xs
xsm
sm
md
lg

3 ทางเลือกอุ้ม “ทักษิณ” มาร์คเฟซชุด 2ไม่ไว้ใจเวที“บิ๊กบัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(20 มี.ค.55) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฏรที่มีพล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน ได้หารือถึงรายงานผลการวิจัยแนวทางสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า โดยมีนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย ชี้แจง
แหล่งข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า มีการรวบรวมแบบสอบถามที่มอบให้กมธ.แต่ละคนไปแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฎว่า กระบวนการนิรโทษกรรม ทางเลือกที่ 1 คือ การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548โดยความผิดอาญาอื่นซึ่งแม้จะมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง จะได้รับการยกเว้น เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน มีกมธ.เลือกแนวทางนี้จำนวน 23 เสียง
ทางเลือกที่ 2 ออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยความผิดอาญาซึ่งแม้จะมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง จะไม่ได้รับการยกเว้น เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน มีกมธ.เลือกแนวทางนี้จำนวน 4 เสียง
อย่างไรก็ตามแนวทางเลือกทั้งสองนั้นมีกมธ.ที่ไม่เสนอความเห็น 9 เสียง
ส่วนการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนเกี่ยวกับการดำเนินการคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคตส. ทางเลือกที่ 1 คือ การดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้เฉพาะผลารพิจารณาของคตส.สิ้นผลลงและโอนคดีทั้งหมดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว มีกมธ.เลือกแนวทางนี้จำนวน3 เสียง
ทางเลือกที่ 2 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวยังไม่หมดอายุความ มีกมธ.เลือกแนวทางนี้จำนวน 2 เสียง
ทางเลือกที่ 3 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง มีกมธ.เลือกแนวทางนี้จำนวน 9 เสียง
อย่างไรก็ตาม แนวทางเลือกทั้งสามทางมีกมธ.ที่ไม่เสนอความเห็น 9 เสียง
หลังจากมีข้อเสนอออกมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ เขียนเฟซบุ๊คฉบับที่ 2 ว่า ผมจำเป็นต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกเป็นฉบับที่ 2 ทั้งที่เดิมตั้งใจจะใช้โอกาสในการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับคณะผู้วิจัยและกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้าง ความปรองดองแห่งชาติ ในวันที่ 21มี.ค.
แต่ปรากฏว่าหนังสือเชิญจาก พล.อ.สนธิ ที่ส่งมาถึงผมระบุให้ไปร่วมรับฟังการชี้แจงใช้เวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งชัดเจนว่ามิใช่การเปิดเวทีสาธารณะ ประกอบกับ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ก็ออกมายืนยันแทนคณะผู้วิจัยว่าจะไม่มีการทบทวน
นายอภิสิทธิ์ ตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงรีบสรุปข้อเสนอโดยไม่สนใจ ข้อเท็จจริงของ คอป.ที่เป็นหัวใจในการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง มีการข้ามขั้นตอนที่ระบุ ไว้ในงานวิจัยนี้หรือไม่ และทำเพื่ออะไร ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้สูญเสีย ความเป็นกลางทางวิชาการรายงานวิจัยนี้ไม่ได้กล่าวถึงปัญหาการละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม การทุจริตเชิงนโยบาย การแทรกแซงองค์กรอิสระ
รายงานวิจัยตัดตอนพฤติกรรมการบริหารประเทศที่เป็นปัญหาสร้างความขัดแย้งในบ้านเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากการสรุปเหตุการณ์ความขัดแย้ง เช่นเดียวกัน การข้ามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรง การเผาบ้านเผาเมือง รายละเอียดเกี่ยวกับคดีที่เกี่ยวพันกับ คตส. ย่อมส่งผลต่อข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม และการรื้อฟื้นคดี คตส.
นายอภิสิทธ์ยังเสนอให้ออก พรบ.นิรโทษกรรมรวมไปถึงคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน ทำไมจึงเสนอแนวทางที่ริดรอนสิทธิผู้บริสุทธิ์ ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เสมือนบังคับให้คนดี ต้องปรองดองยอมความกับผู้กระทำความผิด โดยที่ประชาชนเหล่านั้นไม่มีโอกาสใช้สิทธิพื้นฐานตามกฎหมาย จะถือว่าเป็นธรรมกับคนเหล่านี้หรือไม่
“กรณีที่ศาลอุทธรณ์ให้ 8 ผู้ต้องหาเผาธนาคารกรุงเทพขอนแก่นต้องร่วมกันจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหาย 29.5 ล้านบาท หากคนเหล่านี้ได้รับการนิรโทษกรรม ใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายของธนาคารกรุงเทพ”
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ผู้วิจัยได้คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการออก พรบ.นิรโทษกรรม ในคดีอาญาให้กับผู้กระทำความผิดโดยอ้างว่ามีเหตุจูงใจทางการเมืองนั้น ผลจากการออก พรบ.นิรโทษกรรม เช่นนี้จะทำให้เกิดค่านิยมที่ผิดต่อเยาวชนรุ่นหลังจนไม่สามารถแยกแยะถูกผิดหรือไม่ เพราะคนทำผิดไม่ต้อง รับโทษ ส่วนคนบริสุทธิ์ต้องรับกรรมโดยไร้สิทธิ์โต้แย้ง
ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ (คตส.)
ในประเด็นนี้ผมมีข้อสงสัยค่อนข้างมาก เพราะเงื่อนไขที่ผู้ชุมนุมนำมาเป็นข้ออ้างนั้นคือ เรื่องเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และ การเรียกร้องเกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยในขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ แกนนำต่างก็พูดต่อสาธารณะว่า การเคลื่อนไหวของมวลชน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก ในเมื่อไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เหตุใด ทางเลือกที่ 1 คณะผู้วิจัยจึงเสนอการนิรโทษกรรมคดีทุจริต ถือเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตของปัญหาความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นหรือไม่
แต่ถ้าคณะผู้วิจัยเห็นว่า คดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการชุมนุม อันนำมาซึ่งความสูญเสียในบ้านเมือง เท่ากับยอมรับว่าคนเหล่านี้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เพื่อหวังผลให้พ้นผิดในคดีของตัวเองใช่หรือไม่
มี่การตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าถือว่า "สิ้นสุดแล้ว" หมายถึงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องต่อสู้คดีนี้ในศาล ภายใต้กติกาเดียวกับจำเลยคนอื่นๆ ที่ศาลได้ตัดสินไปก่อนหน้านี้ใช่หรือไม่ แต่หากตีความหมายว่า "ยังไม่สิ้นสุด" เท่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้รับสิทธิพิเศษเหนือคนอื่นที่จะเริ่มกระบวนการยุติธรรมใหม่ ทั้งหมดในคดีที่ตัดสินไปแล้ว
การเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ จะล้มล้างคำตัดสินของศาลฎีกา ที่ถือเป็นบรรทัดฐานในคดีลักษณะเดียวกันได้หรือ จะสร้างความสับสนต่อระบบยุติธรรมของไทยหรือไม่ อย่างไร
ขณะที่ทางเลือกที่ 2 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ เหตุใดคณะผู้วิจัยจึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาโดยไม่ให้รายละเอียดต่อสังคมถึงข้อเท็จจริงในคดีซึ่งแตกต่างจากกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวก โดยสิ้นเชิงในทางตรงกันข้าม การหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเสมือนกับว่าต้องการชี้นำให้สังคมเข้าใจผิดว่า ทั้ง คตส. และการตัดสินของศาลฎีกาฯ ที่ผ่านมาขัดแย้งต่อบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้
คำถาม คือ คณะผู้วิจัยอ้างคำพิพากษานี้เพื่อประกอบการพิจารณาในประเด็นใด หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของ คตส.ว่าขัดกฎหมาย ศาลก็ได้ชี้แล้วว่าการที่ คมช.ตั้ง คตส. ไม่ขัดกฎหมาย เนื่องจาก คตส.ไม่ได้ใช้อำนาจเช่นเดียวกับศาล แต่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ปปช.เท่านั้น แตกต่างจากคดียึดทรัพย์ในสมัย รสช.ที่ให้คณะกรรมการในขณะนั้นทำหน้าที่เหมือนศาลตัดสินยึดทรัพย์ โดยไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นเหตุให้ศาลฎีกายกฟ้องและให้คืนทรัพย์สินกับนักการเมืองในยุคนั้นทั้งหมด
เหตุใดคณะผู้วิจัยจึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาโดยไม่ให้รายละเอียดต่อสังคมถึงข้อเท็จจริงในคดีซึ่งแตกต่างจากกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวก โดยสิ้นเชิง ในทางตรงกันข้าม การหยิบ ประเด็นนี้ขึ้นมาเสมือนกับว่าต้องการชี้นำให้สังคมเข้าใจผิดว่า ทั้ง คตส. และการตัดสินของศาลฎีกาฯ ที่ผ่านมาขัดแย้งต่อบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้
สำหรับทางเลือกที่ 3 ให้เพิกถอนทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้งนั้น การเสนอให้ลบล้างคดีโดยห้ามไม่ให้มีการพิจารณาอีกจะทำให้เกิดสภาพความยุติธรรมมีอยู่จริงได้
การตัดสิทธิประชาชนและระบบตรวจสอบด้วยการห้ามไม่ให้มีการพิจารณา คดีใหม่ แต่คนในตระกูลชินวัตรกลับใช้ประโยชน์จากคำพิพากษาที่กำลังจะถูกล้มล้างไปแล้ว
ในรายงานของคณะผู้วิจัยก็เล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากทางเลือกนี้ โดยระบุว่า จะทำให้ข้อกล่าวหาการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ไม่ได้รับการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขัดกับหลักการ สำคัญในการสร้างความปรองดองว่าจะต้องทำให้เกิดสภาพ "ไม่เพียงแค่มีความยุติธรรม แต่ต้องทำให้เห็นว่ามี ความยุติธรรมอยู่จริง"
การเสนอให้ลบล้างคดีโดยห้ามไม่ให้มีการพิจารณาอีกจะทำให้เกิดสภาพความ
ยุติธรรมมีอยู่จริงได้อย่างไร ในเมื่อข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกได้รับการปกป้องไม่ให้ นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร เท่ากับคณะผู้วิจัยกำลัง เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ในการเขียนประวัติศาสตร์การเมืองใหม่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกคือผู้บริสุทธิ์ โยนบาปทั้งหมดให้กับการทำรัฐประหารและคตส.ใช่หรือไม่
คณะผู้วิจัยระบุว่าทางเลือกที่เสนอทั้ง 3 ประเด็นนั้น วิเคราะห์จากแนวทางในอดีต ที่ประเทศไทยเคยใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งผมได้ท้วงติงแล้วว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากการออก พรบ.นิรโทษกรรม 21 ฉบับที่ผ่านมา จากข้อมูลของเวปไซด์กฤษฎีกา ไม่เคยมีการ นิรโทษกรรมคดีทุจริตมาก่อน
การตัดสิทธิประชาชนและระบบตรวจสอบด้วยการห้ามไม่ให้มีการพิจารณา คดีใหม่ แต่คนในตระกูลชินวัตรกลับใช้ประโยชน์จากคำพิพากษาที่กำลังจะถูกล้มล้างไปแล้ว ทั้งกรณีที่ดินรัชดา ซึ่งคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ นำไปฟ้องต่อศาลแพ่งจนมีคำพิพากษาจากการยึดบรรทัดฐานคำตัดสินของ ศาลฎีกาฯ ว่าการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ จึงให้กองทุนฟื้นฟูให้คืนเงินให้คุณหญิงพจมาน และกรณี นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร นำคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ที่ระบุว่า บุคคลทั้งคู่ไม่ใช่ เจ้าของหุ้นตัวจริงแต่เจ้าของหุ้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปใช้ประโยชน์เพื่อไม่จ่ายภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท และศาลภาษีก็ยึดตามแนวพิพากษาของศาลฎีกาฯว่าหุ้นไม่ใช่ของบุคคลทั้งคู่จึงไม่อยู่ในสถานะที่ต้องจ่ายภาษี
ข้อเท็จจริงข้างต้นเท่ากับว่าทางเลือกดังกล่าวทำลายระบบตรวจสอบ แต่กลับให้ผู้กระทำความผิดใช้ประโยชน์ จากคำพิพากษาซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีถึง 1.2 หมื่นล้านบาท คณะผู้วิจัยเคยคำนึงถึงปัญหา เหล่านี้หรือไม่
คณะผู้วิจัยยอมรับว่า การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 47 คน ยังมีความเห็นที่ แตกต่างกันระหว่างแนวทางที่ให้ผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.มีผลอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นสภาพปัจจุบัน ที่คงอยู่ และแนวทางที่สองคือการตั้งคำถามจากการชี้มูลโดย คตส. เหตุใดข้อคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้ ผลทางกฎหมายของ คตส.ดำรงอยู่ต่อไปจึงไม่อยู่ในทางเลือกที่คณะผู้วิจัยเสนอ ทั้งๆ ที่ในประเด็นคำถาม สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งที่ 2 ที่คณะผู้วิจัยส่งให้ผมโดยไม่รอคำตอบก่อนสรุปผลวิจัยนั้น มีการระบุถึง ผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางให้ผลพวงทางกฎหมายที่เนินการโดย คตส.และศาลฎีกาฯพิพากษาแล้ว ให้บังคับ คดีต่อไป ถึง 10 คน แต่คณะผู้วิจัยกลับนำแนวคิดให้ผลพวงทางกฎหมายที่เนินการโดย คตส.เสียเปล่าทั้งหมด และไม่ต้องนำคดีที่ค้างอยู่และตัดสินไปแล้วมาพิจารณาอีกครั้งซึ่งมีผู้เสนอเพียง 1 คน มาสรุปเป็น 1 ใน ทางเลือกของ คณะผู้วิจัย
จากข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้น ทำให้ผมไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งต่อผลสรุป ที่เป็นทางเลือกในการสร้างความปรองดองของคณะผู้วิจัยว่า นอกจากจะไม่สามารถสร้างความปรองดองได้แล้ว ยังจะสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมที่อาจลุกลามนำไปสู่ความสูญเสียในสังคมที่ยากจะประเมินได้ ซึ่งคิดว่า ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ คณะผู้วิจัยปรารถนาจะให้เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น