xs
xsm
sm
md
lg

ยืนยกฟ้อง"ศิโรตม์" ไม่เก็บภาษี"หญิงอ้อ"โอนหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง“ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์”อดีตอธิบดีกรมสรรพากรกับพวก ไม่เรียกเก็บภาษี 270 ล้าน กรณี “พจมาน” โอนหุ้นชินคอร์ปให้ “บรรณพจน์” ศาลชี้จำเลยทั้ง 5 ทำงานมานานย่อมมีความรู้เรื่องภาษีอากร ความเห็นของจำเลยมีน้ำหนักสมเหตุสมผล ส่วนที่นักกฎหมายมีความเห็นต่างกันจึงเป็นเรื่องธรรมดา

วานนี้ (31 ม.ค.) เวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีดำหมายเลขที่ อ.2953/2550 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อายุ 62 ปี อดีตอธิบดีกรมสรรพากร, นายวิชัย จึงรักเกียรติ อายุ 61 ปี อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร, น.ส.สุจินดา แสงชมพู อายุ 60 ปี อดีตนิติกร 9 ชช., น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อายุ 52 ปี อดีตนิติกร 8 ว. และ น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อายุ 47 ปี อดีตนิติกร 7 ว. เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บ หรือตรวจสอบภาษีอากร ร่วมกันละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากรฯ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลอาญา 154 และ 157 กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม ทำให้รัฐได้รับความเสียหายที่ไม่จัดเก็บภาษีจำนวน 270 ล้านบาท

คดีนี้โจทก์ ยื่นฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 คุณหญิงพจมานโอนหุ้น บมจ.ชินคอร์ป ที่อยู่ในชื่อของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้เป็นผู้ถือหุ้นแทน จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้แก่นายบรรณพจน์ โดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งหุ้นจำนวนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งคำนวณเป็นเงินพึงได้ตาม ม.39 และ40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรต้องเสียภาษีเป็นเงินประมาณ 270 ล้านบาท แต่นายบรรณพจน์ กลับไม่เสียภาษีและไม่ได้แจ้งเรื่องการได้รับหุ้นให้กรมสรรพากรทราบ กระทั่งกรมสรรพากรมทราบเรื่องดังกล่าว จากผลของการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครั้งที่ 98/2543 ลงวันที่ 26 ธ.ค.2543 ซึ่งพิจารณารายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วมีมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง กรมสรรพากรจึงมีหนังสือลับด่วนที่สุดลงวันที่ 28 ธ.ค.2543 ขอข้อมูลการตรวจสอบทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ คู่สมรส และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2552 ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 เนื่องจากจำเลยทั้ง 5 ไม่มีอำนาจพิจารณาเรียกเก็บภาษี และไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร แต่เป็นเพียงผู้พิจารณาข้อกฎหมายตามที่สำนักตรวจสอบภาษีให้ตรวจสอบและจำเลยได้พิจารณาข้อกฎหมายตามอำนาจหน้าที่แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 5 มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการพิจารณาประเมินภาษีดังกล่าวได้เทียบเคียงกับการให้เงินรางวัลกับนักกีฬาโอลิมปิกที่แข่งขันชนะ เพื่อเป็นของขวัญส่งเสริมและให้กำลังใจ เป็นเงินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนั้น ไม่ตรงกับกรณีของจำเลย เห็นว่าข้ออ้างของโจทก์ยังขัดแย้งกับข้อเท็จจริง อันรู้กันทั่วไปว่าการแข่งขันจะกำหนดเงินรางวัลที่ให้เป็นกำลังใจไว้ล่วงหน้า และเมื่อนักกีฬาได้รับชัยชนะแล้วภาคเอกชนก็จะให้เงินรางวัลอีกในภายหลังโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ส่วนที่โจทก์อ้างว่าก่อนโอนหุ้นของคุณหญิงพจมานให้นายบรรณพจน์เป็นการอำพรางเพื่อจะกระทำผิด ศาลเห็นว่า ประเด็นนี้จะเป็นความผิดหรือไม่ ต้องแยกพิจารณาเป็นคนละเรื่อง จากข้อเท็จจริงว่าเมื่อมีการโอนหุ้นแล้วต้องมีการประเมินเรียกเก็บภาษีจากคุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ ที่ระบุว่าเป็นการโอนหุ้นให้ด้วยความเสน่หาตามมาตรา 40 (2) หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นชัดเจน

เรื่องนี้จำเลยทั้งห้าได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาทำความเห็นเทียบเคียง ทั้งจากข้อเท็จจริงที่ได้จากสำนักตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร และคำวินิจฉัยของศาลฎีกา และการทำความเห็นก็ได้อ้างคำวินิจฉัยของสำนักตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร และศาลฎีกาประกอบ ซึ่งการนำมาเทียบเคียงขึ้นอยู่กับมุมมองที่แตกต่างของแต่ละคน เพราะบุคคลย่อมมีความรู้ความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป จำเลยทั้ง 5 ทำงานมานานย่อมมีความรู้เรื่องภาษีอากร ความเห็นของจำเลยทั้ง 5 จึงมีน้ำหนักสมเหตุสมผล การที่นักกฎหมายมีความเห็นต่างกันจึงเป็นเรื่องธรรมดา และที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การให้โดยเสน่หาในเวลาที่นายบรรณพจน์สมรสกับภรรยาล่วงเลยมานานกว่า 1 ปี เรื่องนี้ได้มีการวินิจฉัยไว้ว่า การให้โดยเสน่หาไม่ต้องยึดถือตามวันเวลา แต่จะต้องเป็นการให้ในโอกาสพิธีใดๆ ขณะที่ตามกฎหมายจำเลยทั้ง 5 เป็นเพียงเจ้าพนักงานทำหน้าที่ แต่ไม่ได้เป็นผู้ประเมินภาษีและไม่ได้รับมอบหมายให้เรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยทั้ง 5 ก็ได้ทำการวินิจฉัยเรื่องนี้และได้เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอนแล้ว อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นว่า จำเลยทั้ง 5 กระทำผิดมาตรา 157

ขณะที่การนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 5 ได้รับประโยชน์อื่นใด การที่จำเลยทั้ง 5 ได้เลื่อนตำแหน่งก็เป็นกรณีปกติ ไม่ได้เป็นกรณีพิเศษ อีกทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของจำเลยทั้ง 5 ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 5 ร่ำรวยผิดปกติ ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
กำลังโหลดความคิดเห็น