xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างนี้สิเรียก “สองมาตรฐาน” ได้ไหม? (ตอนที่ ๓)

เผยแพร่:   โดย: คมสัน โพธิ์คง

คมสัน โพธิ์คง
สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


เมื่อวานนี้ผมได้ตั้งข้อสงสัยในการตีความรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีของนายสัก กอแสงเรือง ว่าการตีความการบังคับใช้เรื่องการนับอายุของวุฒิสภาและการมีสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่เป็นปัญหาในช่วงเริ่มแรกของการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๐ โดยในขณะนั้นมีวุฒิสภาสองชุดเกิดขึ้น คือวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ และวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จะนับอย่างไร และการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งสิ้นสุดไปแล้ว มาใช้บังคับแก่การนับอายุของวุฒิสภาที่นำมาวินิจฉัยข้อห้ามของการดำเรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๑๑๕(๙) โดยไม่พิจารณามาตรา ๒๙๖ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ทำได้หรือไม่

โดยปกติแล้วการนับวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ดังสังเกตุจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๐๔ ซึ่งกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มสมาชิกภาพนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้โดยมีหลักการว่าวันเลือกตั้งคือ วันเลือกตั้งทั่วไปเพียงวันเดียวไม่ถือเอาวันเลือกตั้งใหม่เป็นวันเลือกตั้งและถือว่าวันเลือกตั้งเป็นวันที่ประชาชนผู้เลือกตั้งยินยอมพร้อมใจมอบอำนาจให้ผู้แทนที่ตนเลือกตั้งเข้าไปเป็นผู้แทนของราษฎรในรัฐสภา แต่เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีที่มาสองประเภทคือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนกับมาจากการสรรหาจากการเสนอชื่อขององค์กรต่างๆที่ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและไม่แสวงกำไร ดังนั้นสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาจึงมีความแตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น มาตรา ๑๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาเริ่มตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหา

คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องทำความเข้าใจว่า วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กับวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีความแตกต่างกันในเรื่องที่มาของสมาชิกและอำนาจหน้าที่ โดยสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมน฿ญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจำนวน ๒๐๐ คน โดยให้แต่ละจังหวัดมีสมาชิกวุฒิสภาขั้นต่ำจำนวนจังหวัดละ ๑ คน และให้คำนวณจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามสัดส่วนของฐานประชากรแต่ละจังหวัด ส่วนสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและการสรรหาจากการเสนอชื่อของกลุ่มองค์กรต่างๆ รวมเป็นจำนวน ๑๕๐ คน จึงต้องถือได้ว่า สมาชิกวุฒิสภาและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กับ สมาชิวุฒิสภาและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภาและวุฒิสภาที่มีฐานมาจากรัฐธรรมนูญเดียวกัน เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ไม่ได้รองรับ ให้สมาชิกวุฒิสภาและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ให้มีทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐(เนื่องจากไม่มีอยู่ในขณะนั้น) ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นสมาชิกวุฒิสภาและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้ การที่จะนำไปใช้เพื่อตีความเป็น “สมาชิกวุฒิสภา” ภายในคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น” ในมาตรา ๑๑๕(๙) จึงไม่สามารถนำไปใช้ได้ เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว การจะนำบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๓๑๕ วรรคห้า(๒) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่กำหนดอายุของวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ ให้เริ่มเมื่ออายุของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ สิ้นสุดลง และไปกำหนดให้เลือกตั้งก่อนวุมิสภาตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๓๔ สิ้นอายุเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันซึ่งเป็นข้อยกเว้นในการกำหนดวาระปกติของวุฒิสภา ตามมาตรา ๑๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จึงไม่สามารถบังคับใช้เพื่อนับการพ้นจากตำแหน่งของนายสัก กอแสงเรืองว่าพ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภามาไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้รับการเสนอชื่อตามมาตรา ๑๑๕(๙) ได้ ด้วยเหตุผลของการตีความคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น” และเหตุผลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลงไปแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับได้อีก

ผมไม่แน่ใจว่าการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับการตรวจสอบการมีคุณสมบัติและการไม่มีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกรัฐสภาจะถือได้ว่า เป็น “มาตรฐานเฉพาะ” ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่สามารถวัด “มาตรฐาน” ที่แน่นอนได้ ด้วยปรากฏการณ์ในอดีตที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กระทำการกำหนด “มาตรฐาน” ไว้แตกต่างกัน จึงขอย้อนภาพไปถึงเรื่องเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาจำนวน ๒ เรื่อง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เสนอต่อศาลฎีกาและเสนอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาปัญหาเรื่องการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภา เรื่องแรก กรณีของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกา(แผนกคดีเลือกตั้ง) ที่ ๒๑๒๒/๒๕๕๒ ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง กับ นิติบุคคลอาคารชุดเซ็นจูเรียนปาร์ค ที่ ๑ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ ๒ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑/๒๕๕๓ ระหว่าง ประธานวุฒิสภา กับนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปราจีนบุรี

ในคดีแรกคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่านิติบุคคลอาคารชุดเซ็นจูเรียนปาร์คที่เป็นผู้เสนอชื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ใช่หน่วยงานที่ดำเนินการเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์อันยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภา ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๒๗ ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเจาะจงว่า ต้องเป็นองค์กรที่ดำเนินการเพื่อสังคมหรือสาธารณประโยชน์ และผลการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาถือเป็นที่สุด เมื่อไม่ปรากฏว่ากระบวนการสรรหามิได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงให้ยกคำร้อง

ในคดีที่สองคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เสนอเรื่องประธานวุฒิสภาเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกภาพของนายสุรเดช จิรัฐิเจริญ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปราจีนบุรี สิ้นสุดลง ตามมาตรา ๑๑๙(๔) เพราะมีลักษณะต้องห้ามเนื่องจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๑๕(๖) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ตามที่มีผู้ร้องคัดค้นการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปราจีณบุรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่านายสุรเดช จิรัฐิเจริญ มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา ๑๑๕(๖) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สมาชิกภาพของการเป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงไม่สิ้นสุดลง ให้ยกคำร้อง

ผมมีความเห็นว่า “มาตรฐาน” การวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งอยู่ที่ตรงไหน ในเมื่อกรณีของนายสุรเดช จิรัฐิเจริญ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปราจีนบุรี มีปัญหาเกี่ยวกับการมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑๕(๖) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ (เป็นเหตุ ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๑๙(๔)) และกรณีของนายสัก กอแสงเรือง ที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งตีความอย่างผิดพลาดและกล่าวหาว่ามีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑๕(๙) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งกรณีของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็ถูกร้องให้มีการเสนอเรื่องต่อเป็นกรณีของการไม่มีคุณสมบัติของผู้เสนอชื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และกรณีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็มีปัญหาเกี่ยวกับการมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ทั้งหมดถูกเสนอต่อศาลที่แตกต่างกัน ทั้งที่บทบัญญัติมาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๙๑ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๖ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๑๐) หรือ (๑๑) หรือมาตรา ๑๑๙ (๓) (๔) (๕) (๗) หรือ (๘) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง”


คณะกรรมการการเลือกตั้งคงต้องเข้าใจนะครับว่ามาตรา ๙๑ ในทางกฎหมายเรียกว่า “บทกฎหมายเฉพาะกรณี” ไม่ใช่ “บทกฎหมายทั่วไป” เมื่อมีการกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาเพราะเหตุขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๖ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๑๐) หรือ (๑๑) หรือมาตรา ๑๑๙ (๓) (๔) (๕) (๗) หรือ (๘) แล้วต้องดำเนินการตามมาตรา ๙๑ คือต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่อาจนำบททั่วไปในการคัดค้านการเลือกตั้งและการสรรหาเพื่อให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ที่ต้องถูกพิจารณาโดยศาลฎีกา มาใช้ได้อีก

ทำอย่างนี้สิเรียก “สองมาตรฐาน” หรือ “ไม่มีมาตรฐาน” ครับ ?
กำลังโหลดความคิดเห็น