xs
xsm
sm
md
lg

“เมียร่มเกล้า” สู้ไม่ถอย ผบ.ทบ.ทำอะไรอยู่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม
สะเก็ดไฟ

ชัยชนะของโจรก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมือง บนความขมขื่นของคนไทย!

คำกล่าวข้างต้นน่าจะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อยในขณะนี้ได้เป็นอย่างดีว่า ในยุคที่โคลนนิ่งทักษิณก้าวขึ้นครองอำนาจ ปฏิบัติงานตามใบสั่งนักโทษตลอดกว่า 7 เดือนที่ผ่านมาได้สร้างความทุกข์ทนให้แก่คนไทยมากแค่ไหน ที่ถูกกดหัวให้สยบอยู่ใต้อุ้งตีนนักโทษ

บีบบังคับให้ยอมรับกระบวนการปรองดองที่นักโทษและพวกเป็นผู้กำหนดกติกา

จัดคุกวีไอพีให้คนเผาเมือง ยิงวัดพระแก้ว

จัดงบ 2 พันล้านปูนบำเหน็จกองกำลังแดง

จัดระบบยุติธรรมใหม่ให้เป็นความยุติธรรมของผู้ชนะที่ผู้แพ้ต้องสยบยอม

จัดวางประว้ติศาสตร์การเมืองใหม่ อุ้ม “ทักษิณ” พ้นการเป็นทรราชย์โกงแผ่นดิน ฯลฯ

แต่สิ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่อ้างว่าจะเข้ามาแก้ไขไม่แก้แค้น ไม่คิดจะทำคือการค้นหาความจริงของความแตกแยกจนนำไปสู่ความรุนแรงและสูญเสียครั้งใหญ่ว่ามีต้นตอจากใคร และจะคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียอย่างไร

นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ที่สมรภูมิสี่แยกคอกวัว 10 เมษายน 2553 เคยตั้งคำถามเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊ค เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 เกี่ยวกับกระบวนการปรองดองไว้อย่างน่ารับฟังยิ่ง

นิชาเขียนไว้ว่า “ในแง่ขั้นตอนกระบวนการ ดิฉันเห็นว่า ควรต้องเริ่มจาก (๑) การค้นหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ จากนั้นนำเข้าสู่ (๒) กระบวนการยุติธรรม เมื่อหาตัวคนถูก-คนผิดได้แล้ว จึงนำไปสู่ (๓)กระบวนการเยียวยา กล่าวคือ เยียวยาผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบ และดำเนินการกับคนผิด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสังคมว่าจะให้อภัย/ยกโทษให้ คนผิดที่สำนึกได้เพื่อความปรองดอง หรือ จะลงโทษคนผิดที่ไม่สำนึกให้หลาบจำ แต่เนื่องจากรัฐบาลและ คอป. เริ่มเปิดฉากด้วยการเยียวยาเป็นเรื่องแรก โดยข้ามผ่านอีก ๒ กระบวนการ และมติ ครม. เรื่องการเยียวยาก็ไม่ได้ มีคำอธิบายในเชิงเหตุผลใดๆ ประกอบมาตรการให้สังคมเข้าใจ จึงทำให้การเยียวยากลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และขยายตัวลุกลามไปยังประเด็นอื่นๆ ในอดีต

ที่สำคัญขั้นตอนการค้นหาข้อเท็จจริง และการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมก็ไม่มีความคืบหน้า เสมือนว่าไม่ได้รับความสำคัญ ดิฉันได้ยกตัวอย่างกรณีคดีของพลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม สามีว่า เวลาผ่านไปเกือบ ๒ ปี แต่ไม่มีความคืบหน้าอย่างใด จนล่าสุดเมื่อต้นเดือน มกราคม ๒๕๕๕ ได้มีโอกาสพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้เรียนถามความคืบหน้าคดี ซึ่งวันต่อมาท่านก็กรุณาให้เจ้าหน้าที่ส่งสรุปสำนวนคดีมาให้ปรากฎความคืบหน้าคดีเพียงสั้นๆ ๑ บรรทัดว่า “ขณะนี้ยังไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะทราบตัวคนร้ายในคดีนี้

แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เคยแถลงผลการสอบสวนคดีของพี่ร่มเกล้าว่า มีพยาน หลักฐานว่าเกิดจากการกระทำของกลุ่ม นปช. จากนั้น ก็มีการจับตัวผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายและใช้อาวุธสงครามเกี่ยวพันกับคดีพี่ร่มเกล้าและคดีอื่นอีก ๘ คดีได้ ซึ่งต่อมาก็มีการให้ประกันตัวไป สรุปสำนวนคดีในวันนี้ทำไมจึงแตกต่างจากในวันก่อน? แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป?

ดิฉันตระหนักว่า การหาตัวผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยควรมีการแจ้งความคืบหน้าของคดีให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทราบเป็นระยะๆ เพื่อให้ความมั่นใจว่าคดีของพวกเราไม่ได้ถูกละทิ้ง เพิกเฉยหรือมีการเปลี่ยนแปลงหลักฐานพยานใดๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล”

แต่คำถามที่เต็มไปด้วยเหตุผลและเปี่ยมไปด้วยวุฒิภาวะของผู้สูญเสียอย่างคุณนิชา กลับมีค่าไม่ต่างอะไรกับสายลมที่พัดผ่านไปพร้อมกับความเงียบงัน

ผ่านไป 1 เดือนกับ 11 วัน คุณนิชา ยังคงเดินหน้าเพรียกหาความยุติธรรมให้กับวิญญาณของสามีอันเป็นที่รัก และนายทหารท่านอื่นที่เสียสละเพื่อบ้านเมือง

เธอนำญาติทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกันอีก 5 รายไปที่กองทัพบกเพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หวังพึ่งบารมีให้ช่วยติดตามความคืบหน้าทวงถามความเป็นธรรมให้กับวิญญาณทหารหาซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ

แต่ก็ดูจะไร้ความหมาย เพราะไม่เพียง พล.อ.ประยุทธ์จะไม่มารับหนังสือด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ยังตีคุณค่าความทุกข์ของคุณนิชาและญาติทหารท่านอื่นเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางแทน โดยไม่มีคำตอบใดๆ ให้อุ่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ทุกข์ใจไม่แพ้กัน

ถ้าเพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์จะออกหน้าประกาศสั้นๆ แค่ว่า “ลูกน้องผมต้องไม่ตายฟรี ความยุติธรรมต้องเดินหน้า และผมจะทวงถามเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับวิญญาณของพวกเขา”

เท่านี้ดวงวิญญาณของ พล.อ.ร่มเกล้า และทหารท่านอื่นๆ ก็คงตายตาหลับ ญาติๆ ของพวกเขาก็คงไม่ต้องขวัญผวาว่าคดีจะถูกเป่า สำนวนจะถูกเปลี่ยนเพราะฆาตกรเป็นพวกเดียวกับคนที่มีอำนาจ

แต่ชายชาติทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็มิได้ทำเช่นนั้น

ไม่รู้ว่านายทหารคนอื่นๆ ในกองทัพจะมองความเย็นชาของ “พี่ตู่” ที่มีต่อญาติของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร

พล.ท.วลิต โรจนภักดี ที่รอดตายอย่างหวุดหวิดจากสมรภูมิเดียวกับ พล.อ.ร่มเกล้า จะคับแค้นขมขื่นบ้างไหม กับความยุติธรรมเปลี่ยนได้ที่ทิ้งดวงวิญญาณทหารกล้าให้โหยหาความยุติธรรมโดยลำพัง

16 พ.ย.53 ดีเอสไอสรุปมี 8 คดีที่ นปช.และกลุ่มชายชุดดำเป็นฆาตกร ซึ่งรวมคดี พล.อ.ร่มเกล้า ที่สี่แยกคอกวัวด้วย

ก่อนหน้านั้นดีเอสไอมีการเชื่อมโยงระบุตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสังหาร พล.อ.ร่มเกล้าว่าเกี่ยวพันกับ ชยุต ใหลเจริญ การ์ด นปช.ซึ่งขณะนี้ได้รับการประกันตัวไปแล้ว

ผบ.ทบ.ไม่สงสัยบ้างหรือว่ากระบวนการยุติธรรมตั้งต้นกำลังถูกตัดตอนหรือไม่

ขนาดฮิวแมนไรท์วอทซ์ยังระบุไว้ในรายงานปี 53 ตอนหนึ่งว่า “ความพยายามของรัฐบาลนั้นมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการให้เกิดการรับผิดเพียงด้านเดียว โดยกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงผลความคืบหน้าในการสอบสวนการเสียชีวิต 13 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของทหาร เพื่อที่จะเริ่มการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิต และการดำเนินการลงโทษเอาผิดทางอาญาต่อไป แต่แกนนำของรัฐบาลกลับแสดงความไม่สนใจกับการเสียชีวิตอีก 12 กรณีที่การสอบสวนเบื้องต้นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม พบว่าเกี่ยวข้องกับการโจมตีโดยของกำลังติดอาวุธฝ่าย นปช.”

จากนี้ไปคงต้องวัดใจ ผบ.ทบ.ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า จะนิ่งเฉยกับความพยายามของรัฐบาลที่มุ่งเน้นดำเนินการให้เกิดการรับผิดด้านเดียว เพื่อให้ทหารเข้าไปเป็นตัวประกอบในการนิรโทษกรรมให้ทักษิณ หรือ จะลุกขึ้นสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับคุณนิชา และญาติทหารรายอื่น

คุณนิชาเธอยังสู้ไม่ถอย แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ทำอะไรบ้างเลยหรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น