xs
xsm
sm
md
lg

อัยการไม่ฎีกาคดี “พจมาน-บรรณพจน์” เลี่ยงภาษีชินฯ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งโต๊ะแถลงข่าว
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งโต๊ะแถลงอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ยื่นฎีกาสู้คดี “พจมาน-บรรณพจน์-กาญจนาภา” เลี่ยงภาษีซุกหุ้น ชี้ให้รอการลงโทษเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว อีกทั้งในชั้นการพิจารณาไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดๆ ที่ส่อเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี พร้อมปัดคดีใหญ่ไม่มีใครกล้าวิ่งเต้น



วันนี้ (26 ก.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวคดีภาษีหุ้นชินคอร์ปว่า นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ยื่นฎีกา จำเลยในคดีนี้ทั้ง 3 ราย คือ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำเลยที่ 1 คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หรือ ชินวัตร จำเลยที่ 2 และนางกาญจนาภา หงส์เหิน จำเลยที่ 3 ในข้อหาร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง โดยจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยทั้ง 3 เป็นเวลา 2 ปี

ต่อมาจำเลยทั้ง 3 ยื่นอุทธรณ์สู้คดี ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 1 แสนบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ให้ยกฟ้อง

โดยอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า 1.ประเด็นความผิดของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำเลยที่ 1 ในข้อหาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอาการ ตามมาตรา 37 (2) นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแล้ว เพียงแต่ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษใหม่ และให้รอการลงโทษ เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

เนื่องจากความรับผิดในทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร เป็นเพียงมาตรการที่ใช้เสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่ลงโทษจำคุกผู้ที่ไม่ยอม ชำระเสียภาษี หรือชำระไว้แล้วชำระภาษี หรือชำระไว้ไม่ถูกต้องอันมีพื้นฐานมาจากความรับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด จึงเห็นว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะฎีกาในประเด็นนี้อีก

2.ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จำเลยที่ 2 และนางกาญจนาภา หงส์เหิน จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกับเป็นจำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงการเสียภาษี นั้นเห็นว่าข้อเท็จจริง ฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะยกหุ้นของตนในบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีชื่อนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ครอบครองอยู่ ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชาย จำนวน 4.5 ล้านหุ้น โดยทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

แม้ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการอำพรางเพื่อไม่ต้องชำระภาษี แต่ในชั้นพิจารณา พยานโจทก์ปากนายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด ได้เบิกความว่า ในตลาดหลักทรัพย์มีตัวแทนถือหุ้นแทนเจ้าของที่แท้จริงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้าม และได้ให้คำแนะนำว่าหากต้องการโอนหุ้นที่ตัวแทนถืออยู่ให้แก่บุคคลอื่น ต้องทำเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ และในชั้นพิจารณายังได้ความอีกว่า จำเลยที่ 1 และนางสาวดวงตา ได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ก่อนเกิดเหตุนานแล้วและบัญชีดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวซื้อขายหุ้นมาโดยตลอด สอดคล้องกับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 และ 3 ที่อ้างว่า เข้าใจว่าการยกหุ้นให้ ต้องทำเป็นสัญญาซื้อขาย เพราะเป็นหุ้นที่ทำการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยทำเช่นนี้มาแล้วและไม่มีฝ่ายใดทักท้วง

ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นว่าจำเลยที่ 2 และ 3 มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีร่วมกับจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และ 3 จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

3.ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความเท็จหรือให้ถ้อยคำเท็จ ตาม มาตรา 37 (1) นั้น เนื่องจากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้เจ้าพนักงานประเมิน ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบตาม มาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากรณ์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ให้ถ้อยคำกับเจ้าพนักงานที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี การที่จำเลยที่ 1และ 2 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แต่ทำเป็นซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นการให้ถ้อยคำตามข้อ เท็จจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริง เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมายืนยันให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1และ 2 ให้แก่เจ้าพนักงานประเมินนั้นเป็นความเท็จอย่างแน่ชัด เพราะไม่เคยมีอยู่จริง และไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการเสกสรรปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ จึงยังไม่อาจฟังยุติว่าเป็นความเท็จ เพียงแต่มีน้ำหนักเชื่อถือได้น้อยเท่านั้น

ประกอบกับพยานโจทก์ คือ นายช.นันท์ เพ็ชรไพศิษฐ์ และนางเบ็ญจา หลุยเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากรผู้ที่จำเลยที่ 1และ 2 เคยให้ถ้อยคำไว้ และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการให้ถ้อยคำเท็จนั้น ต่างก็ไม่ได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จึงเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในประเด็นนี้เช่นกัน สำนักงานอัยการสูงสุดจึงเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่ฎีกาจำเลยทั้งสามในทุกประเด็น

เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คดีนี้อาจมีการวิ่งเต้นเพื่อไม่ให้อัยการยื่นฎีกาอีก นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คดีใหญ่ๆ อย่างนี้คงไม่มีใครกล้าวิ่งเต้นหรอก อัยการพิจารณาคำสั่งศาลไปตามหน้าที่ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคดี และอัยการไม่จำเป็นต้องฎีกา หรือสั่งไม่ฎีกาทุกคดี

ผู้สื่อข่าวถามว่าประธานศาลอุทธรณ์เคยมีความเห็นแย้งว่า กรณีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ไม่สมควรรอลงอาญา อัยการสูงสุดไม่ได้นำมาพิจารณาใช่หรือไม่

นายธนพิศ มูลพฤกษ์ กล่าวว่า เราได้พิจารณาแล้วครับ โดยเห็นว่ามาตรการทางกฎหมายของกรมสรรพากรนั้น ต้องการให้ชำระภาษี แล้วจำเลยก็ได้เสียภาษีถูกต้องทุกอย่าง ส่วนมาตรการทางคดีอาญาที่จะลงโทษนั้น เป็นเพียงมาตรการเสริมเท่านั้นเอง แต่จุดมุ่งหมายของกฎหมายนั้นต้องการภาษี ซึ่งก็ได้ภาษีเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่า ในส่วนของจำเลยที่อาจจะยื่นฎีกา กรณีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ นั้นตามขั้นอัยการจะร่วมแก้ฎีกาด้วยหรือไม่

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับจำเลยว่ายื่นหรือยัง ตนไม่ทราบ ถ้าเขายื่นมาก็ต้องดูอีกทีว่าสมควรแก้ไขอะไร หรือไม่ แต่ส่วนใหญ่เราก็จะไม่แก้ไขฎีกาของจำเลย

เมื่อถามว่า ประเด็นที่อัยการไม่ยื่นฎีกา ในส่วนของจำเลยที่ 2 คือคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หมายความว่ามีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ อย่างถูกต้องใช่หรือไม่

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ มีพยานปากหนึ่งบอกว่า การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทำกันปกติ คือ สมมุติว่าคุณไม่มีหุ้น ก็สามารถไปฝากกับเจ้าของบัญชี ที่เป็นสมาชิกโบรกเกอร์ ก็สามารถทำการซื้อขายหุ้นได้

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีการเชิญบุคคลใกล้ชิด หรือแกนนำนปช.ที่มีข่าวว่าเดินทางไปพบอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การขอติดตามตัว ต้องมีต้นเรี่องมาก่อน เช่น ผู้ที่มีอำนาจจับกุมและเป็นคนออกหมาย จะต้องแจ้งเรื่องมาให้อัยการสูงสุด ในฐานะผู้ประสานงานกลาง โดยมีรายละเอียดระบุที่อยู่อาศัยของบุคคลนั้น เพื่ออัยการจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ในวันเดียวกัน นายเมธา ธรรมวิหาร ทนายความของนายบรรณพจน์ กล่าวถึงกรณีที่อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฎีกาคดีเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของจำเลยทั้งสามคนทุกประเด็นว่า ในส่วนของนายบรรณพจน์นั้น ที่ผ่านมาทนายความได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาการยื่นฎีกา ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายเวลาจนถึง 25 ต.ค. แต่เมื่ออัยการสูงสุด มีความเห็นไม่ฎีกาคดีแล้วก็ต้องแจ้งให้นายบรรณพจน์ คู่ความ และผู้ใหญ่ที่ร่วมดูคดีทราบเพื่อพิจารณาต่อไปว่าจะยื่นฎีกาอีกหรือไม่ หรือเห็นควรให้คดีจบลงเพียงเท่านี้ เพราะเมื่ออัยการสูงสุด มีความเห็นไม่ฎีกาแล้วคดีก็มีผลเป็นที่สุดตามที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และนางกาญจนาภา หงส์เหิน ส่วนนายบรรณพจน์ ศาลพิพากษาว่ามีความผิดแต่โทษจำคุก 2 ปีนั้น ให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี และปรับเงิน 100,000 บาท ต่อไปนี้ต้องเป็นเรื่องของนายบรรณพจน์เองว่าจะยื่นฎีกาหรือไม่ ในฐานะทนายความก็ให้คำปรึกษาลูกความได้ว่าเมื่่ออัยการสูงสุดไม่ยื่นฎีกาและถ้านายบรรณพจน์ไม่ประสงค์ที่จะให้คดียืดเยื้อ คดีก็จบเพียงเท่านี้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ให้จำคุก แต่รอลงอาญาไว้ 1 ปี นั้น นายบรรณพจน์จะยอมรับได้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แฟ้มภาพ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หรือ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น