xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ทบทวนปรองดอง มาร์คงง! “เอกชัย”โผล่เดินหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(19 มี.ค.55)พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานศึกษาวิจัยแนวทางการสร้างความปรองดอง ให้กับกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวชี้แจงต่อประเด็นข้อโต้แย้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าผลการศึกษามีความบกพร่อง และตัดตอนผลการวิจัย ว่า เป็นความเห็นที่ทางสถาบันต้องรับฟัง แต่คงไม่นำไปทบทวนผลการวิจัยที่ได้เสนอต่อสังคมไปแล้ว แต่จะนำไปบรรจุในข้อสังเกตของรายงานผลการวิจัย ซึ่งเตรียมจะแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มี.ค. นี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ส่วนตัวเชื่อว่าการตำหนิดังกล่าวไม่ใช่การดิสเครดิตหรือลดความน่าเชื่อถือผลงานทางวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า ยืนยันว่าการทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้อิงกับฝ่ายใด
สำหรับข้อเสนอสู่แนวทางปรองดองในประเด็นนิรโทษกรรมและคดีของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) นั้น เป็นการสรุปรวมจากผลการศึกษาใน 5 ประเด็น คือ 1.แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดอง 2.ผลการศึกษาความขัดแย้งและแนวทางสู่ความปรองดองของ 10 ประเทศตัวอย่าง 3.รวบรวมความคิดเห็นจากเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสื้อเหลือง และเสื้อแดง ซึ่งเวทีดังกล่าวนั้นทางสถาบันฯ ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว 4.การสัมภาษณ์บุคคลจำนวน 47 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และ 5.การศึกษาประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของประเทศไทย
"ข้อเสนอสู่ความปรองดองนั้นไม่ได้เลือกประเด็นสัมภาษณ์ บุคคล 47 คนมาทำเป็นข้อเสนอเพียงอย่างเดียว อย่างที่หลายฝ่ายกำลังเข้าใจ อย่างไรก็ตามในตัวเลือกของแนวทางนิรโทษกรรมและคดี คตส. นั้น ยอมรับว่าเป็นประเด็นที่บุคคลที่ให้สัมภาษณ์ให้ความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน ดังนั้นทางสถาบันฯ จึงได้เสนอแนะด้วยว่า ในตัวเลือกที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมนั้น ไม่ควรใช้การโหวตเพื่อให้ได้เสียงที่ชนะ เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ส่วนกระบวนการหลังจากที่ข้อเสนอนี้ เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ เป็นอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่อยากให้ออกมาในแนวทางการหารือมากกว่าการใช้เสียงข้างมากโหวต" พล.อ.เอกชัย กล่าว

**มาร์ค แปลกใจ“พล.อ.เอกชัย”โผล่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.เอกชัย ออกมาระบุว่าจะไม่มีการทบทวนผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า ว่า พล.อ. เอกชัยไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลวิจัยดังกล่าวจึงไม่เข้าใจว่าทำไมเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งที่ไม่ได้อยู่ในคณะผู้วิจัย และต้องอธิบายว่าเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งตนแปลกใจว่าทำไมคนที่ไม่เกี่ยวข้องถึงออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ตนต้องตั้งคำถามประมวลเหตุการณ์ความขัดแย้งแต่กลับ ไม่พูดถึงการเผาเซ็นทรัลเวิลด์และเผาศาลากลาง ไม่พูดถึงผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม ไม่พูดถึงการล้มประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา ซึ่งหากไม่พูดถึงเรื่องนี้ก็จะไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง หรือ สิ่งที่บอกว่าเราอยากค้นหาความจริงนั้นไม่อยากค้นหาแล้วเพราะการค้นหาความจริงถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ตนย้ำ ว่าทุกฝ่ายต้องการทราบข้อเท็จจริงเพราะผู้สูญเสียมีทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมซึ่งเขาควรที่จะรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นมากกว่าจะข้ามสิ่งเหล่านี้ไป แล้วบอกว่าปัญหาจบลงด้วยการจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม หรือ มีโครงการเยียวยาเท่านั้น
เมื่อถามว่าฟังขึ้นหรือไม่ที่ พล.อ.เอกชัย ไม่ได้โต้แย้งในประเด็นที่มีข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน โดยอ้างว่าไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ประชาชนได้ลองพิจารณาว่าทำไม ที่มีการชุมนุมของฝ่ายหนึ่งจะมีความพยายามรายงานถึงเหตุผลทั้งหมดว่าทำไมถึงมีการเคลื่อนไหว แม้กระทั่งมีการลงไปในรายละเอียดว่าการเทเลือด มีเหตุผลรองรับอย่างไร แต่เมื่อกล่าวถึงการชุมนุมของอีกฝ่ายกลับไม่บอกว่ามีเหตุผลที่มาที่ไปของการชุมนุมอย่างไร และพฤติกรรมของผู้ชุมนุมที่ผลกระทบต่อข้อเสนอที่จะนำไปสู่การปรองดองก็ข้ามประเด็นสำคัญไปเพราะอะไร
ซึ่งผู้วิจัยต้องอธิบายว่าข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เขียนลงไปไม่มีความสำคัญต่อการศึกษาและนำสู่ข้อเสนอแนะเลยหรือย่างไร ซึ่งตนกำลังรอคำตอบจากนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและทีมผู้วิจัย รวมถึงคณะกรรมาธิการปรองดองฯ ไม่ใช่จากพล.อ.เอกชัย ว่ายอมรับข้อสังเกตของตนหรือไม่ และจะมีการแก้ไขหรือไม่ จากนั้นตนจะได้มีข้อเสนอต่อไปในเรื่องของวิธีวิจัยว่าเหมาะสมหรือไม่
เมื่อถามว่าการที่พรรคเพื่อไทยก้าวไม่ข้ามพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะนำไปสู่การปฏิวัติหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้มีการยึดอำนาจ และพรรคเพื่อไทยต้องมาทบทวน ว่าถ้าสังคมจะเกิดความวุ่นวายเพียงเพื่อตอบโจทย์พ.ต.ท.ทักษิณถือเป็นบทบาทของพรรคการเมืองหรือไม่ พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้ปรองดองก็ต้องดูบทสรุปของสถาบันพระปกเกล้าที่บอกว่าต้องเอาข้อเสนอต่างๆ มาพูดคุยให้ตกผลึก ซึ่งต้องดูว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นของเวทีปรองดองที่มีข่าวว่า กำหนดไว้เพียง 2 ชม. จะมีการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ สำหรับตนถ้าเวทีเปิดดังกล่าวเปิดให้ไป ตนก็จะเข้าไปร่วมด้วย

**ย้ำเฟซจำเป็นให้สังคมเห็นรายงาน
นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงคณะผู้วิจัยสถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับรายงานผลการวิจัยเรื่องการปรองดอง โดยระบุว่า จำเป็นต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ หลังจากได้มีโอกาสอ่าน ร่างรายงานวิจัยฉบับย่อ แล้วมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เพราะรายงานมีความคลาดเคลื่อน ข้ามข้อเท็จจริง และเหตุการณ์สำคัญหลายส่วน
“เมื่อวานนี้ก็ไม่ได้อยากที่จะต้องไปเจาะลึก รายงานของสถาบันพระปกเกล้าฯ แต่ก็จำเป็น เพื่อที่จะชี้ให้สังคมเห็นว่าในรายงานซึ่งกำลังได้รับความสนใจมาก อาจจะเป็นเหมือนกับเป็นแกนในการที่จะเคลื่อนเรื่องของการปรองดองต่อไป แต่ว่าผมยังไม่ได้ไปพูดถึงข้อเสนอหรืออะไรนะครับ ผมแค่หยิบให้เห็นว่าการประมวลข้อเท็จจริงมันมีปัญหา
เอาง่าย ๆ เหตุการณ์ปี 2553 ช่วงเมษา – พฤษภา จะต้องได้สรุปว่าอะไรเกิดขึ้นในบ้านในเมืองนี้ ปี 52 การประชุมสุดยอดอาเซียน เชื่อไม๊ล่ะครับอย่างนี้ไม่บันทึกเอาไว้ กลับบอกว่าปี 52 มีการชุมนุมแล้วก็รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน ฝ่ายเสื้อแดงถือว่าเป็นการประกาศสงครามกับประชาชน อ้าวแล้วไม่มีการบันทึกเอาไว้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านในเมือง ล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งกระเทือนไปทั้งโลกนะครับ เพราะวันนั้นผู้นำญี่ปุ่น ผู้นำจีน ผู้นำเกาหลี ก็อยู่ใช่ไม๊ครับ ปิดถนนตรงอนุสาวรีย์ชัยอะไรต่าง ๆ ก็เดือดร้อนกันไปทั่ว เอารถแก๊สมาอะไรต่าง ๆ ไม่ได้มีการบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ ประชาชนที่เสียชีวิตที่ในวันนั้น ก็ไม่ได้บันทึก ทีนี้พอปีถัดมาปี 53 วันสุดท้ายเลยเหตุการณ์ 19 พฤษภา ใครนึกถึงอะไร เซ็นทรัลเวิร์ลดเผา กรุงเทพฯ ถูกเผากันทั้งเมือง เผากรุงเทพฯ เผาศาลากลาง เชื่อไม๊ครับว่าไม่มี บันทึกเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาว่า ทหารเข้าไปพยายามสลายการชุมนุม
มีประโยคหนึ่งเขียนให้เข้าใจว่า วันนั้นวันเดียวมีผู้เสียชีวิต 51 ศพ เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเผาศาลากลาง เผาเซ็นทรัลเวิร์ลด เผาสยามสแควร์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่อง 3 เซนเตอร์วัน ไม่มีครับ แล้วก็ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ทำให้การตั้งโจทย์อะไรมันก็ผิดเพี้ยนพอสมควร ที่ผมจำเป็นต้องเขียนเพราะว่ารายงานนี้เป็นรายงานของสถาบันพระปกเกล้า เดี๋ยววันหนึ่งข้างหน้าก็มีการเอาเรื่องนี้ไปอ้างอิงในประวัติศาสตร์ ถ้าบอกว่าเขาไม่ละเอียดก็คงไม่ได้นะครับ เพราะว่าขนาดในช่วงเหตุการณ์ปี 53 เขายังเขียนว่ามีการมาเทเลือด แต่ละเอียดลงไปกว่านั้นอีกว่า วงเล็บอธิบายด้วยว่า การเทเลือดนั้น ผู้ชุมนุมได้อ้างว่าเป็นการสละเลือดเนื้อเพื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสะท้อนถึงการสูญเสียเลือด คืออย่างนี้ลงละเอียดเลยครับ แต่เผาบ้านเผาเมืองไม่เขียนเลย แล้วก็ถ้าเกิดไล่ดูแล้ว ไม่ใช่เฉพาะวันสุดท้าย ที่เราคุยกันเรื่องปัญหาชายชุดดำ ไปยิงกระทรวงกลาโหม มีคนถูกจำคุก 38 ปี บุกโรงพยาบาลจุฬา ฯ ยิงระเบิดไปที่บีทีเอสไม่มีครับ เพราะฉะนั้นถ้าอ่านประวัติศาสตร์อย่างสถาบันพระปกเกล้าฯ
สรุปมานี้ ผมก็คิดว่ามันก็มีผลแน่นอนต่อการพิจารณาข้อเสนอของการปรองดอง อันนี้เมื่อวานนี้ก็เลยต้องเขียนทั้ง 3 ช่วง ทั้งช่วงรัฐบาลทักษิณ ทั้งช่วงปฏิวัติ มาจนถึงรัฐบาลนายกฯ สมชาย แล้วก็ช่วงรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ว่า เอ๊ะ ทำไม มันเป็นการเสนอมุมมองแบบจำกัดมาก ๆ ไม่อยากจะพูดว่าข้างเดียว แต่จำกัดมาก ๆ แล้วก็ทำให้ผลของรายงานน่าจะมีปัญหา แต่ว่าเรื่องข้อเสนอเรื่องอะไรนั้น ผมหวังว่าวันนี้สถาบันหรือกรรมาธิการฯ ก็จะมาอธิบายว่า แล้วจะทำอย่างไรกันต่อ ถ้าหากว่า ลักษณะของรายงานเป็นเช่นนี้”
เมื่อถามว่าหลังจากทำหนังสือถึงสถาบันพระปกเกล้าฯ ฝ่ายรัฐบาลออกมาระบุในทำนองว่าเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์หันเข้ามาสู่ความปรองดองนั้น นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า สิ่งที่ตนทำนั้น เป็นการปรองดอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลรับข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าฯ 2 ข้อด้วยเช่นกัน
“ผมปรองดองครับ แล้วถ้าอย่างนั้นก็ขอให้ทางรัฐบาลรับข้อเสนอพระปกเกล้าฯ 2 ข้อแรก 1. ก็คืออย่าไปทำอะไรให้มันขัดแย้งเพิ่มขึ้น 2. อย่าใช้มติเสียงข้างมาก ผมจะดูครับว่า ใคร หรือรับ หรือไม่รับปรองดอง ผมไม่ได้ไม่รับเรื่องการปรองดอง แต่ผมกำลังจะบอกว่า ข้อเสนอปรองดองที่มีการนำเสนอทางเลือกมามากมายนั้น มันก็คงอยู่บนฐานของการประมวลข้อเท็จจริง ผมก็เสนอข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน เพื่อร่วมในกระบวนการปรองดอง ผมเชิญชวนพรรคเพื่อไทยมาใช้เหตุ ใช้ผลกันมากกว่าเป็นเกมการเมืองตั้งธงว่าจะต้องนิรโทษกรรมคุณทักษิณ แล้วก็สร้างความสับสนในกระแสสังคมว่า คำว่าปรองดองแปลว่านิรโทษกรรมให้ทักษิณ”

**"บิ๊กบัง"ชี้หน้าที่สถาบันฯต้องรับฟัง
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนเห็นว่าเราต้องเคารพผลการศึกษารายงานทางวิชาการ และต้องรับฟังทางสถาบันพระปกเกล้า ส่วนคนที่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นนั้น ก็เป็นหน้าที่ของทางสถาบันพระปกเกล้าที่ต้องรับฟัง ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าจะเห็นเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่ ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใดฝ่ายค้านถึงไม่ยอมรับผลการวิจัย ในเมื่อก่อนหน้านั้นยอมรับที่จะให้สถาบันพระปกเกล้าเข้าทำการวิจัยนั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องไปถามคณะกรรมาธิการฯ ซีกฝ่ายค้าน เขาก็อยู่ในการประชุมด้วยทุกครั้ง ทางเราไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องนี้ เพราะความเห็นต่างมีอยู่แล้วแน่นอน แต่ต้องนำปัญหา หรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นมาร่วมพูดคุยกัน ถึงจะเดินไปได้

**"เฉลิม"รูดซิปปากไม่พูด
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าพ.ร.บ.ปรองดอง ว่า ขอยังไม่พูด ส่วนที่นายธีรยุทธก็แสดงความเห็นว่าพ.ร.บ.ปรองดองจะเดินหน้าไม่ได้ซึ่งตนยืนยันว่ายังไม่พูด เมื่อถามว่าพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ระบุว่าหากมีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเกี่ยวข้องแล้วก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ รองนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ขอพูด เพราะถ้าพูดไปจะกระทบใจกันเปล่าๆ อย่างไรก็ตาม การเขียนกฎหมายในปัจจุบันนี้ เขาจะไม่มีระบุชื่อตัวบุคคลเหมือนในอดีต และตนจะไม่พูดเรื่องพ.ร.บ.ปรองดองอีกแล้ว ส่วนจะยื่นทันสมัยประชุมสภาสมัยนี้หรือไม่ก็ยังไม่ขอพูดเช่นกันเดี๋ยวโดนดุ

**กกต.ถกระเบียบเลือกตั้ง ส.ส.ร.
นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่าการประชุมกกต. วันที่20 มี.ค.นี้จะมีการพิจารณากรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ก่อนจะชี้แจงไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่า จะสามารถออกระเบียบตามที่คณะกรรมาธิการร้องขอหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ร.อาจเป็นโมฆะ
ทั้งนี้ยอมรับว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก จึงไม่อยากให้มีผลกระทบมาถึงผู้จัดเลือกตั้ง ดังนั้นจึงควรมีความชัดเจนก่อนว่าจะใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ในส่วนใด
ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า ในการประชุมสัปดาห์นี้ จะหารือถึงองค์ประกอบและคุณสมบัติของ ส.ส.ร. ซึ่งความเห็นมี 3 แบบ คือ ตามร่างของรัฐบาล, ร่างของกลุ่ม นปช. และแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านกิจการบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า กกต.ก็อยากให้มีความชัดเจนว่าหากให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรหรือนอกเขตจังหวัด ถ้าหากมีเกรงว่าจะทำให้เกิดความยุ่งยากในขั้นตอนการลงทะเบียน อย่างไรก็ตามถ้าไม่ออกกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เป็น พ.ร.บ. แล้วจะให้ กกต. เป็นระเบียบแทนนั้น ถ้าเกิดปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง เช่น มีการแจกเงิน ซื้อเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ร. นั้นจะเกิดปัญหาว่า กกต. ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ เพราะกฎหมายที่มีโทษทางอาญา จะต้องออกเป็น พ.ร.บ. หรือจะเขียนในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครทำกัน เพราะผิดหลักนิติศาสตร์ อย่างไรก็ตามการออกเป็นพ.ร.บ. คาดว่าก็ต้องใช้เวลาอย่างเร็วไม่ต่ำกว่า 4 – 5 เดือน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าทันต่อความต้องการของฝ่ายการเมืองที่จะให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น