ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ในที่สุด อัยการสูงสุดก็มีคำสั่งไม่ยื่นฎีกาคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป ปล่อยพี่แมีย “แม้ว” ลอยนวล ซ้ำรอยคดีอุ้มโอ๊ค-เอมหลีกเลี่ยงภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปหมื่นล้านที่กรมสรรพากรไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเช่นกัน การไม่นำคดีขึ้นสู่ศาลสูงสุดอย่างมีพิรุธ สะท้อนการคืนชีพของระบอบทักษิณอย่างสมบูรณ์แบบอีกครั้ง
คำแถลงของโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 ในคดีภาษีหุ้นชินคอร์ปว่า นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ยื่นฎีกาจำเลยในคดีทั้ง 3 ราย คือ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำเลยที่ 1 คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จำเลยที่ 2 และนางกาญจนภา หงส์เหิน จำเลยที่ 3 ในข้อหาร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ทั้งที่คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาไม่เหมือนกัน เป็นปมพิรุธที่สร้างความกังขาให้กับสังคมอย่างมาก
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง โดยจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยทั้ง 3 เป็นเวลา 2 ปี ต่อมาจำเลยทั้ง 3 ยื่นอุทธรณ์สู้คดี ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษา แก้ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2)ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 1 แสนบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ให้ยกฟ้อง
เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาไม่เหมือนกัน อัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีสมควรนำคดีนี้ยื่นต่อศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุด เป็นผู้ชี้ขาด แต่อัยการสูงสุด กลับใช้วิธีตัดตอนคดีไม่ยื่นฎีกาโดยให้เหตุผลว่า
1. ความผิดของนายบรรณพจน์ นั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเพียงแต่ใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษใหม่และให้รอการลงโทษนั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว เนื่องจากความผิดทางอาญาที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรเป็นเพียงมาตรการที่ใช้เสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ ไม่ได้มีเจตนาลงโทษจำคุกผู้ไม่ยอมชำระภาษีหรือชำระไม่ถูกต้องอันมีพื้นฐานมาจากความรับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด จึงเห็นว่ากรณีนี้ไม่มีเหตุที่จะฎีกาในประเด็นนี้อีก
2.ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จำเลยที่ 2 และนางกาญจนาภา หงส์เหิน จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกับเป็นจำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงการเสียภาษี นั้นเห็นว่าข้อเท็จจริง ฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะยกหุ้นของตนในบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีชื่อนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ครอบครองอยู่ ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชาย จำนวน 4.5 ล้านหุ้น โดยทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
แม้ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการอำพรางเพื่อไม่ต้องชำระภาษี แต่ในชั้นพิจารณา พยานโจทก์ปากนายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด ได้เบิกความว่า ในตลาดหลักทรัพย์มีตัวแทนถือหุ้นแทนเจ้าของที่แท้จริงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้าม และได้ให้คำแนะนำว่าหากต้องการโอนหุ้นที่ตัวแทนถืออยู่ให้แก่บุคคลอื่น ต้องทำเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ และในชั้นพิจารณายังได้ความอีกว่า จำเลยที่ 1 และนางสาวดวงตา ได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ก่อนเกิดเหตุนานแล้วและบัญชีดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวซื้อขายหุ้นมาโดยตลอด สอดคล้องกับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 และ 3 ที่อ้างว่า เข้าใจว่าการยกหุ้นให้ ต้องทำเป็นสัญญาซื้อขาย เพราะเป็นหุ้นที่ทำการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยทำเช่นนี้มาแล้วและไม่มีฝ่ายใดทักท้วง
ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นว่าจำเลยที่ 2 และ 3 มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีร่วมกับจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และ 3 จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว
3.ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความเท็จหรือให้ถ้อยคำเท็จ ตาม มาตรา 37 (1) นั้น เนื่องจากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้เจ้าพนักงานประเมิน ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบตาม มาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากรณ์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ให้ถ้อยคำกับเจ้าพนักงานที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี การที่จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แต่ทำเป็นซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นการให้ถ้อยคำตามข้อ เท็จจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริง เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมายืนยันให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1และ 2 ให้แก่เจ้าพนักงานประเมินนั้นเป็นความเท็จอย่างแน่ชัด เพราะไม่เคยมีอยู่จริง และไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการเสกสรรปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ จึงยังไม่อาจฟังยุติว่าเป็นความเท็จ เพียงแต่มีน้ำหนักเชื่อถือได้น้อยเท่านั้น
ประกอบกับพยานโจทก์ คือ นาย ชนันท์ เพ็ชรไพศิษฐ์ และนางเบญจา หลุยเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากรผู้ที่จำเลยที่ 1 และ 2 เคยให้ถ้อยคำไว้ และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการให้ถ้อยคำเท็จนั้น ต่างก็ไม่ได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จึงเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในประเด็นนี้เช่นกัน สำนักงานอัยการสูงสุดจึงเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่ฎีกาจำเลยทั้งสามในทุกประเด็น
คำสั่งไม่ฎีกาของอัยการสูงสุดส่งผลให้คดีนี้จบสิ้นลงโดยที่ความเห็นแย้งของประธานศาลอุทธรณ์ที่มีความเห็นแย้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ได้มีโอกาสถูกหยิบยกขึ้นมาใช้สำหรับต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกัน ความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอให้อัยการสูงสุด ยื่นฎีกาในทุกข้อหากับจำเลยทุกคนก็เป็นหมัน
ทั้งนี้ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์ ได้ทำความเห็นแย้งองค์คณะผู้พิพากษาโดยเห็นว่า ไม่ควรรอการลงโทษจำคุกนายบรรณพจน์ เนื่องจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการหลีกเลี่ยงในคดีนี้มีจำนวนสูงถึง 273 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีนี้จบลงอย่างผิดปกติ ป.ป.ช.จึงเตรียมเดินหน้ายื่นถอดถอนนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ออกจากตำแหน่ง เช่นเดียวกันกับความเคลื่อนไหวจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เตรียมดำเนินการไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับอัยการสูงสุดเช่นกัน
การยุติคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปของนายบรรณพจน์ - คุณหญิงพจมาน - นางดวงตา ครั้งนี้ ไม่แตกต่างไปจากการยุติคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป - แอมเพิลริช ที่กรมสรรพากรไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกากรณีที่ศาลภาษีอากรกลาง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ให้นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ชนะคดีที่ยื่นฟ้องกรมสรรพากรที่เรียกเก็บภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป มูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท
คดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณ ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 329.2 ล้านหุ้นจาก บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด ใน ราคาหุ้นละ 1 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนที่จะขายต่อให้แก่บริษัท เทมาเส็กโฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ในราคา 49.25 บาท ทำให้ได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นละ 48.25 บาท ซึ่งต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ไต่สวน พบว่า เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี จึงส่งให้กรมสรรพากรประเมินภาษีบุคคลทั้งสอง คนละ 5,675 ล้านบาทหรือเกือบ 12,000 ล้านบาท บุคคลทั้งสองจึงยื่นฟ้องกรมสรรพากร
ต่อมา ศาลภาษีอากรกลาง วินิจฉัยว่า บุคคลทั้งสองไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริงเพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง
เมื่อศาลภาษีอากรกลาง วินิจฉัยเช่นนั้น โฆษกกรมสรรพากร จึงออกมาแถลงว่า จะไม่ยื่นอุทธรณ์ โดยยึดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การที่กรมสรรพากรจะเก็บภาษีหุ้นจากบุคคลทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบ ซ้ำยังต้องคืนเงินสด 200 ล้านบาท และหลักทรัพย์ที่ดินอีก 1,000 ล้านบาท ที่อายัดไว้คืนให้กับนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทาด้วย ไม่เช่นนั้นกรมสรรพากรอาจถูกฟ้องได้
ขณะที่นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการ คตส. มีความเห็นว่า การไม่ยื่นอุทธรณ์ของกรมสรรพากร ไม่น่าจะถูกต้อง และหากไม่ยื่นอุทธรณ์ก็ควรเรียกเก็บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ทันที หรือหากคิดว่า เรียกเก็บภาษีจากอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ก็ต้องอุทธรณ์เก็บภาษีจากบุตร และธิดาทั้ง 2 คนให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้รัฐเกิดความเสียหาย หากเก็บไม่ได้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร จะมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157
คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป-แอมเพิลริชนั้น เป็นคดีที่มีปัญหาข้อกฎหมายที่ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน เพราะแม้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะตัดสินว่า นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร จะเป็นผู้ถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ก็ตาม แต่ประมวลรัษฎากร มาตรา 61 ก็ได้ให้อำนาจกรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษีบุคคลที่มีชื่ออยู่ในหนังสือสำคัญ ซึ่งแสดงว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีเงินได้
การที่กรมสรรพากร ตัดตอนคดีเลี่ยงภาษีชินคอร์ป-แอมเพิลริช โดยไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพื่อให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ยังไม่ยุติชัดเจน จึงเป็นเหมือนการเอื้อประโยชน์ให้กับครอบครัวชินวัตร เช่นเดียวกันกับกรณีที่อัยการสูงสุด ไม่ยื่นฎีกาคดีเลี่ยงภาษีชินคอร์ปของนายบรรณพจน์ - คุณหญิงพจมาน - นางดวงตา ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินแตกต่างกัน จนทำให้เกิดความกังขาจากสังคมในเวลานี้