xs
xsm
sm
md
lg

“ประสงค์” อัดสรรพากรทำชาติสูญรายได้ ไร้คนรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล (ภาพจาก www.prasong.com)
“ประสงค์” เชื่อสรรพากรไม่กล้าตามเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปจาก “ทักษิณ” เจ้าของหุ้นตัวจริง เพราะทำตัวรับใช้มาตลอด ส่วนจะตั้งความหวังกับ “ธีระชัย” ได้มากน้อยแค่ไหนสังคมรู้ดี

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, หนังสือพิมพ์มติชน และอดีตนายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่เพิ่งลาออกจากสังกัด “มติชน” ที่เขาทำงานมาอย่างยาวนาน 26 ปี ได้เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ www.prasong.com เรื่อง “สรรพากรละเลยเก็บภาษีหุ้นชิน ชาติสูญเสียมหาศาล หาคนรับผิดชอบไม่ได้?” ตอกย้ำถึงความสูญเสียเงินภาษีจำนวนมากที่เกิดจากการไม่ยอมทำหน้าที่ของผู้บริหารในกรมสรรพากร ทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีที่เกิดขึ้นจากการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตรได้ และเชื่อว่าไม่มีผู้บริหารกรมสรรพากรคนใดจะกล้าไปตามเก็บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะเจ้าของหุ้นตัวจริง ส่วนจะตั้งความหวังอะไรกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หรือไม่ ใครที่ติดตามบทบาทนายธีระชัยมาตลอดคงตอบคำถามได้เป็นอย่างดี
โดยมีรายละเอียดดังนี้....

“สรรพากรละเลยเก็บภาษีหุ้นชิน ชาติสูญเสียมหาศาล หาคนรับผิดชอบไม่ได้?”
โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

ขณะที่สาธารณชนกำลังจับตาว่า อัยการสูงสุดจะยื่นฎีกาในคดีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ให้ยกฟ้องให้ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมานและให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น ในคดีหลีกเลี่ยงการชำระภาษีการโอนหุ้นหุ้น บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำนวน 546 ล้านบาท (รวมเบี้ยปรับ) จากหุ้น 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท หรือไม่นั้น

สิ่งที่ไม่ค่อยพูดถึงกันเท่าไหร่ คือ ความเสียหายหรือความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการไม่ยอมทำหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงในกรมสรรพากร ทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีที่เกิดขึ้นจากการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตรได้แม้แต่บาทเดียว

คดีภาษีการโอนหุ้นของครอบครัวชินวัตรมีอยู่ด้วยกัน 2 คดี

คดีแรก เป็นการโอนหุ้นจาก น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ ให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น แต่ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่า 738 ล้านบาท โดยคุณหญิงพจมาน สั่งจ่ายเช็คชำระค่าซื้อขายหุ้นเอง ซึ่งในทางกฎหมายได้ข้อยุติแล้วว่า หุ้นที่คุณหญิงพจมานโอนให้แก่นายบรรณพจน์ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

แม้แต่ศาลอุทธรณ์ในคดีข้างต้นก็เห็นว่า นายบรรณพจน์หลีกเลี่ยงภาษีเงินได้พึงประเมิน 546 ล้านบาท เช่นเดียวกับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากร เพียงแต่ว่า กรมสรรพากรยุคที่มีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล เป็นอธิบดี และนายศิโรฒม์ สวัสดิพาณิชย์ เป็นรองอธิบดีในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ละเลยหรือช่วยเหลือไม่ยอมเก็บภาษีจำนวนดังกล่าว ทำให้การประเมินภาษีในภายหลังเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจำนวนดังกล่าวได้อีก

ต่อมาแม้นายศิโรฒม์และพวกรวม 5 คนถูกไล่ออกจากราชการ แต่ก็ยังไม่มีการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบในทางแพ่ง

ตรงกันข้ามในยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ก๊วนบุคคลและข้าราชการที่ช่วยเหลือให้ครอบครัวชินวัตรไม่ต้องเสียภาษีการโอนหุ้นได้รับการปูนบำเหน็จเป็นใหญ่ในรัฐบาลและได้เลื่อนตำแหน่งคุมกรมสำคัญในกระทรวงการคลังกันถ้วนหน้า

คดีที่สอง กรณี นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 329.2 ล้านหุ้นจากบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด ในราคาหุ้นละ 1 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนที่จะขายต่อให้แก่บริษัท เทมาเส็กโฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ในราคา 49.25 บาท ทำให้ได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นละ 48.25 บาท

ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไต่สวน พบว่า เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี จึงส่งให้กรมสรรพากรประเมินภาษีบุคคลทั้งสอง คนละ 5,675 ล้านบาท หรือเกือบ 12,000 ล้านบาท บุคคลทั้งสองจึงยื่นฟ้องกรมสรรพากร

ปรากฏว่า ในช่วงแรก ก่อนที่ คตส.จะส่งเรื่องให้กรมสรรพากรภาษีประเมินภาษีนั้น ทั้งผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ต่างดาหน้าออกมาแถลงยืนยันว่าการโอนหุ้นดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี

แม้ต่อมาศาลภาษีอากรกลางจะให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาเป็นผู้ชนะคดีเมื่อปลายปี 2553 แต่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นว่า นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา มิใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริง โดยอ้าง คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท ว่า บุคคลทั้งสองเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ได้ประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังมีข้อถกเถียงในปัญหาข้อกฎหมายที่ยังไม่ยุติ และกรมสรรพากรยังไม่เคยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน แต่กรมสรรพากรกลับไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาอย่างค่อนข้างมีพิรุธ

เพราะที่ผ่านมา กรมสรรพากรมักตามไล่ล่าภาษีจากชาวบ้านแบบไม่ลดละ ไม่ว่าจำนวนเงินจะมากน้อยขนาดไหนก็ต้องสู้กันถึงศาลฎีกา

ตัวอย่างคือ คดีนางศิรินันท์ ศันสนาคม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากรว่า จำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2542 เพิ่มอีก 235.88 บาท เงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ที่คำนวณถึงวันที่ 30 เมษายน 2545 อีก 88.50 บาท ซึ่งในที่สุดชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะคดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2549)

เมื่อกรมสรรพากรไม่ยอมอุทธรณ์คดีดังกล่าว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการวินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐาน ขณะเดียวกันคงไม่มีผู้บริหารกรมสรรพากรหน้าไหนจะกล้าไปตามเก็บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะ “ตัวการ” เพราะที่ผ่านมาทำตัวเป็นผู้รับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างซื่อสัตย์มาตลอด

อาจมีคำถามว่า จะหวังอะไรกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้กำกับดูแลกรมสรรพากรได้หรือไม่

ใครที่ติดตามบทบาทนายธีระชัยมาตลอดคงตอบคำถามได้เป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น