xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” จี้ทบทวนนโยบายพลังงาน-จำนำข้าว ทำ ศก.แย่ แฉ ปตท.ฟันกำไร 64%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“ผู้นำฝ่ายค้าน” หวังผลโพลระบุรัฐบาลสอบตกแก้เศรษฐกิจจะช่วยกระตุก “ปู-โต้ง” รับความจริง ปล่อยวางการเมือง มุ่งแก้ปัญหาประชาชน ระบุ 3 สัญญาณอันตรายเศรฐกิจเสี่ยง ทั้งเงินเฟ้อพุ่ง-ขาดดุลการค้า-ปัญหาหนี้สาธารณะ จี้ทบทวนนโยบายพลังงาน-จำนำข้าว ทำ ปชช.อยู่กับเงินเฟ้อ จนเศรษฐกิจเสียหาย พร้อมถามทำไมไม่ยอมให้ ปตท.ลดกำไรเพื่อชาวบ้าน ทั้งที่ไตรมาสแรกฟันกำไรถึง 64% อัดรัฐกินบุญเก่าทำลายความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลนำผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ ที่ระบุความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ว่ารัฐบาลสอบตกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องเตือนสติ และยอมรับความเป็นจริงเพื่อทบทวนนโยบายที่ผิดพลาด เนื่องจากเสียงสะท้อนดังกล่าวเป็นเรื่องของภาพรวมที่มีความห่วงใยในเรื่องฐานะทางเศรษบกิจ เช่น เงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง ทิศทางการบริหารหนี้ ซึ่งเป็นผลพวงจากหลายนโยบายของรัฐบาลจะต้องทบทวน เนื่องจากทางผู้รู้ก็มีความห่วงใยทั้งสิ้น

“ผมยืนยันว่านโยบายพลังงานหรืออีกหลายโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมากแต่ได้ผลน้อยควรจะทบทวนเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในความเสี่ยง โดยสิ่งที่ควรทบทวนทันที คือ นโยบายจำนำพืชผลการเกษตร เพราะเป็นนโยบายที่กำลังจะสร้างภาระงบประมาณมากและทำลายกลไกตลาด รวมทั้งนโยบายพลังงานที่กำลังซ้ำเติมประชาชน ทำให้ภาวะเงินเฟ้อและของแพงรุนแรงขึ้น เป็นเรื่องหลักที่รัฐบาลต้องทบทวนทันที”

ส่วนที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัรฐมนตรี และ รมว.คลัง อ้างว่าสินค้าราคาแพงและภาวะเงินเฟ้อไม่ได้เป็นผลมาจากนโยบายที่ผิดพลาด แต่เป็นเพราะไทยเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดจึงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ของแพงมีหลายปัจจัย ตนไม่อยากให้รัฐบาลกังวลในแง่มุมของการเมืองมากจนเกินไป เพราะไมมีใครบอกว่าปัญหาเหล่านี้มาจากรัฐบาลล้วนๆ เพราะมีปัญหาจากหลายปัจจัยแต่ประเด็นคือ อะไรที่รัฐบาลพึงกระทำขอให้ทำ เช่น ทบทวนนโยบายพลังงาน ซึ่งในรัฐบาลอื่นราคาน้ำมันตลาดโลกเท่านี้ก็สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลได้ กองทุนน้ำมันก็อยู่ได้ รัฐบาลนี้จึงควรไปดูแนวทางการบริหารที่ผ่านมาว่าทำอย่างไรและทำตามนั้น หรือนโยบายที่จะช่วยดูโครงสร้างสินค้าบางตัวที่รัฐบาลยืนยันเองว่าต้นทุนถูกกว่าในบางยุคแต่ทำไมประชาชนซื้อของที่ปลายทางในราคาแพงขึ้น เป็นเรื่องการบริหารจัดการที่รัฐบาลต้องไปดู

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลควรแก้ไขอย่าพยายามถกเถียง ทะเลาะว่าตรงนั้นแพงจริงหรือไม่ เพราะประชาชนสะท้อนปัญหาอย่างต่อเนื่องผ่านการสำรวจของโพลสำนักต่างๆ ดังนั้น หากมุมมองของนายกิตติรัตน์ ซึ่งเป็นรองนายกฯ กุมทิศทางเศรษฐกิจมีแนวคิดแก้ตัวมากกว่าแก้ไข ก็จะยิ่งทำให้คนขาดความเชื่อมั่นและขาดความหวัง เพราะอย่างน้อยถ้ายอมรับว่ามีปัญหาแก้ถูกหรือผิดก็ยังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าปฏิเสธว่าไม่มีปัญหาตั้งแต่ต้นก็จะทำให้คนไทยไม่มีคความหวังว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาหรือไม่

“ผมคิดว่าบางเรื่องต้องถามกลับไปที่รัฐบาลว่าทำไมให้ภาระทั้งหมดมาอยู่กับประชาชน จะเป็นไฟฟ้า พลังงานด้านอื่นๆ ขณะที่บอกว่าต้องเป็นห่วงฐานะของ ปตท. ซึ่งกำไรเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกถึง 64% แต่บอกประชาชนต้องปรับตัวทำไมไม่คิดกลับกันบ้างว่าประชาชนน่าจะมีฐานะที่ดีกว่านี้ มีภาระน้อยกว่านี้ แล้ว ปตท.ลดกำไรลงบ้าง ถ้ารัฐบาลปล่อยให้ตัวต้นทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่องโดยน้ำมันขยับขึ้นทุก 2 สัปดาห์ทุกเดือน และยังต้องยกเลิกการเว้นภาษีเพราะประกาศเอาไว้ มีความคิดที่จะเพิ่มภาระแก๊สหุงต้มในภาคครัวเรือนอีก 7.50 บาทในเดือนตุลาคม ก็จะทำให้การคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้อ การเก็งเรื่องราคาจะทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้น ถ้าไม่ทบทวนภาพใหญ่ในการบริหารจัดการภาวะความไม่เชื่อมั่นและเงินเฟ้อจะรุนแรงมากขึ้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินว่าเงินเฟ้อจะรุนแรงขึ้นจนหลุดกรอบเป้าหมายที่วางไว้ 4-5% หรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก่อนจะไปถึงตรงนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาใช้ยาแรงขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ภาระของประชนจะสูงตามไปด้วย จึงควรเร่งคลี่คลายปัญหานี้ก่อน แต่ถ้าภาวะเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมายก็จะกระทบหลายด้าน คือ กระเป๋าประชาชนกระทบโดยตรงอยู่แล้ว แต่ในแง่ของการบริหารจัดการเศรษฐกิจระดับมหภาคก็จะยากขึ้นเวลาที่เงินเฟ้อสูง ที่สำคัญความเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลก็จะลดลงด้วยถ้าเงินเฟ้อหลุดจากเป้าหมายที่วางไว้

ทั้งนี้ เห็นว่าขณะนี้มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจที่ต้องระมัดระวัง คือ การขาดดุลการค้า ภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพ โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ไขทันที คือเรื่องค่าครองชีพ และฐานของประเทศการเงิน การคลัง ดุลการค้าที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าบางปัจจัยรัฐบาลจะควบคุมไม่ได้ แต่ต้องทำในสิ่งที่ควบคุมได้ เช่น นโยบายพลังงาน หรือกรณีที่กำลังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายจำนำต้องทบทวน ตนเป็นห่วงว่ารัฐบาลกำลังกินบุญเก่าที่มีการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจไว้ เพราะที่ผ่านมาเราผ่านหลายเหตุการณ์ทั้งวิกฤตการเมือง และเศรษฐกิจมาได้จนนานาประเทศยอมรับในความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของไทย แต่ถ้าบริหารจนสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศทรุดลงไปเรื่อยๆ ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ดุลการค้า และหนี้สาธารณะ จะทำให้เราอยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า การที่นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาของแพงเป็นครั้งที่สองแล้วก็อยากให้ยอมรับปัญหาไม่ใช่บอกว่าไม่มีปัญหาเพราะจะไม่มีความหวังว่ารัฐบาลจะแก้ไข ทั้งนี้ ตนอยากให้รัฐบาลปล่อยวางเรื่องการเมืองยอมรับว่ามีปัญหาและแก้ไขให้ประชาชนโดยตั้งหลักให้ถูกเริ่มทบทวนนโยบายก่อน ซึ่งตนอยากให้นายกิตติรัตน์ เปิดใจกว้างรับฟังเสียงทักท้วงและคำแนะนำจากฝ่ายต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงดีกว่าเดินหน่านโยบายที่มีป้ญหาซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น จึงหวังว่าผลสำรวจของกรุงเทพโพลจะเป็นเครื่องเตือนสติรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหา เพราะนักเศรษฐศาสตร์ที่แสดงความเห็นไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น