xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.วอนรัฐทบทวนตรึงดีเซล ก๊าซ-ค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์-เยียวยาใต้เสมอภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พรรคประชาธิปัตย์แถลงการประชุม ครม.เงา ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซล แอลพีจี และเอ็นจีวี รวมถึงการขึ้นค่าเอฟที 30 สตางค์ต่อหน่วย และให้กลับมากำหนดค่าไฟฟรีที่ 90 หน่วยแทนลดลง 50 หน่วย ชี้รัฐบาลไม่ควรคุ้มครองผลประโยชน์ ปตท.มากกว่าประชาชน ชี้การสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่เหมาะสม เพราะน้ำไม่ท่วมตามที่ กยอ.และ กบอ.เคยทำการศึกษา ฝากให้ความเป็นธรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ไม่เสมอภาค และใช้โครงสร้าง ศอ.บต.แก้ปัญหาไฟใต้

วันนี้ (3 พ.ค.) นายอรรถวิช สุวรรณภักดี โฆษกคณะรัฐมนตรีเงาพรรคประชาธิปัตย์ (ครม.เงา) แถลงมติ ครม.เงาว่า ขอให้รัฐบาลหยุดนโยบายซ้ำเติมประชาชน และหยุดการปกปิดความจริงกับประชาชน เนื่องจากพบว่าราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไม่สอดคล้องกับราคาในท้องตลาด โดยราคาสินค้าบางชนิด เช่น ถั่วฝักยาว ราคาแนะนำอยู่ที่ 30 บาท แต่ราคาที่ตลาดสี่มุมเมืองสูงถึง 60 บาท ต่างกันเท่าตัว ดังนั้น กรมการค้าภายในต้องปรับตัวเลขให้เป็นไปตามความเป็นจริง

ทั้งนี้ ครม.เงาเห็นว่าต้นเหตุที่ทำให้สินค้าราคาแพงส่วนหนึ่ง เกิดจากนโยบายพลังงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล ทั้งที่พรรคเคยเตือนแล้วว่าราคาดีเซล เอ็นจีวี และแอลพีจี เป็นต้นทุนราคาสินค้า และค่าขนส่ง แต่รัฐบาลก็ไม่ฟัง ดำเนินนโยบายประชานิยมชั่วคราวจนกองทุนน้ำมันติดลบ อยู่ในระหว่างการผ่อนผันกองทุนน้ำมันจนทำให้ราคาแพง ส่งผลต่อราคาสินค้าโดยตรง จึงควรทบทวนนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซล แอลพีจี และเอ็นจีวี รวมถึงการขึ้นค่าเอฟที 30 สตางค์ต่อหน่วย ที่มีการอ้างว่าค่าพลังงานเพิ่มขึ้นจึงต้องขยับค่าเอฟที ในขณะที่กำไรของ ปตท.ปี 2554 อยู่ที่ 100,5296 ล้านบาท เป็นกำไรที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องคุ้มครองประโยชน์ ปตท.มากกว่าประโยชน์ของประชาชน และให้กลับมากำหนดค่าไฟฟรีที่ 90 หน่วยแทนลดลง 50 หน่วย เพราะเป็นการซ้ำเติม เพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เพราะนโยบายดังกล่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ทำในสมัยเป็นรัฐบาล ไม่ได้เป็นภาระต่องบประมาณ แต่ผลักภาระไปให้ผู้ที่ใช้ไฟจำนวนมาก

โฆษก ครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลไม่เพียงพอและไม่ถูกจุด ที่มีการช่วยเหลือด้านภาษีด้วยการนำส่วนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ซึ่งแทบจะไม่มีผลในการลดภาษีเลย จึงเสนอให้นำรายจ่ายทิ่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงมาหักออกจากภาษีสุทธิที่ต้องจ่ายในปีนั้นแทน โดยให้มาตรการทั้งหมด รวมถึงการให้เงินกู้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ 7 จังหวัดตามที่ ครม.มีมติ เพราะเอสเอ็มอีนับแสนรายกำลังต้องปิดกิจการลง จากผลกระทบในเรื่องค่าแรง 300 บาท

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก ครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ แถลงมติ ครม.เงาเกี่ยวกับการอนุมัติหลักการของ ครม.ในวันที่ 10 เม.ย. 2555 ให้ตั้งเงินกู้ 1.3 หมื่นล้านบาทสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเรื่องเขื่อนแม่วงก์มีการศึกษาตั้งแต่ปี 2525 พบว่าการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่ผ่านมาตลอด แต่ทำไมในรัฐบาลชุดนี้จึงมีการอนุมัติหลักการให้เงินกู้ เมื่อติดตามเหตุผลก็พบว่าทางกรมชลประทานอ้างถึงปัญหาน้ำท่วมจากการศึกษาของ กยอ.และ กบอ.ค้านกับภาคประชาสัมคมที่ยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวน้ำไม่ท่วม การสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ครม.เงาจึงตั้งข้อสังเกตว่าการอนุมัติครั้งนี้อาจต้องการให้มีการศึกษาอีไอเอและเอชไอเออีกครั้ง เพื่อใช้งบประมาณ 200-300 ล้านบาท ถือเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม เพราะรู้อยู่แล้วว่าแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ อีกทั้งไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบอีไอเอและเอชไอเอด้วย

นอกจากนี้ ครม.เงามีความกังวลเกี่ยวกับการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ที่มีความไม่เสมอภาคกับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ได้รับ 7.75 ล้านบาท อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่ระบุเฉพาะเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ และไอปาแยเท่านั้น ทำให้ประชาชนอีกหลายพันครอบครัวที่ได้รับความสูญเสียจากผู้ก่อความไม่สงบ ไม่ได้รับการเยียวยา ทำให้มีคำถามถึงความเป็นธรรมว่า ทำไมคนที่ชุมนุมในพื้นที่ที่ภาครัฐประกาศห้ามกลับได้รับการเยียวยา 7.75 ล้าน ขณะที่ประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่ภาครัฐสนับสนุนไม่ให้ทิ้งพื้นที่ กลับไม่ได้รับการดูแลในลักษณะเดียวกัน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม จึงอยากให้ ครม.ให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้ด้วย และเสนอให้รัฐบาลใช้โครงสร้างของ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการใหม่ขึ้นมาซ้ำซ้อน รวมทั้งเชิญ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่กับ ส.ส.พรรคเพื่อรับฟังปัญหาเชิงลึกพร้อมกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น