xs
xsm
sm
md
lg

“ประสงค์” อัดสรรพากร บี้ภาษีชาวบ้าน 235 บ. แต่เว้นภาษีหุ้นชินคอร์ปหมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
“ประสงค์” อัดสรรพากรสองมาตรฐาน ไล่ล่าภาษีชาวบ้าน 235 บาท จนถึงฎีกาโดยไม่สนว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร ขณะที่ภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป 1.2 หมื่นล้านบาท ของตระกูลชินวัตร กลับไม่ยอมอุทธรณ์

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, หนังสือพิมพ์มติชน และอดีตนายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่เพิ่งลาออกจากสังกัด “มติชน” ที่เขาทำงานมาอย่างยาวนาน 26 ปี ได้เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ www.prasong.com เรื่อง “เปิด(ไร้?)มาตรฐานสรรพากร ภาษีแค่ 235 บ. ยื่นอุทธรณ์ แต่ภาษีชินวัตรหมื่นล.อุ้มเฉย?” วิพากษ์วิจารณ์มาตรฐานของกรมสรรพากร ในการจัดเก็บภาษีที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยมีการยื่นอุทธรณ์กรณีที่ประชาชนคนหนึ่งไม่เสียภาษีจำนวน 235 บาท เปรียบเทียบกับกรณีภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ของตระกูลชินวัตร กลับไม่ยื่นอุทธรณ์ใดๆ ทำให้ถูกมองว่ากรมสรรพากรเอื้อประโยชน์ต่อครอบครัวชินวัตรหรือไม่ โดย มีรายละเอียดดังนี้....

“เปิด(ไร้?)มาตรฐานสรรพากร ภาษีแค่ 235 บ. ยื่นอุทธรณ์ แต่ภาษีชินวัตรหมื่นล.อุ้มเฉย?”

โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

“สำหรับนักวิชาการด้านกฎหมายภาษีแล้ว การที่กรมสรรพากรไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกากรณีที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ให้นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชนะคดีที่ยื่นฟ้องกรมสรรพากรซึ่งเรียกเก็บภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น จำกัดหรือชินคอร์ป มูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง

เพราะที่ผ่านมา กรมสรรพากรมักตามไล่ล่าภาษีจากชาวบ้านแบบไม่ลดละไม่ว่าจำนวนเงินจะมากน้อยขนาดไหนก็ต้องสู้กันถึงศาลฎีกา

คดีที่ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นชาวบ้านที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่กรมสรรพากรเห็นว่า ขาดไปเพียง 235 บาท จึงเรียกเก็บ ชาวบ้านไม่ยอมยื่นฟ้องกรมสรรพากรต่อศาลภาษีอาการกลาง

ปรากฏว่า กรมสรรพากรแพ้ แต่ไม่ยอมยุติคดี ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยไม่สนใจว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าใช้จ่ายในศาลและของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายมหาศาลเพียงใด

แม้ชนะคดีก็ได้เงินเข้าคลังมาเพียงไม่กี่ร้อยบาท ขณะที่คดีภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปที่มีการประเมินภาษีสูงเกือบ 12,000 ล้านบาท แต่กรมสรรพากรกลับไม่ยอมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาให้วินิจฉัยข้อกฎหมายเป็นบรรทัดฐานทั้งๆที่ไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อน

พฤติกรรมของผู้บริหารกรมสรรพากรทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต้องการเอื้อประโยชน์ครอบครัวชินวัตรเหมือนที่เคยทำมาแล้วในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี

คดีการหลีกเลี่ยงภาษีโอนหุ้นสืบเนื่องจาก นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 329.2 ล้านหุ้นจาก บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด ในราคาหุ้นละ 1 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนที่จะขายต่อให้แก่บริษัท เทมาเส็กโฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ในราคา 49.25 บาท ทำให้ได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นละ 48.25 บาท

ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ไต่สวนพบว่า เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี จึงส่งให้กรมสรรพากรประเมินภาษีบุคคลทั้งสอง คนละ 5,675 ล้านบาท บุคคลทั้งสองจึงยื่นฟ้องกรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม ศาลภาษีฯ วินิจฉัยว่า บุคคลทั้งสองไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริงเพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (ชินวัตร) เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง การที่กรมสรรพากรจะเก็บภาษีหุ้นจากบุคคลทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบ

ด้าน นางจิตรมณี สุวรรณพลู รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรไม่ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากยึดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง จึงต้องคืนเงินสด 200 ล้านบาท และหลักทรัพย์ที่ดินอีก 1,000 ล้านบาท ที่อายัดไว้ คืนให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา มิเช่นนั้นกรมสรรพากรอาจจะถูกฟ้องได้ ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ขอความเห็นจากกระทรวงการคลังแล้ว พร้อมยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลใหม่

ขณะที่ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการ คตส.กล่าวว่า การไม่ยื่นอุทธรณ์ของกรมสรรพากร ไม่น่าจะถูกต้อง แต่หากไม่ยื่นควรเรียกเก็บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ทันที หรือหากคิดว่า เรียกเก็บภาษีจากอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ก็ต้องอุทธรณ์เก็บภาษีจากบุตร และธิดาทั้ง 2 คนให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้รัฐเกิดความเสียหาย หากเก็บไม่ได้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร จะมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 (อ้างอิงจากเว็บสถานีโทรทัศน์ TPBS วันที่ 8 สิงหาคม 2554)

(อ่าน “ชำแหละการยุติคดีภาษีชินคอร์ป มูลค่าหมื่นหนึ่งพันล้านบาทของชินวัตร” ประกอบ(ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ www.isranews.org))

สำหรับคดีตัวอย่างที่กรมสรรพากรไล่เก็บภาษีชาวบ้านอย่างเอาเป็นเอาตาย (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 6220/2549) นางศิรินันท์ ศันสนาคม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากรว่าจำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2542 เพิ่มอีก 235.88 บาท เงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ที่คำนวณถึงวันที่ 30 เมษายน 2545 อีก 88.50 บาท

โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ที่ขอให้เพิกถอน การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยจึงยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยให้เพิกถอน การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์

ให้จำเลย (กรมสรรพากร) ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 300 บาท

จำเลย (กรมสรรพากร) อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า กรณีที่โจทก์แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 เบญจ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) โดยมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วย โจทก์มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้พึงประเมินตามความในมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเต็มจำนวน 60,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ทวิ หรือไม่

เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ทวิ เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับประโยชน์ในการ หักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของตน ทั้งที่เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ไม่ว่า จะเป็นค่านายหน้า เบี้ยประชุม ตามมาตรา 40 (2) โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ทั้งสองประเภทดังกล่าวรวมกันได้ไม่เกิน 60,000 บาท โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเป็นการบังคับว่าต้องหักจากเงินได้พึง ประเมินประเภทใด ในสัดส่วนเท่าใด หรือต้องถัวเฉลี่ยกันอย่างไร ดังนี้ จึงหาใช่ว่า กรณีมีเงินได้พึงประเมินทั้งสองประเภทจะต้องถัวเฉลี่ยกันดังที่จำเลยเข้าใจและยึดเป็นแนวปฏิบัติไม่

เมื่อกฎหมายเปิดช่องไว้เช่นนี้ จึงเท่ากับมอบอำนาจในการตัดสินใจให้แก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินว่า ควรเลือกหักค่าใช้จ่ายในเงินได้ประเภทใด อย่างไร ในกรณีที่ผู้นั้นมีเงินได้พึงประเมินที่อาจหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งสองประเภท ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระภาษีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในส่วนนี้ ดังเช่น กรณีที่โจทก์เลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เต็มจำนวน 60,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง เพียงประเภทเดียว ไม่ประสงค์จะหักค่าใช้จ่ายตามสิทธิจากเงินได้ในมาตรา 40 (2) ซึ่งสามีโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีในส่วน เงินได้พึงประเมินของโจทก์ผู้เป็นภริยาตามความในมาตรา 57 ตรี

ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงชอบ แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 200 บาท แทนโจทก์

(ธนพจน์ อารยลักษณ์ - ทองหล่อ โฉมงาม - โนรี จันทร์ทร องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา)

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นชัดว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา มีปัญหาในข้อกฎหมายเช่นเดียวกันจึงควรให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเพื่อเป็นบรรทัดฐาน แม้ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะวินิจฉัยว่า บุคคลทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณและพจมานก็ตาม แต่ประมวลรัษฎากรมาตรา 61 ก็ให้อำนาจกรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษีจากบุคคลที่มีชื่ออยู่ในหนังสือสำคัญซึ่งแสดงว่า เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีเงินได้

การที่ผู้บริหารกรมสรรพากรด่วนสรุปไม่ยอมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาทั้งๆที่เป็นเงินกว่า 11,000 บาท แต่เงินแค่ 235 บาทกลับยื่นอุทธรณ์แบบเอาเป็นเอาตาย ทำให้สงสัยว่า มุ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ครอบครัวชินวัตร หรือไม่”
พานทองแท้ และแพรทองธาร ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น