทำให้ต้นทุนโดยเฉลี่ยของธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.3 % และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7 % ปัจจัยที่สองคือ ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มจะยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยแรกแล้ว ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 3.5-4 % ปัจจัยสุดท้ายคือ ต้นทุนทางการเงิน ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่ายังจะคงอยู่ที่ 3 % ในปีนี้ แต่ต้นทุนการกู้ยืมอาจแพงขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากการระดมเงิน และยังป็นไปได้สูงที่การระดมเงินในสกุลดอลลาร์ จะทำได้ยากเพราะธนาคารในยุโรปอาจประสบกับปัญหาความเชื่อมั่นอีกครั้ง" นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ อธิบายสภาวะต้นทุนที่ถีบตัวสูงขึ้น
ค่าจ้าง ราคาพลังงาน และต้นทุนทางการเงิน คงไม่ทำให้รัฐบาลสำเหนียก แต่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ปกติ ทางเศรษฐกิจ
แต่ข้อเท็จจริงทางธธุรกิจก็คือ ธุรกิจ เอสเอ็มอี กำลังจะตาย
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า ผลการวิเคราะห์งานวิจัยเรื่อง "ค่าแรงขั้นต่ำ : บทเรียน ผลกระทบและการปรับตัว" เน้นที่การปรับตัวของธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ( เอสเอ็มอี ) ใน 7 จังหวัดนำร่อง ที่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันไปแล้ว พบว่า “ในระยะเวลา 18 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มที่เอสเอ็มอี จะต้องปิดกิจการประมาณ 10-15 % หรือ 8 หมื่น-1.2 แสนราย”
เอสเอ็มอี กว่า 50 % ของกลุ่มตัวอย่างเอสเอ็มอี 536 รายใน 7 จังหวัด มีพนักงานที่ต้องได้ค่าจ้างขั้นต่ำถึง 45.5 % กระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้า โดยทำให้ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่ม 16.2 % ส่งผลให้เอสเอ็มอีกว่า 44 % หาทางออกด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้า
"แต่ราคาสินค้าเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มจะอยู่ที่ 13.8 % ซึ่งยังต่ำกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ 2.4 % และเป็นส่วนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับไว้ " เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอธิบาย
ที่สำคัญมีแนวโน้มว่า ในอีก 8 เดือนข้างหน้า เอสเอ็มอี จะปรับตัวโดยให้น้ำหนักกับการเข้มงวดเรื่องประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 76.6 % และควบคุมต้นทุนในส่วนอื่นมากขึ้นอีก 61.3 % แต่ด้วยปัจจัยเรื่องค่าไฟที่สูงขึ้น ทำให้การควบคุมต้นทุนอื่นๆ ทำได้ยาก ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้ เอสเอ็มอี เลือกที่จะลดขนาดธุรกิจลงแทน
เอสเอ็มอี อีก 45.1 % มีแนวโน้มนำเครื่องจักรมาแทนพนักงานมากขึ้น หากได้เงื่อนไขเงินกู้ดีๆ เมื่อซื้อเครื่องจักรมาแล้ว เอสเอ็มอีกลุ่มนี้จะไม่เก็บแรงงานไร้ฝีมือไว้แล้ว ส่วนอีก 36.1% เลือกที่จะเพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวันมากขึ้น โดยให้เฉพาะคนที่มีฝีมือในการทำโอทีเเพราะมีผลิตภาพมากกว่าแรงงานไร้ฝีมือ และอีก 15.5 % ปรับตัวโดยการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์โดยดัชนีผสาน (Diffusion Index) เปรียบเทียบไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ พบว่า แนวโน้มของธุรกิจเอสเอ็มอี อยู่ในช่วงขาลง ทั้งยอดขายที่ลดจาก 13.7 % เหลือ 9.2 % ต้นทุนเพิ่มจาก 41.1 % เป็น 52.2 % การจ้างงานติดลบ จาก -3.8 % เป็น -13.7 % สภาพคล่องติดลบจาก -10.8 % เป็น -18.5 % ภาระหนี้สินติดลบจาก -16.6 % เป็น -20.4 % และการลงทุนติดลบจาก -12.7 % เป็น -19.7 %
แปลไทยเป็นไทยอีกครั้ง ก็คือ เอสเอ็มอี กำลังล้มหายจากไปจากสังคมไทย คงเหลือรายที่มีสายป่านยาวเท่านั้น
ต่างกับคำอธิบายของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่บอกว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะคนงานได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น และจะนำมาใช้จ่ายมากขึ้น
แต่กิตติรัตน์ ไม่เชื่อว่า คนจะตกงาน
แม้กระทั่งนโยบายรับจำนำข้าว ก็ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อชาวนา หรือคนจน ?แต่กลับสร้างประโยชน์ให้นายทุน และพ่อค้ามากกว่า
ที่สำคัญ ยังสร้างความสูญเสียมหาศาลให้แก่ประเทศ
ไทยขาดทุนการค้าข้าวของไทยนับ 4 แสนล้านบาท เป็นจำนวนที่มากกว่าเงินที่กู้มาแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม
เหตุผลสำคัญ เพราะรัฐบาลรับจำนำข้าวกับพ่อค้าในราคาสูง และไม่สามารถปล่อยข้าวออกมาขายในตลาดได้ สุดท้ายงุบงิบขายในราคาต่ำกว่าราคารับจำนำ 1.5 หมื่นบาท
“ ขณะนี้มีข้าวในสต๊อกมีตัวเลขสูงถึง 4.5 ล้านตัน ถ้าขาดทุนตันละ 5 พันบาท คิดเป็นเงิน 2 หมื่นกว่าล้านบาท เงินตรงนี้จะเข้ากระเป๋าพ่อค้า นายทุน” ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายตัวเลขการขาดทุนของรัฐบาล
แต่รัฐบาลก็ยังแหกตา หลอกมวลชนไปวันๆ อยู่ดี !!!