xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ข้าวยาก ค่าแรงแพง แล้งจัด เศรษฐกิจทรุด โรงงานเจ๊ง “ปู” สอบตกทุกวิชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เรียกว่า “แสนสาหัส” และ “อ่วมอรทัย” กันทั้งแผ่นดินเลยทีเดียวสำหรับประชาชนคนไทยในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่ความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าด้วยความผิดพลาดจากทั้งนโยบายที่มุ่งตกเขียวหลอกให้คนไปลงคะแนนเลือกตั้ง และทั้งฝีมือในการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขจนทำให้เกิดภาวะข้ายากหมากแพงเยี่ยงนี้

ไหนจะต้องแบกภาระข้าวของอุปโภค บริโภค ดาหน้าขึ้นราคาหูฉี่แพงทั้งแผ่นดิน

ไหนค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นอันเป็นผลจากการที่รัฐบาลอนุมัติให้กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคาะมติขึ้นค่าเอฟทีงวด พฤษภาคม-สิงหาคม หน่วยละ 30 สตางค์ ตามด้วยคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ไฟเขียวให้ปรับค่าโดยสารรถสองแถวจาก 5.50 บาท เป็น 7 บาท รถมินิบัสจาก 6.50 บาท เป็น 8 บาท บขส. และรถร่วมสูงสุด กม.ละ 4 สตางค์ มีผลทันที พฤษภาคมนี้

ไหนจะต้องเผชิญกับ “ภาวะภัยแล้ง” ที่โหมกระหน่ำซ้ำเติมเข้ามาเป็น ปัจจัยหนุนทำให้เทือกสวนไร่นาใกล้จะฉิบหายตายเห็นๆ กันทั้งแผ่นดินในอีกไม่ช้า

ที่สำคัญคือไม่ว่า ข้าทาสบริวารตระกูลชิน ทั้งกางเกงแดงและกางเกงไม่แดงจะออกมาแก้ตัวอย่างไร ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะหลักฐานมันฟ้องคาตาให้เห็นกันชัดๆ ว่า ฝีไม้ลายมือของนางสาวยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีชุดนี้ที่เถลิงอำนาจปกครองแผ่นดินมาเป็นเวลาราว 9 เดือนมันบรมห่วยขนาดไหน

ทั้งนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ รวมถึงความจริงจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่รายงานออกมาสำแดงให้เห็นชัดเจนว่า อนาคตของราชอาณาจักรไทยริบหรี่ลงไปทุกที

และหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความบรมห่วยชนิดที่ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ก็คือ การที่ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้ดำเนินการสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 26 แห่ง จำนวน 63 คน เรื่อง “ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในรอบ 9 เดือน” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 20-25 เม.ย.ที่ผ่านมา

องค์กรชั้นนำที่ว่านั้นประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)

ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยประจำศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

และผลที่ออกมามีอยู่ว่า...

ด้านการเติบโตของ GDP 5 คะแนน ด้านการนำพาเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ 4.53 คะแนน ด้านการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ 3.75 คะแนน การสร้างความเป็นธรรมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ 3.47 คะแนน ด้านการแก้ปัญหา/ดูแลเสถียรภาพของราคาสินค้า 3.17 คะแนน ด้านการบริหารจัดการราคาพลังงาน 3.03 คะแนน

สำหรับผลงานในการดำเนินโครงการตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน พบว่า โครงการที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่ามีผลงานอยู่ในระดับในระดับยอดเยี่ยม มีดังนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 54.9 โครงการขจัดยาเสพติดใน 12 เดือน อันดับ 2 ร้อยละ 35.3 โครงการคืนภาษีให้ผู้ซื้อรถคันแรก อันดับ 3 ร้อยละ 33.3 โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้จริง

ส่วนโครงการที่เห็นว่ามีผลงานอยู่ในระดับในระดับยอดแย่ มีดังนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 43.5 โครงการยกเลิกกองทุนน้ำมัน (การลดราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล) อันดับ 2 ร้อยละ 40.3 โครงการจำนำข้าวเปลือกเจ้าเกวียนละ 15,000 บาท และข้าวหอมมะลิเกวียนละ 20,000 บาท อันดับ 3 ร้อยละ 38.7 โครงการแจกแท็บเล็ต พีซี ให้เด็กนักเรียน อันดับ 3 ร้อยละ 38.7 โครงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ภายใน 90 วัน

“ตัวเลขที่กรุงเทพโพลล์แสดงนั้นถือว่า รัฐบาลยังสอบไม่ผ่าน เพราะราคาสินค้าแพงทุกชนิด ค่าครองชีพปรับตัวขึ้นสูงมาก รวมถึงต้นทุนการผลิต ค่าจ้าง ค่าไฟ ดอกเบี้ยที่ยังสูงอยู่ ซึ่งแม้ค่าแรงจะปรับขึ้นแต่ค่าครองชีพก็สูงตาม ถือว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร”นายสมมาต ขุนเศรษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท) ให้ความเห็น

ไม่ทันขาดคำทันที อย่าได้แปลกใจอันใดกับการที่คนไทยต้องมาตกยุคของแพงทั้งแผ่นดิน เพราะรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังคงถนัดในการแก้ปัญหาของประเทศด้วยปาก ทำการเปิดสงครามน้ำลายต่อผลโพลดังกล่าวเสียยกใหญ่

“ถ้ามองตามหลักสถิติการทำโพลคงใช้อ้างอิงอะไรมากไม่ได้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างความคลาดเคลื่อนกับจำนวนกลุ่มตัวอย่างค่อนข้างมีปัญหา ประกอบกับการที่ผู้บริโภคข่าวสารทั่วไป ไม่มีโอกาสตรวจสอบรายละเอียดของผู้ให้ข้อมูลเป็นข้อจำกัด ซึ่งถ้าจะให้ดีควรระบุชื่อไปเลยว่า ใครบ้างที่เป็นผู้ประเมิน ดังนั้น เราคงไม่สามารถใส่ใจอะไรมากนักกับคนเพียง 63 คน ที่จะมาตัดสินรัฐบาลแทนประชาชนคนไทยทั้งประเทศ 64 ล้านคน อย่าว่าแต่ตัดสินรัฐบาลเลย ตัดสินเดอะสตาร์ ยังเสี่ยงจะโดนรองเท้า แต่ถ้าสังคมเลือกจะเชื่อข้อมูลที่มีวิธีการทำกันแบบนี้ ก็ขออนุโมทนาเชิญชวน ประชากรกลุ่มไหนก็ได้สัก 63 คน ช่วยลุกขึ้นมาประเมินลุกขึ้นมาชี้ถูกชี้ผิด แล้วถ้าเขาเหล่านั้นประเมินว่ารัฐบาลได้คะแนนแก้เศรษฐกิจเต็ม 10 บ้างจะว่าอย่างไร หากผู้ประเมินให้ความเห็นที่เป็นชุดความคิดบริสุทธิ์จริง ก็ขอให้ติดตามผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจต่อไปอย่างมุ่งมั่น เรามั่นใจว่าจากคะแนน 3.83 ในวันนี้ ถ้าเราได้ขับเคลื่อนนโยบายทุกด้านอย่างเต็มที่ไม่มีปัญหาภัยพิบัติต่างๆ คะแนนประเมินเต็ม 10 ยังน้อยเกินไป” นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบโต้อย่างข้างๆ คูๆ ชนิดที่เรียกว่าไม่เหนียมอายเลยแม้แต่น้อย

ทั้งนี้ การแก้ตัวดังกล่าวต้องบอกว่าเป็นการแก้ตัวชนิดเอาสีข้างเข้าถูแบบไม่อยู่บนหลักความจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะหากเทียบกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในฝีมือบริหารงานของรัฐบาล ก็แทบจะไม่ได้ต่างจากคะแนนที่ผลโพลออกมาเลยแม้แต่น้อย เพราะแทนที่จะมาอธิบายชี้แจงว่าจะแก้ปัญหาแต่ละอย่างไรก็กลับมาโอ้อวดเรื่องที่ไม่เข้าเรื่องให้น่าหมั่นไส้อีกต่างหาก

ขณะที่เมื่อหันกลับไปมองตัวเลขทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อ ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงหนักเข้าไปอีก เพราะนโยบายที่นางสาวยิ่งลักษณ์ใช้ในการหาเสียงอย่างการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทกำลังพ่นพิษทำลายธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผลการวิเคราะห์งานวิจัยเรื่อง "ค่าแรงขั้นต่ำ: บทเรียน ผลกระทบและการปรับตัว" ซึ่งศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ออกไปสำรวจการปรับตัวของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ใน 7 จังหวัดนำร่องที่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันไปแล้ว แล้วพบว่า ในระยะเวลา 18 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มที่เอสเอ็มอีจะต้องปิดกิจการประมาณ 10-15% หรือ 8 หมื่น-1.2 แสนราย

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า กว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างเอสเอ็มอี 536 รายใน 7 จังหวัด มีพนักงานที่ต้องได้ค่าจ้างขั้นต่ำถึง 45.5% กระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้า โดยทำให้ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่ม 16.2% ส่งผลให้เอสเอ็มอีกว่า 44% หาทางออกด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มจะอยู่ที่ 13.8% ซึ่งยังต่ำกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ 2.4% และเป็นส่วนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับไว้

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์โดยดัชนีผสาน (Diffusion Index) เปรียบเทียบไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ พบว่าแนวโน้มของธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ในช่วงขาลง ทั้งยอดขายที่ลดจาก 13.7% เหลือ 9.2% ต้นทุนเพิ่มจาก 41.1% เป็น 52.2% การจ้างงานติดลบ จาก -3.8% เป็น -13.7% สภาพคล่องติดลบจาก -10.8% เป็น -18.5% ภาระหนี้สินติดลบจาก -16.6% เป็น -20.4% และการลงทุนติดลบจาก -12.7% เป็น -19.7%

“จากแนวโน้มดังกล่าวพบว่า ในอีก 8 เดือนข้างหน้าเอสเอ็มอีจะปรับตัวโดยให้น้ำหนักกับการเข้มงวดเรื่องประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 76.6% และควบคุมต้นทุนในส่วนอื่นมากขึ้นอีก 61.3% แต่กระนั้นด้วยปัจจัยเรื่องค่าไฟที่สูงขึ้น ทำให้การควบคุมต้นทุนอื่นๆทำได้ยาก ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้ เอสเอ็มอีเลือกที่จะลดขนาดธุรกิจลงแทน ขณะเดียวกัน อีก 45.1% มีแนวโน้มนำเครื่องจักรมาแทนพนักงานมากขึ้น ซึ่งหากได้เงื่อนไขเงินกู้ดีๆ เมื่อซื้อเครื่องจักรมาแล้ว เอสเอ็มอีกลุ่มนี้จะไม่เก็บแรงงานไร้ฝีมือไว้แล้ว ส่วนอีก 36.1% เลือกที่จะเพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวันมากขึ้น โดยให้เฉพาะคนที่มีฝีมือในการทำโอทีเเพราะมีผลิตภาพมากกว่าแรงงานไร้ฝีมือ และอีก 15.5% ปรับตัวโดยการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น

“ข้อเสนอจากงานวิจัยคือ รัฐบาลต้องเตรียมแผนพัฒนาความสามารถแรงงาน เพื่อรองรับคนที่จะตกงานในอนาคต รวมทั้งควบคุมต้นทุนในด้านอื่นๆไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้าเพื่อให้ธุรกิจมีเวลาปรับตัว และหากเป็นไปได้ควรทบทวนเรื่องการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2556 เพราะจะทำให้ผลกระทบรุนแรงมากกว่านี้”นายเกียรติอนันต์ให้ข้อมูล

ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานไทยตามจังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ จำนวน 1,440 คน เปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานไทยในปี 2555 เมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่า 44.45% ปีนี้แย่กว่าปีที่ผ่านมา เพราะ ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ต้องนำเงินไปซ่อมแซมหรือช่วยเหลือที่บ้าน, ค่าครองชีพสูงขึ้น ฯลฯ 31.94% เหมือนเดิม เพราะเงินเดือน ค่าจ้างรายวันยังเท่าเดิม, รายได้กับรายจ่ายพอๆ กัน มีกินใช้ไปวันๆ ฯลฯ และ 23.61% ปีนี้ดีกว่าที่ปีผ่านมาเพราะเงินเดือนขึ้น ค่าจ้างเพิ่ม ได้เลื่อนตำแหน่ง, ภาระครอบครัวลดลง ลูกเรียนจบมีงานทำ ฯลฯ

เมื่อถามถึงความหนักใจของผู้ใช้แรงงานไทย ณ วันนี้ พบว่า 60.75% สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น 29.74% เงินไม่พอใช้ เงินเดือน ค่าจ้างที่ได้ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน 5.70% ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการดำรงชีวิตประจำวัน และ 3.81% สวัสดิการ การคุ้มครองดูแลต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน เป็นต้น

“ต้องยอมรับว่า นโยบายสำคัญของรัฐสร้างปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขึ้นค่าแรง 300 บาท แล้วทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นจนส่งผลต่อราคาสินค้า นโยบายรับจำนำข้าวที่เป็นการอุดหนุนราคาจนทำให้กลไกตลาดบิดเบือน ทำให้การแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าเกษตรมีปัญหาและลดลง ทั้งหมดสะท้อนปัญหาที่รัฐบาลมีการดำเนินนโยบายที่ไม่รอบด้าน สรุปได้คือรัฐบาลต้องมีการวางแผนการทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม”นายพรศิลป์ พัชรินตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยให้แง่คิด

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปอย่างน้ำขุ่นๆ ด้วยการให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีราคาสินค้าบางชนิดได้ปรับตัวลดลงไปแล้ว แต่อาจยังไม่ตรงใจประชาชน ทำให้รู้สึกว่าสินค้ายังมีราคาแพงอยู่ ซึ่งรัฐบาลพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่อาจยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด และมีบางกลุ่มที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือไปบ้างแล้ว อาทินโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้น ส่วนมาตรการช่วยเหลือในระยะยาว ขณะนี้รัฐบาลกำลังหาวิธีการอยู่

แถมตบท้ายด้วยความเจ็บปวดว่า " ความรู้สึกของผู้บริโภคอาจจะรู้สึกว่าอาหารแพง แต่จริง ๆรัฐบาลก็ต้องมองทั้ง 2 ส่วน ทั้งความรู้สึกของผู้บริโภค ที่สำคัญต้องดูตัวเลขที่จับต้องได้จริงๆ เราคงจะได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจอย่างแท้จริงหลังจากที่ได้มีการแถลงในไตรมาสที่หนึ่ง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

คงต้องบอกว่าเป็นการให้สัมภาษณ์เหมือนไม่ได้ช่วยอะไรเลยโดยแท้ เพราะมาถึงป่านนี้ที่ประชาชนเจอปัญหาข้าวยากหมากแพงรุมเร้า มานานนับหลายเดือน ประชาชนก็ยังโชคร้ายได้แต่ฟังว่ารัฐบาล กำลังหาวิธีแก้ไขอยู่ มาถึงป่านนี้เวลาก็ล่วงเลยไปเหลือๆ ก็มิได้ต่างจากการแก้ตัว เอาตัวรอดไปวันๆเท่านั้นเอง

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งปัญหาที่ตามมากับยุคข้าวยากหมากแพง ซึ่งถือเป็นภัยเงียบแบบไม่รู้ตัวก็คือ ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเข้าคืบคลานมาสู่ประเทศไทยก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ประมาทไม่ได้เลยแม้แต่น้อย มาถึงขณะนี้แล้วสถานการณ์ตอนนี้ยิ่งย่ำแย่หนักซ้ำเข้าไปอีก เมื่อปัญหาภัยแล้งยังคงเล่นงานทั้งภาคเหนือ ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคกลางอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างภาพสลดใจ อาทิที่หน้าประตูน้ำบางกุ้ง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เกษตรกรที่มีอาชีพทำนากว่า 20 คน ได้รวมตัวกันมายืนดูน้ำนคลองบางกุ้งด้วยใบหน้าที่เศร้าสลดเนื่องจากน้ำในคลองเหลือน้อยและบางช่วงแห้งคอดคลองจนไม่สามารถที่จะใช้เครื่องสูบน้ำไปทำนาได้ หรือที่จังหวัด ระยอง ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และนายชูชาติ ภิญโญ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ นำเกษตรชาวสวนผลไม้ จำนวน 100 คน เดินทางมาชูป้าย”ท่านผู้ว่าฯ ช่วยด้วย ชาวสวนผลไม้ ต.ทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง ฝนแล้ง น้ำแห้ง ต้นไม้ตายหมดแล้ว”

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 – ปัจจุบัน จำนวน 50 จังหวัด 497 อำเภอ 3,417 ตำบล 36,388 หมู่บ้าน

สำหรับจังหวัดที่ประสบภัยแล้งทางภาคเหนือ ได้แก่ กำแพงเพชร ลำปาง ลำพูน สุโขทัย น่าน พะเยา พิษณุโลก แพร่ อุตรดิตถ์ เชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร แม่ฮ่องสอน ตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ ขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์ อุดรธานี อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ยโสธร ชัยภูมิ นครราชสีมา นครพนม สุรินทร์ มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ เพชรบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ราชบุรี ชัยนาท จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว และภูเก็ต

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่อดห่วงไม่ได้ที่ตามมาก็คือ แม่น้ำสายหลัก ทั้งปิง วัง ยม น่าน ซึ่งไหลรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำ ลดลงอย่างต่อเนื่องขณะที่ฝนอาจทิ้งช่วงไปจนถึงปลายเดือน พ.ค. ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็ไม่น้อยกว่ากันกับสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 11 ล้านไร่ เกษตรกรกว่า 1 ล้านคน ได้รับผลกระทบ

แน่นอน ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นย่อมสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนา ชาวไร่ อย่างหนักแน่นอน คำถามสำคัญก็คือ ยังได้สะท้อนถึงการบริหารขัดการอันห่วยแตกไม่เอาอ่าวของรัฐบาล นายกฯนกแก้วเข้าไปอีก

เพราะก่อนหน้านี้กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. เคยวางแผนระบายน้ำออกจากเขื่อนตั้งเป้าว่าภายใน วันที่ 1 พ.ค. เขื่อนใหญ่ที่กำหนดจะต้องมีปริมาณน้ำกักเก็บประมาณ 45% ของความจุ เพื่อเตรียมรับน้ำในช่วงหน้าฝน แต่จนถึงขณะนี้ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้การระบายน้ำจากเขื่อนต้องเปลี่ยนแปลงโดยปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่เช่น เขื่อน ภูมิพลและสิริกิติ์ยังมีปริมาณน้ำกักเก็บประมาณ50% สูงกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งหมายความว่าปริมาณน้ำกักเก็บเหล่านี้คือ การเตรียมรับภาวะฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนาน

ปริมาณน้ำที่เหลือครึ่งเขื่อนโดยยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ฝนจะตกต้องตามฤดูกาลนั้น แปลไทยเป็นไทยก็คงต้องบอกว่า เป็นการบริหารคาดการณ์อีกหนึ่งรอบของรัฐบาลนั่นเอง นี่จึงคือปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องขบคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพียงแต่ว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเช่นไร เพื่อให้มีการคาดการณ์สภาพดินฟ้าอากาศที่แม่นยำ ที่จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คำถามสำคัญก็คือ เหตุการณ์ภัยแล้งที่กำลังมาเยือนอยู่นี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เตรียมแผนรับมืออย่างไร ยิ่งเมื่อมองไปที่แผนบริหารจัดน้ำระดับประเทศที่ต้องกู้เงินมาใช้อีก 3.5 แสนล้านบาทก็ยังไร้ทิศทาง ลำพังแค่งบฟื้นฟูและเยียวยาหลังจากน้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน วงเงิน 1.2 แสนล้านบาทก็ยังยุ่งวุ่นวาย เบิกจ่ายกันไปไม่ถึงไหน เพราะขาดการทำงานแบบบูรณาการ โครงการต่างๆ มีความซ้ำซ้อน หน่วยงานส่วนกลางไม่ได้ประสานกับจังหวัด ทำให้การกำหนดโครงการเพื่อฟื้นฟู เยียวยาซ้ำไปซ้ำมา และไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน เอาแค่เรื่องเก่าๆที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชอบใช้คำเท่ๆว่า บูรณาการ ก็ดูเหมือนจะล้มเหลวไม่เป็นท่าอยู่ดี มิพักต้องไปเอ่ยถึง การจัดการปัญหาใหม่ เช่น ภัยแล้ง ที่กำลังเล่นงานประชาชนตาดำๆอยู่หลายจังหวัด ความจริงเรื่องปัญหาภัยธรรมชาติไม่ว่าจะภัยแล้ง น้ำท่วม ไม่ใช่ปัญหาใหม่อะไร และเกิดขึ้นเกือบทุกปี แต่ความจริงอันโหดร้ายมาถึง ณ วันนี้ รัฐบาลทักษิณส่วนหน้า กลับไม่เคยมีการเตรียมการล่วงหน้าหรือกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลับใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เกือบทุกครั้ง จะลุกขึ้นมาแก้ตัวโทษดินฟ้าอากาศเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ นี่จึงเป็นปัญหาที่น่าสะพรึงกลัวไม่น้อยเช่นกัน

... คงต้องบอกว่าการเข้ามาบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชนคนไทยของนายกรัฐมนตรีแก้บน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สนุกสนานเหมือนนั่งเครื่องบินไปแต่งตัวอวดสวยตามต่างประเทศอย่างเดียวแน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น