xs
xsm
sm
md
lg

“ชินวัตร” แทรกแซงองค์กรรัฐ รุกคืบยุติคดี เลี่ยงภาษี ล้างมลทิน ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คดีภาษีหุ้นชินฯ 1.2 หมื่นล้านที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ พานทองแท้ - พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อคดีขาดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2555
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปมพิรุธ “ชินวัตร” ใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานรัฐเพื่อยุติคดี เลี่ยงภาษีหมื่นล้าน ล้างมลทิน ก่อให้เกิดข้อกังขาจากสังคม เติมเชื้อไฟหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง ไม่ยอมรับการยึดครองอำนาจของผู้นำประเทศจากตระกูลชินฯ ไม่จบสิ้น

ปมความขัดแย้งในสังคมไทยที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานานหลายปี กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาปรองดองโดยให้ลืมอดีตเสียสิ้นเพื่ออนาคตของประเทศก้าวไปข้างหน้า เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากอย่างยิ่งหากปฐมเหตุแห่งปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะประเด็นข้อกังขาเรื่องการใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนของอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำประเทศจากตระกูลชินวัตร ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด กรณีกรมสรรรพากรยืนยันไม่เก็บภาษี 1.2 หมื่นล้านจากตระกูลชินวัตร จนกระทั่งหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2555 และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่ฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” ปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น เป็นอีกกรณีตัวอย่าง หลังจากเกิดคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ยื่นฎีกา ปล่อย “บรรณพจน์ ดามาพงศ์” - คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และนางกาญจนภา หงส์เหิน ลอยนวล ทั้งที่คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่เหมือนกัน ซึ่งตามหลักปฏิบัติอัยการสูงสุดต้องนำคดีขึ้นสูงศาลสูงสุดเพื่อตัดสินชี้ขาด

มหากาพย์ภาษีหุ้นชินฯ 1.2 หมื่นล้าน ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์แบบแล้วในวันที่ 31 มีนาคม 2555 หลังจาก สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ยืนยันว่า ทางสำนักงานกฎหมายของกรมสรรพากร ได้หารือกับอัยการ และคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีของกระทรวงการคลัง โดยเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องเก็บภาษีจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะการซื้อขายหุ้นเป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี และก่อนหน้านี้ กรมสรรพากร ได้ยึดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ตัดสินว่า หุ้นชินคอร์ปอเรชั่น เป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่หุ้นของนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร กรมสรรพากรจึงไม่เรียกเก็บภาษีในจำนวนดังกล่าวจากนายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา เช่นกัน

แม้ว่าเรื่องนี้ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรมว.กระทรวงการคลัง จะไล่บี้ให้กรมสรรพากรเร่งรัดเรียกเก็บภาษีก่อนหมดอายุความแต่ก็ไม่เป็นผล หนำซ้ำอธิบดีกรมสรรพากร ยังไม่สะทกสะท้านหากพรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ดำเนินคดีต่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมสรรพากร ในวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2555 นี้

คดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณ ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 329.2 ล้านหุ้นจาก บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด ใน ราคาหุ้นละ 1 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนที่จะขายต่อให้แก่บริษัท เทมาเส็กโฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ในราคา 49.25 บาท ทำให้ได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นละ 48.25 บาท แต่เวลานั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ และกรมสรรพากร ต่างยืนยันว่า ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่สตางค์เดียว

กระทั่ง เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) รื้อคดีนี้ขึ้นมาใหม่ และผลสรุปจากการไต่สวน พบว่า เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี จึงส่งให้กรมสรรพากรประเมินภาษีบุคคลทั้งสอง คนละ 5,675 ล้านบาทหรือเกือบ 12,000 ล้านบาท บุคคลทั้งสองจึงยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางให้เพิกถอนคำสั่งของกรมสรรพากร

ต่อมา ศาลภาษีอากรกลาง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ว่า บุคคลทั้งสองไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริงเพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง

เมื่อศาลภาษีอากรกลาง วินิจฉัยเช่นนั้น โฆษกกรมสรรพากร ออกมาแถลงว่า การที่ศาลฎีกาฯ และศาลภาษีกลางมีคำตัดสินออกมาเช่นนั้น กรมสรรพากรจะเก็บภาษีหุ้นจากบุคคลทั้งสองเป็นการไม่ชอบ และยังต้องคืนเงินสด 200 ล้านบาท และหลักทรัพย์ที่ดินอีก 1,000 ล้านบาท ที่อายัดไว้คืนให้กับนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทาด้วย ไม่เช่นนั้นกรมสรรพากร อาจถูกฟ้องได้

ขณะเดียวกัน สาธิต รังคศิริ อธิบดีกรมสรรพากร ก็ออกมายืนยันว่า จะไม่ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งจากการหารืออัยการมีความเห็นตรงกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังว่า การยื่นอุทธรณ์มีแนวโน้มสูงว่าจะแพ้คดีและต้องใช้ค่าใช้จ่ายดำเนินการมากกว่า 30 ล้านบาท

ขณะที่ แก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการ คตส. มีความเห็นว่า การไม่ยื่นอุทธรณ์ของกรมสรรพากร ไม่น่าจะถูกต้อง และหากไม่ยื่นอุทธรณ์ก็ควรเรียกเก็บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ทันที หรือหากคิดว่า เรียกเก็บภาษีจากอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ก็ต้องอุทธรณ์เก็บภาษีจากบุตร และธิดาทั้ง 2 คนให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้รัฐเกิดความเสียหาย หากเก็บไม่ได้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร จะมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157

คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป-แอมเพิลริชนั้น เป็นคดีที่มีปัญหาข้อกฎหมายที่ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน เพราะแม้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะตัดสินว่า นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร จะเป็นผู้ถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่ใช่เป็นเจ้าของหุ้นตัวจริงก็ตาม แต่ประมวลรัษฎากร มาตรา 61 ก็ได้ให้อำนาจกรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษีบุคคลที่มีชื่ออยู่ในหนังสือสำคัญ ซึ่งแสดงว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีเงินได้

การตัดตอนคดีเลี่ยงภาษีชินคอร์ป-แอมเพิลริช โดยไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพื่อให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ยังไม่ยุติ กระทั่งปล่อยให้หมดอายุความ จึงเป็นเหมือนการเอื้อประโยชน์ให้กับครอบครัวชินวัตรชัดเจน เช่นเดียวกันกับกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งไม่ฟ้องครอบครัวชินวัตรจากกรณีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นชินคอร์ป ซึ่งมีการให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานในรายงานซื้อขายหลักทรัพย์ฯ ของบริษัทชินฯ และข้อมูลจากบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ โดยอ้างว่าไม่พบองค์ประกอบความผิดและไม่มีผู้ใดได้รับความเสี่ยงจากการซื้อหุ้นเพราะมีครอบครัวดามาพงศ์-ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (อ่านรายละเอียดในข่าวประกอบ)

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ยังมีปมพิรุธกรณีที่อัยการสูงสุด ไม่ยื่นฎีกาคดีเลี่ยงภาษีชินคอร์ปของนายบรรณพจน์ - คุณหญิงพจมาน - นางดวงตา ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินแตกต่างกัน จนทำให้เกิดความกังขาจากสังคมไม่จบสิ้น (อ่านรายละเอียดในข่าวประกอบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น