xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” แจง “เงินเฟ้อ” เกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่ค่าแรง 300 บาท ยันเร่งแก้ของแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กิตติรัตน์” ยัน รบ.ไม่นิ่งนอนใจปัญหาสินค้าแพง-ค่าแรงถูก ชี้ ปัญหาเงินเฟ้อในไทยเกิดจากปัจจัยภายนอก เพราะไทยเป็นระบบ ศก. แบบเปิด ไม่ใช่ค่าแรง 300 บาท เล็งถกนัก ศศ. เพื่อหาวิธีอยู่ร่วมกับเงินเฟ้อให้ได้ แนะจับตาประชุม กนง. พรุ่งนี้ ทบทวนเป้าเงินเฟ้อ ทิศทาง ดบ. หลังเพิ่มในอัตราเร่ง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง หลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด จึงได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่มีส่วนทำให้เกิดเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก และวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่ใช้การแก้ปัญหาโดยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อลามไปทั่วโลก

“ที่จริงแล้ว ผมไม่ได้พอใจที่สินค้ามีราคาแพง ต้องยอมรับว่าประเทศเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบเปิด บางทีเงินเฟ้อมาจากปัจจัยภายนอก ผมว่าเราต้องคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ให้มากว่าในอนาคตเราจะอยู่ในโลกที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างไร ในส่วนของรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ระดับเงินเฟ้อต่ำกว่าประเทศคู่ค้า หรือประเทศที่เป็นคู่แข่ง”

นายกิตติรัตน์กล่าวต่อว่า โดยการดำเนินการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รัฐบาลดำเนินการได้ใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การดูแลไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบประชาชน โดยการขึ้นราคาสินค้ามากจนเกินไป 2.การดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดในกิจการที่มีการแข่งขันน้อย 3.รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเพิ่มอุปทานของสินค้าที่มีความจำเป็น เพื่อให้แนวโน้มราคาสินค้าลดลง และประการที่ 4.รัฐบาลอาจพิจารณาอุดหนุนราคาสินค้าเป็นกรณี เช่น การอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มที่เคยทำมาในอดีต ซึ่งการอุดหนุนราคาต้องไม่ทำในระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป

“ยืนยันว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อ แต่เป็นการผลักดันให้เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน นอกจากนั้น จากปัจจัยภายนอกที่ผลักดันให้เงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้น นโยบายค่าแรง 300 บาท ยังมีส่วนช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถอยู่รอดทางเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบันได้”

รายงานข่าวเพิ่มเติมแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 (พรุ่งนี้) อาจมีการนำปัจจัยที่มีผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อเข้าพิจารณา ทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน เพื่อทบทวนการคาดการณ์เศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ใหม่ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2555 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น