xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอย “วุฒิสาร” พระปกเกล้า “นักธุรกิจ” ในคราบนักวิชาการ!

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

ทักษิณ ชินวัตร
รายงานผลวิจัย “การสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ของสถาบันพระปกเกล้า ทึ่มีบทสรุปมุ่งล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวก ถือเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญที่สะท้อนข้อเท็จจริงอันเจ็บปวดในบ้านเมืองของเราว่า “มีคนที่คิดว่าดีจำนวนมากที่พร้อมรับใช้คนผิด”

ถ้อยแถลงของ วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย ออกมายืนยันข้อเสนอนิรโทษกรรมล้มคดี คตส. พร้อมกับอ้างผลการศึกษาจาก 10 ประเทศว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการให้อภัยและนิรโทษกรรมนั้น

ถือเป็นการโกหกคำโตต่อสังคมไทย!

เพราะจากรายงานวิจัยฉบับนี้ มีการศึกษาความขัดแย้งใน 10 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย (อาเจะห์) สหราชอาณาจักร (ไอร์แลนด์เหนือ) รวันดา ชิลี โคลอมเบีย โมร็อกโก โบลีเวีย และเยอรมนี ซึ่งจากข้อมูลที่คณะผู้วิจัยซึ่งอ้างตัวว่าเป็นกลางระบุไว้นั้น

ไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวที่จะนิรโทษกรรมคดีอาญา และคดีทุจริต

วุฒิสาร และคณะ ไปยกเมฆข้อเสนอมาจากดูไบหรืออย่างไร จึงเสนอทางเลือกให้มีการปรองดองด้วยการทำลายหลักนิติรัฐ และนิติธรรม ปลดโซ่ตรวนให้คนทุจริต เผาบ้าน ทำลายเมือง

อาจจะเป็นเพราะพระสยามเทวาธิราชมีจริง หรือไม่ก็อาชญากรมักทิ้งร่องรอยไว้เสมอ ก็เลยทำให้มีการปล่อยไก่อ้างถึงบทเรียน10 ประเทศมาประกอบหวังให้รายงานวิจัยดูดีน่าเชื่อถือ แต่กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญประจานการเป็นทาสรับใช้ของคณะวิจัยชุดอัปยศ

หาก วุฒิสาร มีจิตบริสุทธิ์คิดช่วยชาติออกจากวังวนความขัดแย้ง ต้องพิเคราะห์สิว่าทำไมทั้ง 10 ประเทศถึงไม่มีการนิรโทษกรรมคดีอาญาและทุจริต แต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมในการเดินหน้าสู่ความปรองดองคือ

1. การค้นหาความจริง 2. มีการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ทำผิดในคดีการเมือง 3. เปิดโอกาสให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่เพื่อรักษาสิทธิให้แก่ผู้เสียหาย 4. การอภัยโทษจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการรับโทษไปแล้วระยะหนึ่ง

ไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวใน 10 ประเทศที่เขาใช้วิธีการ “นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง” ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ริดรอนสิทธิผู้เสียหายไม่ให้มีโอกาสได้รับความเป็นธรรมผ่านระบบกฎหมายปกติ ฯลฯ เหมือนที่วุฒิสารและพวกทำ

แม้แต่สหราชอาณาจักรซึ่งมีการระบุถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกตัดสินจำคุกจากการกระทำที่เป็นการก่อการร้าย ก็ยังต้องมีคณะกรรมการอิสระที่รัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งมาพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวเป็นรายกรณีไป

ไม่ใช่ทุจริตไม่ผิด คิดปล้นทำได้ เผาไทยได้เป็นรัฐมนตรี ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ

ขนาด ชิลี ซึ่งมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่นายพลปิโนเชต์ และเจ้าหน้าที่ (ทหารและตำรวจ) ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐบาลในช่วง ค.ศ. 1971-1978 โดยตัวผู้นำรัฐบาลเป็นผู้ออกกฎหมายดังกล่าวเองในช่วงมีอำนาจ แต่เมื่อนายพลปิโนเซต์หมดอำนาจลงเขาก็ยังต้องถูกควบคุมตัวในต่างประเทศด้วยอำนาจของกฎหมายสากลว่าด้วยอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

จะเห็นได้ว่า หลักคิดของทั้ง 10 ประเทศก็คือ คนทำผิดต้องได้รับโทษ ไม่ใช่นิรโทษแบบเหมารวม นอกจากนี้กว่าที่ประเทศเหล่านั้นจะได้บทสรุปในการสร้างความปรองดองในชาติตัวเองนั้นล้วนแต่ต้องใช้เวลา สร้างกระบวนการแสวงหาความจริง ปรับทัศนคติ พูดคุยเสวนา เจรจา ไกล่เกลี่ย จนมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการปรองดอง จากนั้นจึงสรุปแนวทาง

ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ วุฒิสาร และคณะทำโดยสิ้นเชิง

ที่น่าสนใจคือ ณัชชาภัทร ธนานิธิโชติ อ้างถึงคำสัมภาษณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิว่า “ทักษิณ” คือคู่ขัดแย้งรัฐไทย หมายถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด และหลักนิติธรรม ส่วนอีกกลุ่มมองว่า ทักษิณ ขัดแย้งกลุ่มการเมืองตรงข้ามตัวเองอยู่ที่กลุ่มนอกระบอบ ประชาธิปไตยหรืออำมาตย์หรือเผด็จการทหาร โดยมี ทักษิณ เป็นตัวแสดงหลัก จากมุมมองที่ต่างกันนำมาสู่การมองเหตุความขัดแย้งที่ต่างกัน

เช่นมองว่าเหตุขัดแย้งมาจากความไม่เป็นธรรม ทั้งจากการแทรกแซงผลการเลือกตั้ง ส่วนประเด็นขัดหลักนิติธรรม มีการพูดถึง คตส. และใช้สถาบันทางราชการ ใช้สถาบันทางตุลาการเข้ามาทำลายความเป็นธรรมในสังคม อีกมุมหนึ่งมองว่าเกิดจากความไม่เป็นธรรมซึ่งเกิดจากระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่เกิดเผด็จการรัฐสภา การเลือกตั้งภายหลังปี 2548 ที่มีการควบรวมพรรคการเมือง การที่ ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย มีอิทธิพลเหนือฝ่ายนิติบัญญัติลอยตัวการตรวจสอบ และอยู่เหนือการตรวจสอบคอร์รัปชั่น ทำให้เป็นพื้นฐานความขัดแย้งในสังคมไทย

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า แม้จะมีการมองเหตุแห่งความแตกแยกต่างกัน แต่ตัวป่วนของประเทศก็คือ ทักษิณ เป็นศูนย์กลางทำให้เกิดความขัดแย้ง

แต่วุฒิสารและพวกกลับเสนอทางเลือกให้นิรโทษกรรมต้นตอความขัดแย้ง เหมือนเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ว่าไม่เคยทำความผิดใดๆ ต่อบ้านเมือง โยนความผิดให้รัฐประหารและ คตส. ทั้งๆ ที่ในฐานะผู้ทำการวิจัยซึ่งอุตส่าห์ไปเสาะหาบทเรียนจากต่างประเทศมาใช้เทียบเคียงได้ แต่กลับอับจนปัญญาถึงขนาดไม่พิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งถูกกล่าวอ้างว่าเป็นกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมจากปากของต้นตอปัญหา

วุฒิสารและพวกไม่รู้จริงๆ หรือว่าไม่เคยมีอาชญากรรายใดยอมรับคำพิพากษาว่าตัวเองผิด หรือว่ารู้แต่จงใจช่วยอาชญากรให้กลับมากก่ออาชญากรรมในประเทศต่อ?

วิธีโยนบาปให้ คตส.เป็นแพะนั้นถือว่าตื้นเขิน และหยาบช้าเกินกว่าจะเป็นบทสรุปของงานวิจัยเพื่อสร้างความปรองดอง อีกทั้งยังทำให้เห็นถึงความมักง่ายของวุฒิสารและพวกด้วย

เนื่องจากการสรุปถึงความไม่มั่นใจในคตส.จนนำไปสู่ข้อเสนอให้โละทุกคดีของ คตส.นั้น เป็นผลมาจากการสอบถามคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการพิจารณาคดีของ คตส.ทั้งสิ้น โดยที่คณะผู้วิจัยทำตัวไม่ต่างจากปูที่ไม่มีมันสมอง คือไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเลยแม้แต่น้อย

เพราะถ้าวุฒิสาร และคณะ เป็นกลางจริงต้องให้ความเป็นธรรมกับ คตส.ด้วยว่า แม้พวกเขาจะถูกทำคลอดโดยคณะรัฐประหาร แต่กฎหมายทุกฉบับที่นำมาใช้ในการดำเนินคดีกับคนทุจริตล้วนแต่เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ก่อนการรัฐประหารทั้งสิ้น
 

ที่สำคัญคือ สำนวนของ คตส.มิใช่ข้อยุติแห่งคดี แต่ดุลพินิจของศาลซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารต่างหากที่เป็นผู้ตัดสินคดีชี้ถูก-ผิด ดี-ชั่ว

ซึ่งในชั้นศาลก็เปิดโอกาสให้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ หลายคดีคนที่เคยเป็นจำเลยพ้นผิดไปแล้วก็มี

ที่สำคัญคือทักษิณกลับไทยเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีที่ดินรัชดาฯ ด้วยตัวเอง พร้อมกับคำประกาศว่ามั่นใจกระบวนการยุติธรรมเพราะประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว หลังจากที่ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งขณะนั้น คตส.ก็ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบอีกหลายคดี ไม่มีใครบอกต้องยุบ คตส.ทิ้งเพราะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ ระหว่างการสู้คดีทักษิณก็งัดทุกมุกมาเล่นงาน คตส. ทั้งนอกและในศาล โดยศาลให้ความเป็นธรรมวินิจฉัยในทุกประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ อีกทัั้ง คตส.ก็ยังต้องรับทั้งผิดและชอบตามกฎหมาย ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือกฎหมายไทยแต่อย่างใด โดยผู้ถูกกล่าวหาสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับ คตส.ได้หากเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ แสดงว่า คตส.ถูกตรวจสอบได้ตามกระบวนปกติ และทักษิณก็ใช้สิทธิอย่างเต็มที่เสียด้วย

จนกระทั่ง ทักษิณรู้ว่าอาจแพ้คดีจึงหลบหนีไปต่างประเทศ และเริ่มขบวนการทำลายกระบวนการยุติธรรมนับจากนั้นเป็นต้นมา

ปัญหาของชาติมันชัดเจนมากว่าเกิดจากคนคนเดียวที่ชื่อ “ทักษิณ” ไม่ยอมรับผิด ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม จึงใช้อำนาจเงิน อำนาจทางการเมือง ปลุกระดมประชาชนจนเกิดความขัดแย้งแตกแยก

ยกระดับปัญหาตัวเองให้เป็นปัญหาของชาติบ้านเมือง

ในขณะที่วันนี้ วุฒิสารและพวกได้ข้อสรุปว่า ทักษิณคือตัวปัญหา แต่จะแก้ปัญหาความไม่พอใจในกระบวนการยุติธรรมเพราะถูกตัดสินว่าผิดด้วยการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของชาติเพื่อทักษิณ

ไม่มีนักวิชาการดีๆ ที่ไหนเขาร่วมมือกับคนปล้นหลักการของบ้านเมืองหรอก

เว้นแต่ว่าคนบางคนไม่ใช่นักวิชาการแต่เป็นนักธุรกิจในคราบนักวิชาการมานานแล้ว ไม่เชื่อก็ลองไปตรวจสอบรายชื่อกรรมการบริษัท ไออาร์พีซี ที่จดทะเบียนปี 2537 ด้วยทุนถึง 20,475 ล้านบาท ก็จะเห็นชื่อ วุฒิสาร ตันไชย เป็นกรรมการซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทด้วย

บางที เส้นแบ่งระหว่างวิชาการรับใช้สังคมกับวิชาการรับใช้ทุนก็บางจนใช้ตาเปล่ามองแทบไม่เห็น

แต่สิ่งที่สังคมต้องร่วมกันเปิดโปง คือ หากสถาบันพระปกเกล้านิ่งเฉยต่องานวิจัยรับใช้ทุนทรราชย์ฉบับนี้ ก็เท่ากับยอมรับว่าเป็น “สถาบันปกป้องคนผิด”
กำลังโหลดความคิดเห็น