เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกกับนักข่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการพิจารณาวาระทราบจร เรื่องที่ 9 รับทราบรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน
โดยเป็นการนำเสนอเอกสารรายงานที่ กมธ.ฯได้ขอให้ทีมงานวิจัยสถาบันพระปกเกล้าไปศึกษา และกมธ.วิสามัญฯ ได้นำรายงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีมติให้ส่งรายงานดังกล่าวให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกกับนักข่าวว่า จะยังไม่นำรายงานดังกล่าวเข้าที่ประชุมครม. และขอให้ นายงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป. ) ไปศึกษาก่อน
แต่นายยงยุทธ บอกกับนักข่าวว่า จะปิดจ๊อบ"ปรองดอง" ภายในเดือนเม.ย.นี้
ดูเหมือนว่า รัฐบาลพยายามดันทุรังผลักดันเรื่องปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุด
ทั้งๆที่มีเสียงวิจารณ์จำนวนมาก
หลังจากที่ ดีเอสไอ “ปิดจ๊อบ” คดี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บรรณพจน์ ดามาพงศ์ พานทองแท้ ชินวัตร และ พินทองทา ชินวัตร เกี่ยวกับการให้การเท็จ และปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นชินคอร์ป
กรมสรรพากร ก็ประกาศไม่เก็บภาษีหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จาก ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท ที่หมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากกรมสรรพากร ยึดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ตัดสินว่า หุ้นเป็นของ ทักษิณ ไม่ใช่นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร และการขายหุ้นดังกล่าว เป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่ต้องมีการเสียภาษี
แต่ ดีเอสไอ ไม่ยึดตามคำพิพากษา จึงไม่ดำเนินคดีต่อ นั่นหมายความว่า พ่อค้าคดีความแบบทักษิณ กำลังกลายเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ทั้งหมด แม้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ทักษิณชอบโกง ไม่มีใครไม่เชื่อว่า ทักษิณไม่ตะกละ ไม่โลภ และบ้าอำนาจ แม้กระทั่งเรื่องบนเตียงยังไม่เว้น
นั่นทำให้หลายคนเชื่อว่า ความตะกละของทักษิณ กำลังรุกล้ำเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรม และกฎหมาย ทักษิณ กำลังแก้กฎหมายให้ตัวเองถูกต้อง เพื่อให้การยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท เป็นโมฆะ
ทักษิณกำลังยำใหญ่รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตัวเองกลับมามีอำนาจโดยไม่ต้องมีองค์กรอิสระ และศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะศาลเหล่านี้ทำให้ทักษิณ ต้องนอนบนเครื่องบิน
ทักษิณ กำลังเอาครอบครัวชินวัตรทั้งตระกูลเดิมพัน กับการเปลี่ยนแปลงอำนาจครั้งนี้ หากพ่ายแพ้ ไม่ใช่เพียงแค่ทักษิณเท่านั้น แต่ผู้คร่ำหวอดทางการเมืองหลายคนเชื่อว่า คนในตระกูลชินวัตรทั้งหมด จะอยู่เมืองไทยไม่ได้ !!?
นั่นทำให้ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า การปรองดองไม่มีทางสำเร็จ เพราะความเดือดร้อนและความขัดแย้ง มีมหาศาล
ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ปัญหาการเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจก่อนหน้านี้ว่า
1. การเมืองปัจจุบันยุคของทักษิณ โดยทักษิณกลายเป็น 1 ใน 3 ของผู้มีบารมีทางการเมืองในช่วงหลัง พ.ศ.2500 ที่มีบทบาทเปลี่ยนโฉมการเมืองไทย ซึ่งได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
2. เกิดการเมืองรากหญ้า-ประชานิยม วิกฤติการเมืองไทยรุนแรง เพราะการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ที่รุนแรงที่สุดคือ การไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของอีกฝ่าย
3. การเมืองรากหญ้ามีความสำคัญต่อประชาธิปไตย การเมืองรากหญ้าเป็นดัชนีบ่งชี้พัฒนาการของสิทธิ เสรีภาพ ในสังคมไทย แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นก็ตาม ทั้งนี้ ประชานิยมน่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงในอนาคต
อย่างไรก็ตาม พลังรากหญ้า เสื้อแดงมีลักษณะเฉพาะการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการชุมนุมเป็นคราวๆ ยังไม่เป็นขบวนการการเมือง ไม่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองแต่อย่างใด แปลไทยเป็นไทย ก็คือ ความขัดแย้งระหว่างทักษิณ ครอบครัว-เสื้อแดงกับกลุ่มที่ไม่ใช่ทักษิณ
แต่ธีรยุทธ ก็ไม่ได้วิเคราะห์แนวโน้ม “การปรองดอง” เพราะดูเหมือนจะกลายเป็น “เหล้ายาดอง” ไปทุกวัน
นั่นคือจะเป็น “เหล้า” ก็ไม่เชิง จะเป็น “ยา” ก็ไม่ใช่ สุดท้ายก็กลายเป็น “ยาพิษ” ที่มาจากต้นไม้มีพิษของทักษิณ สอดคล้องกับบทสรุปจากการวิเคราะห์ของ ธีรยุทธ ที่ว่าไว้
1. ไม่มีทางออกจากการรอมชอมในระยะสั้น เพราะปัญหาฝังลึกมานาน ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีปากเสียงมานาน อีกฝ่ายศรัทธาในสถาบันที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานาน ต่างเชื่อว่า อีกฝ่ายจะล้มล้างหรือซ้ำเติมฝ่ายตน
2. การขยายตัวของขั้วทักษิณ-รากหญ้า มีโอกาสทำให้เกิดการแตกร้าวระดับโครงสร้างและสถาบันมากขึ้น
3. ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์หรือแม่บทความคิดใหม่ว่า ประเทศไทยควรเป็นอย่างไร ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง การปฏิรูปปรับปรุงสถาบัน องค์กร สำคัญๆ ต่างๆ ทั้งหมด
4. การเกิดขั้วทางอำนาจนี้ คงดำเนินต่อไปอีกยาวนาน มีโอกาสเกิดการชุมนุมประท้วงรุนแรงขึ้นได้อีก
ประเด็นสำคัญคือ รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นมาหลังจาก 19 กันยายน 2549 จนสามารถนำไปสู่การ “ให้อภัย” เหมือนที่พวกคางคกขึ้นวอ กำลังทำหน้าที่รัฐมนตรี และ ส.ส. บอกไว้อย่างนั้น
ลืมๆ กันไป แล้วนั่งกินเหล้าเคล้านารีด้วยกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยไปตามประสานักการเมือง..ความขัดแย้งเหล่านั้น ก็จะหายไปทันทีหรือ ??
เมียรับจ้างสร้างมวลชนยกฐานะทางการเงิน ทางสังคม แล้วให้ผัวเป็นส.ส. แล้วทุกอย่างกลับคืนสู่การเริ่มต้นใหม่กระนั้นหรือ ???
คำพูดที่อธิบายความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ได้ดีอย่างหนึ่งก็คือ คำอธิบายของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งกล่าวบรรยายพิเศษในงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ตอนหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า
"ผมเชื่อมั่นว่าชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมีสิทธิยึดถือเป็นของตนเองได้ พระสยามเทวาธิราชมีจริง ซึ่งพระสยามเทวาธิราชจะปกป้องคนดี สาปแช่งคนที่ไม่ดี คนที่ทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศไป ซึ่งผมเชื่ออย่างนั้น ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่ เป็นคุณธรรม จริยธรรมของแต่ละบุคคล"
ปัญหาคือ การปรองดองที่ดำเนินการทุกวันนี้ เป็นการทำความดีเพื่อแผ่นดินมีความสุขหรือไม่ ???
โดยเฉพาะการคืนเงินจากการยึดทรัพย์ให้ทักษิณ !??
“ หากมีการโละคดีของคตส. จริง ก็ถือว่าเป็นอัปมงคลกับประเทศ เพราะทำให้ประเทศเสียหาย เพราะทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม คดีที่ตัดสินแล้วต้องถือว่าเด็ดขาดจึงจะถูกต้อง” นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส. ) ตอบโต้ถึงความพยายามยกเลิกผลทางคดีของคตส. ภายใต้ข้ออ้างเรื่องความปรองดอง
นาม บอกว่า " คดี คตส. ที่ทำแล้วศาลตัดสินตัดสินแล้ว จะเลิกได้ไง มีทางเดียวเท่านั้นคือ ขออภัยโทษ มารับโทษซะก่อน แล้วขออภัยโทษ ไม่ใช่ว่าจะมายกเลิกว่า ไม่ผิด อันนี้มันเป็นแบบพวกมากลากไป คิดดีแล้วหรือว่าทำอย่างนี้ถูกกฎหมายหรือเปล่า ผมเป็นห่วงนะ ว่าจะติดตะรางนะ พวกนี้ คิดถ่องแท้แล้วหรือ ว่าทำได้ ที่จะออกกฎหมาย คิดแบบพวกมากลากไป ผมเตือนไว้นะว่า ทำได้หรือเปล่า ดูกฎหมายถ่องแท้หรือยัง ไม่ใช่คิดว่ามีพวกมากจะลากกันไปเอาพวกเสียงในสภาเป็นเสียงชี้ขาด”
แม้กระทั่ง ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังกล่าวว่า “ ดีแล้วที่ประเทศไทยมีระบบศาลคู่ และเห็นว่าไม่ควรยุบศาลปกครอง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถูกออกแบบมาเพื่อขจัดปัญหาของสังคมไทยโดยแท้ จึงไม่เห็นเหตุผลอะไรที่ต้องยุบทั้งสองศาล
“วันนี้มีคนไม่พอใจระบบศาล ถึงต้องการให้แก้ไข แต่คนที่ต้องการให้ยุบก็คือ คนที่ได้รับผลกระทบจากศาล จึงต้องย้อนไปถามคนคนนั้นว่า ต้องการอะไร” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบาย
“สวัสดิ์ โชติพานิช” อดีตประธานศาลฎีกา และหนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดปัจจุบัน อธิบายการปรองดองโดยการคืนเงิน และนิรโทษกรรมให้ ทักษิณ ว่า
“ในทางข้อกฎหมาย การออกกฎหมายนิรโทษกรรม หรือรัฐบาลจะเรียกว่ากฎหมายปรองดองก็ตาม สามารถล้มล้างคำตัดสินของศาลฎีกาและศาลยุติธรรมได้ทุกศาล แม้จะเป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ก็ตาม ทั้งหมดอยู่ที่การเขียนบทบัญญัติในกฎหมายนิรโทษกรรม สามารถกระทำได้ เหมือนเช่นกรณี การออกพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ที่เป็นการขออภัยโทษให้กับนักโทษที่ถูกศาลตัดสินจำคุกให้ออกมาก่อนกำหนด”
แต่อดีตประธานศาลฎีกาท้วงติงไว้ว่า “ ถึงแม้เสียงข้างมากจะพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องคำนึงถึงจริยธรรมด้วยเป็นสำคัญ บ้านเมืองทุกวันนี้ไม่เหมือนอดีต สมัยยึดทรัพย์จอมพลถนอม กิตติขจร หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้ต่อมารัฐบาลหลังจากนั้นหลายชุด จะเป็นรัฐบาลทหาร และจะอยากช่วยคืนทรัพย์สินบางส่วนให้กับจอมพลถนอม ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า บางทรัพย์สินเป็นทรัพย์สินดั้งเดิมของจอมพลถนอม ที่มีก่อนจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ติดพ่วงมาด้วยตอนยึดทรัพย์ ก็ไม่มีรัฐบาลชุดไหนกล้าจะทำเรื่องแบบนี้ แม้ต่อจะให้มีความพยายามคิดกันอยู่ เพราะเขากลัวกระแสคัดค้านต่อต้าน"
“ เมื่อจะมีการใช้เสียงข้างมากออกกฎหมายนิรโทษกรรม ดูแล้วเชื่อว่าบ้านเมืองจะวุ่นวายแน่นอนในตอนนั้น จะเกิดกระแสสนับสนุน และต่อต้านแบ่งออกเป็นสองฝ่าย จะไม่มีใครยอมใคร คุยกันไม่รู้เรื่อง ความขัดแย้งจะสูงมาก ดูแล้วคิดไม่ออกว่าบ้านเมืองจะไปทางไหน ถ้าจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบนี้” สวัสดิ์ บอกทิ้งท้ายไว้
แม้กระทั่งในมุมมองของผู้สูญเสียอย่าง “นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เดือนเมษายน วิจารณ์การปรองดองของรัฐบาลว่า
“ถ้ามองความปรองดองสมานฉันท์ไม่ใช่มีแค่การนิรโทษกรรม แต่มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ การค้นหาความจริง การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การเยียวยา การนิรโทษกรรม ไม่สามารถจะแตะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วบอกว่านี่คือการปรองดอง ทุกอย่างต้องไปทั้ง 4 ตัวแปรแล้วควรต้องเรียงลำดับว่าจาก 1 ไปสู่ 2 , 3 และ 4 แต่วันนี้ต้องการคำอธิบายว่า ทำไมข้ามขั้นตอนการค้นหาความจริง แล้วกระโดดไปสู่นิรโทษกรรม”
อาจจะเป็นไปได้ว่า ทักษิณ กลัวความจริงของการปรองดอง !!?