“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ ถกปัญหาสินค้าราคาแพง สภาพัฒน์ แจงสินค้าเกษตรราคาตก แต่สินค้าด้านอื่นกลับพุ่ง ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติระบุนโยบายเพิ่มค่าแรง 300 บาทต่อวันของรัฐบาล ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น “ปู” ข้องใจรับประทานอาหารนอกบ้านถูกกว่าในบ้าน สั่ง ก.พาณิชย์วิเคราะห์สินค้าต้นทาง ปลายทาง
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (16 มี.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมด้วย โดยได้เปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังได้ประมาณครึ่งชั่วโมง และทันทีที่เริ่มประชุมนายกรัฐมนตรี ได้ให้แต่ละหน่วยงาน รายงานสถานการณ์ราคาสินค้าในขณะนี้
นายอาคมกล่าวรายงานสถานการณ์ในขณะนี้ว่า ในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.0 และ 2.9% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ตัวเลขอยู่ที่ 3.4% จะเห็นว่าเงินเฟ้อปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 คาดว่าสืบเนื่องจากปัญหาอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นนั้นคือหมวดอาหาร และหมวดที่ไม่ใช่อาหาร
ในส่วนของสินค้าด้านการเกษตรราคาตัวเลขลดลง แต่ในส่วนของเนื้อสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นถึง 12% เครื่องปรุงอาหารราคาเพิ่ม 11% อาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้านราคาเพิ่มขึ้น 12.4% บริโภคนอกบ้านเพิ่ม 5.3% ดังนั้น เห็นได้ว่ากินในบ้านแพงกว่ากินนอกบ้าน เนื่องจากอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ราคาเพิ่มขึ้นสูงมาก
สำหรับราคานำมันเชื้อเพลิงนั้น นายอาคมกล่าวว่า ทางรัฐบาลมีมาตรการในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและราคาก๊าซอยู่ จึงทำให้ราคาต้นทุนไม่เพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งนี้ต้องดูว่าเมื่อรัฐบาลยกเลิกมาตรการตรึงราคาแล้วจะส่งผลให้หมวดพลังงานละก๊าซจะเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่
ดังนั้นจึงมีมาตรการสองส่วนที่จะช่วยลดแรงกดดันของเงินเฟ้อคือ เรื่องการกระจายสินค้าราคาถูกอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเรื่องธงฟ้าจะมีส่วนช่วย และมาตรการการบริการรถเมล์ รถไฟฟรี ซึ่งจะสิ้นสุดในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนไม่เพิ่มสูงมาก รวมถึงการต่ออายุมาตรการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งจะสิ้นสุด 31 มีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นมาตรการดังกล่าวน้ำมันดีเซลราคาจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้น รถสาธารณะจะปรับราคาเพิ่มขึ้นตาม นอกจากนี้ในเรื่องค่าแรง 300 บาทที่จะมีผลเดือนเมษายนนี้จะถือเป็นอีกตัวหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในเดือนพฤษภาคม
ขณะที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ค่าซัพพลายในปีนี้ยังสูงกว่าต้นปี 2554 สืบเนื่องมาจากโรงงานอุตสาหกรรมประสบปัญหาอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา ส่งผลให้สินค้าขาดตลาด หากโรงงานอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวเร็ว สินค้าต่างๆ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ขอฝากไปยังสภาพัฒน์ฯและกระทรวงพาณิชย์ไปวิเคราะห์และดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องราคาอารหารปรุงในบ้านและนอกบ้านด้วย เนื่องจากเห็นว่าอาหารที่ปรุงในบ้านกับนอกบ้านไม่น่าจะต่างกันมากขนาดนี้ โดยให้ไปเช็คราคาเนื้อสัตว์ที่ขายยังท้องตลาดว่ามีราคาต้นทุนเท่าใด
ด้าน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบราคาสินค้าที่ปลายทางไม่ได้ดูที่ต้นทุน แต่เราจะพยายามสร้างสมดุลการขายปลีกให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม ซึ่งได้มีการสำรวจตลาดขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯหลายแห่งเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าราคาขายปลีกสินค้าหลายรายการลดลง โดยเฉพาะเนื้อหมู ไก่ ผักบุ้ง มะระขาว มะระจีน มะขามเปียก แตงกวา ผักกวางตุ้ง ราคาลดลง 1-40% แต่ยอมรับว่าไข่ไก่ยังมีราคาสูง ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า 10 รายการของสินค้าภาคการเกษตรราคาถูกลงจากปี 2554 รวมทั้งราคาอาหารสดก็ลดลง และยังไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบราคาต้นทุนด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กกระทรวงพาณิชย์ช่วยดูช่วงของการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางว่ามีปัญหาอย่างไร ที่ส่งผลกระทบให้สินค้ช้าราคาเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ นายประสารกล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจะมี 3 ส่วนด้วยกัน คือ ปัจจัยที่มีผลกระทบทางด้านอุปทาน ส่วนที่สองปัจจัยที่มีผลกระทบทางด้านดีมานด์หรือความต้องการ และปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการคาดหวังของประชาชน ของผู้ประกอบการ ซึ่งจะเกี่ยวข้องทางด้านจิตวิทยา ที่หากคิดว่าข้าวของแพงก็จะทำให้เกิดเป็นลูกโซ่จนทำให้สินค้ามีราคาที่แพงขึ้น โดยในส่วนของด้านซับพาย โดนเฉพาะหลังจากน้ำท่วมสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับพืชไร่ อาหาร โดยทางกระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒน์ได้มีการประเมินให้ทราบว่า ราคามีแนวโน้มลดลงภายหลังจากน้ำท่วม แต่ตัวที่ต้องระวังมากในขณะนี้คือ เรื่องราคาน้ำมัน โดยเฉพาะในส่วนของต่างประเทศอันเกิดปัญหาจากการค่ำบาตรของอิหร่าน และขอให้ทางซาอุอาระเบียใช้น้ำมันสำรอง เพราะนักวิเคราะห์ในตลาดเห็นว่าปริมาณน้ำมันสำรองในตลาดลดลงการเกร็งราคาทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น เพราะฉะนั้นทางด้านซัปพลายที่ต้องระวังเวลานี้คือราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่ในด้านที่เกี่ยวข้องกับอาหารค่อนข้างที่มีแนมโน้มราคาลดลง
“สำหรับทางด้านดีมานด์หรือความต้องการ ต้องขอเรียนนายกฯ โดยตรงว่า เรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การเพิ่มรายได้ก็มีส่วน การเพิ่มอำนาจซื้อทำให้ทางด้านดีมานลดลงไป รายจ่ายรัฐที่จะใช้ในรูปแบบต่างๆ เข้ามาทางด้านดีมาน รายได้คนเพิ่มก็มีโอกาส ประกอบกับการฟื้นฟูภายหลังจากน้ำท่วมค่อยๆไปถึงไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะมีแรงกดดันทางด้านดีมานในไตรมาสที่สามเวลานี้ก็มีแนวโน้มไปทางด้านนั้น ส่วนเรื่องของค่าแรงก็จะมา 2 ทาง ด้านหนึ่งในเรื่องของรายได้และอีกด้านหึ่งเรื่องต้นทุนการผลิต ซึ่งทางด้านซับพายน้ำมันจะเป็นปัจจัยลบอาหารจะเป็นปัจจัยบวก และค้าแรงจะเป็นปัจจัยลบ โดยผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าแรงลูกน้องเพิ่ม” ผู้ว่าธปท.กล่าว
ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในลักษณะที่โต้แย้งว่า “ขออนุญาตถามนิดเดียว อย่างค่าแรงที่มองว่าเป็นปัจจัยลบทางด้านต้นทุน มองหรือไม่ว่าค่าแรงขึ้นจากฐานราก การขึ้นจากชั้นผู้มีรายได้น้อยก็จะมีเงินจ่ายในเรื่องของการยังชีพ ตัวนี้จะกลับมาในลักษณะพอดีกันหรือเปล่า”
ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องของเอาต์พุต-อินพุต คือทางด้านอินพุตถ้ามันแพงแต่ถ้าเขาเก่งขึ้น ผลิตได้มากขึ้นด้วยความชำนาญ นายจ้างก็เอื้ออำนวยในเรื่องกำลังการผลิต หากตรงนี้ขึ้นได้เสมอตัวกับค่าแรงที่เพิ่มอย่างนี้เจ๋งเลย เท่ากับเป็นการยกระดับฐานะคนให้ดีขึ้น อย่างนี้ประเทศเจริญเลยจะแข่งขันกับชาวบ้านได้ โดยรวมแล้วเห็นด้วยกับทิศทางการยกระดับค่าแรงเพราะเห็นว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมาเพราะเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบไม่ได้รับสัดส่วนของความเจริญ
แต่ขอเรียนนายกฯ ตามตรงว่าเราเพิ่มค่าแรงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ในเรื่องของการผลิตก็ต้องมีด้วย ความชำนาญเทคโนโลยีที่เราใช้ในช่วงระยะสั้นเราอาจจะตามไม่ทัน แต่ในระยะยาวก็จะเป็นโจทย์ที่ถ้าทายทุกคนต้องช่วยกัน พอค่าแรงขึ้นเราก็ต้องเพิ่มเรื่องศักยภาพเทคโนโลยีก็จะไปสู่ภาวะที่เจริญขึ้น การกระจายรายได้ก็จะดีขึ้น แต่ในระยะสั้นปัญหาเงินเฟ้อมีแน่นอน ผู้ประกอบการก็ยังมีต้นทุนที่เพิ่ม ด้านดีมานเขาก็มีรายได้ แต่ทั้งหมดไม่ถึงกับสร้างปัญหาให้กับภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในเรื่องการคาดการณ์เงินเฟ้อ จะมีการสำรวจเรื่อยๆ สำรวจผู้ประกอบการ สำรวจผู้บริโภคว่า 3 เดือนข้างหน้า 6 เดือนข้างหน้า และ 9 เดือนข้างหน้าคิดว่าเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร ต้นทุนเป็นอย่างไรเพราะตรงนี้สำคัญ เพราะถ้าเขาคิดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มผู้ประกอบการก็จะไปตั้งราคาเพิ่ม ฝ่ายผู้บริโภคก็จะกักตุน ตัวนี้ต้องพยายามบริหารจัดการ แต่สิ่งที่เราเป็นห่วงเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งมีการประมาณการว่า ทุก 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาน้ำจะเพิ่มเข้าไปทำดัชนีเงินเฟ้อเพิ่มประมาณ 0.3 -0.4 สำหรับกำลังการบริหารจัดการเป็นการคาดการณ์ให้คนตกใจถือเป็นตัวร้าย ถ้าเมื่อไหร่ใครไปคิดว่า6 เดือนข้างหน้า 12 เดือนข้างหน้าของจะแพงมันก็ยุ่งกลายเป็นลูกโซ่พันจนแก้ไม่ออก
ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวต่อว่า เรื่องของนโยบายจะมี 2 แบบคือนโยบายทั่วไปทางด้านมหภาพ อัตราดอกเบี้ย เรื่องของภาษี และอีกแบบคือเฉพาะจุด ความเห็นของ ธปท.เห็นว่าขณะนี้ยังไม่น่าจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายประเภททั่วไปที่จะเข้าไปจัดการในเรื่องเงินเฟ้อ เพราะที่เราดูแล้วจากการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อก็มีเสถียรภาพพอสมควร แม้ว่าสถานการณ์น้ำมันจะขึ้นไป แต่คิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่โตที่จะทำให้ข้าวของแพงทั้งระบบ ประกอบกับราคาอาหารมีแนวโน้มลดลง เรื่องค่าแรงแม้จะมีผลบ้างแต่ไม่ถึงกับว่าจะรุนแรง แต่อาจจะมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเฉพาะจุดเวลานี้เห็นชัดใครที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันโดนแน่กับราคาย้ำมันที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าจะดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้จะต้องทำเฉพาะจุด ซึ่งเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะจัดโครงสร้างราคาน้ำมันเป็นเรื่องที่ดี เหมือนกับนโยบายสาธารณะทั่วไป เรื่องของจังหวะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเห็นด้วยกับเลขาฯ สภาพัฒน์ที่ว่าในจังหวะนี้อะไรที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือกระตุกให้ราคาน้ำมันขึ้นอยากให้รอจังหวะสักหน่อย นโยบายทั่วไปใน 6 เดือนข้างหน้ายังไม่มีความจำเป็นและไม่ควรไปโอเวอร์รีแอ็ค
จากนั้นนายกฯ กล่าวว่า เราเห็นตรงกันว่าเราจะประคองในช่วงไตรมาสสองไปยังไตรมาสสามก่อนที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติจะแก้ไขปัญหาอย่างไรก็จะย้อนไปถามแต่ละกระทรวง ซึ่งถ้าย้อนกลับมาเรื่องบของน้ำมันถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ ต้องไล่กลับมาว่ามีผลต่อปลายทางตรงไหนบ้าง เราก็จะแก้เป็นจุด ที่ทางผู้ว่าฯ ธปท.ให้ความเห็นไว้ก็น่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด ที่สำคัญอยากฝากกระทรวงพาณิชย์ดูเรื่องราคาสินค้า เพราะเป็นห่วง ซึ่งบทบาทของกระทรวงพาณิชย์จะต้องดูแลในเรื่องของราคาปลายทางอาจจะรู้สึกอย่างนี้และไม่อยากลดราคาลงมาจะต้อมีมาตรการดูแล โดยเฉพาะเรื่องห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทาน ตัวนี้สำคัญเพราะเราเห็นว่าจากต้นทาสงเราไม่ได้ขึ้น ราคาพืชผลไม่ได้ดีขึ้น เพราะยังเห็นพี่น้องประชาชนมาปิดถนน เพราะอยู่ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันปลายทางก็ไม่ได้ขึ้น ซึ่งต้องมาดูช่วงกลาง ซึ่งต้องดูให้ได้ว่าขึ้นตรงไหน และต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรมเป็นโจทย์หนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์ต้องรับไป
ขณะที่ นายกิติรัตน์กล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจจะประสานงานกระทรงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงานในการเพิ่มภาคการผลิต ซึ่งทั้งสองกระทรวงได้ดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะนโยบายค่าแรง 300 บาท มีความชัดเจน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การพัฒนาฝีมือแรงงาน เพราะฉะนั้น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่จะเริ่ม 1 เม.ย.นี้จะมีการประสาน 2 กระทรวงนี้ เพื่อเร่งนโยบายเพื่อให้กลายเป็นผลประโยชน์ในด้านดี
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การประชุมดังกล่าวใช้เวลาในการหารือประมาณ 2 ชั่วโมง