xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คืนภาษี “โอ๊ค-เอม” คลัง-สรรพากรเปลี่ยนสี รับ “คุณปู” นายใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นกรณีศึกษาในประวัติศาสตร์ราชการไทยเลยทีเดียว สำหรับกรณีที่ “กรมสรรพากร” มีความเห็นเสนอไม่อุทธรณ์และคืนภาษี 1,200 ล้านบาทที่อายัดไว้ ให้กับ “โอ๊ค-พานทองแท้ และว่าที่เจ้าสาว “เอม”-น.ส.พินทองทาชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของ นช.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ผ่านทางบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสเมนต์นอกตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ กรมสรรพากรโดยนางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ให้เหตุผลว่า ศาลภาษีกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2553 ว่าทั้งสองคนไม่ใช่เจ้าของหุ้นตัวจริงเพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชรเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง การที่กรมสรรพากรจะเก็บภาษีหุ้นจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น กรมสรรพากรจึงได้คืนเงินสดประมาณ 200 ล้านบาทและทรัพย์สินที่เป็นที่ดินและหลักทรัพย์อีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่เคยอายัดไว้คืนให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทว่า คำอธิบายของโฆษกกรมสรรพากรเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง เนื่องจากตามปกติแล้วหน่วยงานราชการไทย โดยเฉพาะจารีตและธรรมเนียมปฏิบัติของกรมสรรพากรจะต้องต่อสู้คดีความให้ถึงที่สุดเสียก่อนแล้วถึงจะปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่กรณีภาษีของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา กรมสรรพากรกลับไม่ทำเช่นนั้น

ด้วยเหตุดังกล่าวกรมสรรพกรจะต้องตอบคำถามสังคมและประชาชนผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่า ทำไมกรมสรรพากรจึงตัดสินใจเยี่ยงนี้ เพราะแม้ศาลภาษีกลางจะมีคำพิพากษาออกมา แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าคดีจะถึงที่สุด เนื่องจากกรมสรรพากรสามารถต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ได้

ทำไมหน่วยงานรัฐอย่างกรรมสรรพากร รวมถึงกระทรวงการคลังที่เห็นชอบตามที่เสนอจึงไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ?

นอกจากนี้ ห้วงเวลาที่กรมสรรพากรประกาศว่าจะคืนเงินภาษีให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทานั้น ก็ไม่ใช่ห้วงเวลาปกติ หากแต่เป็นช่วงเวลาของการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล โดยที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผู้ซึ่งสืบสายโลหิตเดียวกับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาคือเป็น “น้องสาวของพ่อ” หรือ “อา” นั่นเอง

ดังนั้น จึงมิอาจถูกมองเป็นอย่างอื่นได้ว่า กรรมสรรพากร“เปลี่ยนสีเพื่อเอาใจรัฐบาลใหม่” หรือ “เปลี่ยนสีเพื่อรักษาเก้าอี้อธิบดี-รองอธิบดี” ของตัวเองเอาไว้ โดยแสดงให้นายกรัฐมนตรีและผู้มีบารมีตัวจริงอย่าง นช.ทักษิณว่า กรมสรรพากรพร้อมที่จะปฏิบัติการรับใช้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

เพราะต้องไม่ลืมว่า การที่กรมสรรพากรตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดีสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเจอข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากปกติเมื่อมีคดีความหรือมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น กรมสรรพากรก็จะดำเนินการอุทธรณ์ทุกเรื่อง เพื่อให้เรื่องถึงที่สิ้นสุด และไม่มีปัญหาว่าเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสียภาษี

ที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรเคยมีฎีกาในเรื่องทำนองนี้มาแล้ว โดยอิงตามกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ตัวแทน ซึ่งว่าด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวการต่อตัวแทนและความรับผิดชอบของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอก กล่าวคือ กรมสรรพากรสามารถคิดภาษีจากตัวแทนคือนายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา แล้วให้ตัวแทนสามารถที่จะเรียกร้องเอาเงินชดใช้จากตัวการคือ นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมานได้

“หลังจากศาลภาษีอากรกลางตัดสินออกมา หากเราเห็นว่ายังมีข้อมูลที่ไม่ชัดเจน และอาจมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เราก็จะยื่นอุทธรณ์ได้ แต่กรณีดังกล่าวนี้เห็นว่า เมื่อมีคำสั่งศาลฎีกาออกมาว่า ใครเป็นเจ้าของหุ้น และคำสั่งศาลภาษีอากรออกมาชัดเจนว่าเราประเมินภาษีไม่ถูกต้อง จึงเห็นว่าอุทธรณ์ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ต้องคืนเงินที่อายัดไว้กลับไป และได้รายงานกระทรวงการคลัง รวมถึงนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังในขณะนั้น ก็พอทราบเรื่องดังกล่าว แต่หากจะมองว่ากรรมสรรพากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่อุทธรณ์ให้ถึงที่สุด เชื่อว่าสามารถอธิบายข้อเท็จจริงได้ และยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะได้ดำเนินการคืนเงินไปก่อนที่จะรู้ผลการเลือกตั้งด้วย” นางจิตรมณีชักแม่น้ำทั้งห้าอธิบายเหตุผลเพิ่มเติม

ขณะที่นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องที่กรมสรรพากรไม่ยื่นอุทธรณ์กรณีเก็บภาษีหุ้นจากนายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร คนละ 5,675 ล้านบาท หรือรวมกัน 12,000 ล้านบาท เนื่องจากมอบหมายให้รองอธิบดีกรมสรรพากรเป็นผู้ดูแล อย่างไรก็ดี ยืนยันว่ากรมสรรพากรดำเนินการตามหลักการและกรอบของกฎหมาย ไม่ได้มาเร่งดำเนินการในช่วงนี้แต่อย่างใด

แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นคือ นายสาธิตได้เรียกผู้ให้ข่าวมาต่อว่าและได้กำชับเจ้าหน้าที่สรรพากร ให้รักษาข้อมูลการเสียภาษีของบุคคลทั่วไปเป็นความลับด้วย

ซ้ำร้ายในขณะที่กรมสรรพากรตัดสินใจคืนภาษีให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา กรมสรรพากรก็มิได้แสดงเจตนาให้เห็นว่า จะดำเนินการเรียกเก็บภาษีกับผู้เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงคือ นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร แต่ประการใด โดยรองอธิบดีคนเดียวกันนี้ระบุชัดเจนว่า “สำหรับการดำเนินการเก็บภาษีหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาททางกรมอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดว่าจะเก็บภาษีจากทั้งสองคน ได้หรือไม่”

เด็ดสะระตี่ชนิดที่ประชาชนคนเสียภาษีถึงกับอึ้งเลยทีเดียว เพราะต้องไม่ลืมอีกเช่นกันว่า คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางมีมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 หรือราว 7 เดือนที่ผ่านมา แต่กรมสรรพากรมิได้ดำเนินการอะไรที่จะเรียกเก็บภาษีหุ้นจาก นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมานที่ศาลระบุเอาไว้ชัดเจนเลยแม้แต่น้อย แถมระบุอีกต่างหากว่า “กรมอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดว่าจะเก็บภาษีจากทั้งสองคนได้หรือไม่ …ต้องดูว่าขาดอายุความหรือยัง เพราะถ้าขาดอายุความ กรมสรรพากรก็ไม่สามารถเก็บภาษีหุ้นจากทั้งสองคนได้”

ดังนั้น เหตุผลที่กรมสรรพากรอ้างว่า ศาล ฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาไว้ชัดเจนว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริง ดังนั้น การอุทธรณ์ไม่มีประโยชน์ กรมต้องไปดำเนินเรียกเก็บภาษีจากเจ้าของหุ้นตัวจริง ก่อนที่จะหมดอายุความทำให้รัฐเสียหาย จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะถ้ากรมสรรพากรมีเจตนาที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติจริงๆ ก็จะต้องส่งฟ้อง นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ในฐานะเจ้าของหุ้นตัวจริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากกรมสรรพากรแล้ว อีกบุคคลหนึ่งที่เข้าข่ายต้องรับผิดชอบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็คือ “นางสุภา ปิยะจิตติ” รองปลัดกระทรวงการคลังที่ลงนามให้ความเห็นชอบว่า ไม่ต้องอุทธรณ์คดีในศาลภาษีตามที่กรมสรรพากรเสนอ

“นายแก้วสรร อติโพธิ” อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่รัฐ(คตส.) ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การดำเนินการของกรมสรรพากรไม่น่าจะถูกต้อง เพราะหากไม่ยื่นอุทธรณ์ภาษีนายพานทองแท้และน.ส.พินทองทา ก็ควรเรียกเก้บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณทันที หรือหากคิดว่าเรียกเก็บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ ก็ต้องอุทธรณ์เก็บภาษีจากบุตรทั้งสองคนให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้รัฐเกิดความเสียหาย

“ไม่เข้าใจทำไมกรมสรรพากรไม่เก็บจากนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทาแล้ว ยังมาบอกการเก็บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณต้องขอดูก่อน ซึ่งสุดท้ายแล้วถ้ากรมสรรพากรเก็บภาษีหุ้น 1.2 หมื่นล้านบาทจากคนในครอบครัวชินวัตรไม่ได้ ผู้บริหารกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรน่าจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย”นายแก้วสรรกล่าว

ส่วนการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทยตั้งคำถามถึงกรณีดังกล่าวเอาไว้พอสมควร อย่างเช่น.....

“ผมไม่ทราบเหตุผลที่จะไม่ดำเนินการมันเพราะอะไร”

“ต้องให้เขาชี้แจง หากจะวินิจฉัยอย่างนั้น รายได้ที่เกิดขึ้นจะไปเก็บจากคนอื่นหรือเปล่า”

“”หากจะมีการวินิจฉัยว่าบุคคลเหล่านี้ ไม่ต้องเสีย ก็ต้องไปวินิจฉัยต่อว่าแล้วใครจะต้องเป็นผู้เสีย มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าไม่มีใครเสียเลย คงต้องวินิจฉัยไปพร้อมๆ กัน”

“ทำอะไรแบบนี้ต้องมีหลักที่อ้างอิงได้ในเชิงกฎหมาย ไม่งั้นจะเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะถูกดำเนินการเสียเอง เพราะถ้าไปทำในลักษณะที่รัฐเสียหายก็จะต้องถูกดำเนินการอยู่แล้ว”

แน่นอน คำถามของนายอภิสิทธิ์เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่นายอภิสิทธิ์ก็ต้องตอบคำถามที่อีกเช่นกันก็คือ แล้วทำไมในช่วงที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มถึงไม่ดำเนินการให้เรียบร้อย

ทั้งนี้ สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2549 เมื่อตระกูลชินวัตรประกาศชายหุ้นชินคอร์ป 49% ให้กับกองทุนเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์ในราคากว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีการเสียภาษีเงินได้ โดยหุ้นชินคอร์ปก้อนนี้ถูกแบ่งให้มีชื่อลูกและพี่น้องของ นช.พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของอยู่ก่อนแล้วนำมาขายในคราวเดียวกัน ราคาเดียวกัน โดยเป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ในชื่อบุคคลธรรมดา

เรียกว่า ทำกำไรมหาศาลให้กับผู้ถือหุ้นเลยทีเดียว

จากนั้นในปี 2550 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่รัฐ(คตส.) ได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่า มีหุ้นชินคอร์ปที่อยู่ในมือของคนในตระกูลชินวัตร 11% ถืออยู่ในนาม “บริษัท แอมเพิลริช” และยังไม่ได้เสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย

กล่าวคือก่อนที่จะขายหุ้น 49% ให้เทมาเส็ก หุ้นก้อนอื่นๆ ได้ถูกใช้ชื่อบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของทั้งสิ้นเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษี แต่มีหุ้นจำนวน 11% ที่ถืออยู่โดยแอมเพิลริช บริษัทที่ นช.พ.ต.ท.ทักษิณก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2542 แล้วแบ่งหุ้นให้บริษัทซื้อไปในราคาทุนหุ้นละ 1 บาท และเมื่อ นช.พ.ต.ท.ทักษิณก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544 ก็ได้ชี้แจงให้สาธารณชนได้ทราบว่า ได้โอนบริษัทนี้ให้ลูกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ต่อมาใน 2549 ก่อนที่จะรวมหุ้น 49% ขายให้กับกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ในราคาหุ้นละ 49.25 บาทนั้น หุ้นแอมเพิลริช 11% หรือ 320 ล้านหุ้น ซึ่งมีมูลค่าการขายราว 1.5 หมื่นล้านบาท และทำกำไรทันที 1.2 หมื่นล้านบาท เพียงแค่ 1 วันก่อนขายหุ้นให้เทมาเส็ก ก็มีการเล่นแร่แปรธาตุเพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายด้วยการขายหุ้น 320 ล้านหุ้นนี้ให้กับโอ๊คและเอมก่อนในราคาทุนหุ้นละ 1 บาท เพื่อที่จะทำให้เป็นการขายในนามบุคคลธรรมดา มิใช่ในนามแอมเพิลริชซึ่งเป็นนิติบุคคลและต้องเสียภาษีตามกฎหมาย จากนั้นทั้งโอ๊คและเอมก็นำหุ้นจำนวนดังกล่าวขายให้กับเทมาเส็กอีกทีในราคาหุ้นละ 49.25 บาท

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทามีกำไรจากการซื้อหุ้นและขายหุ้นถูกจากบริษัทของตัวเอง๊ในครั้งนี้ทันทีหุ้นละ 48.25 บาท เพราะซื้อมาในราคาหุ้นละแค่ 1 บาท

และผลที่ตามมาก็คือ ประเทศไทยขาดภาษีจากการขายครั้งนี้ไปทันทีกว่า 2.7 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายรัษฎากรนั้น การที่นิติบุคคลขายสมบัติให้พนักงานหรือกรรมการของตนในราคาถูกต้องถือว่า คนของบริษัทนั้นมีเงินได้เกิดขึ้นไม่ต่างไปจากการให้โบนัส ดังนั้น กรมสรรพากรจึงมีมติให้ดำเนินการฟ้องร้องนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาพร้อมทั้งอายัดทรัพย์กว่าพันล้านบาท

จากนั้นเรื่องก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลเมื่อทั้งนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทานำเรื่องเข้าสู่ศาลภาษีอากรกลางเพื่อให้ถอนการอายัดทรัพย์ก้อนนั้น และในระหว่างนั้นเองศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มีคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านของ นช.ทักษิณว่า หุ้นชินวัตรทั้ง 49% แท้ที่จริงยังเป็นของ นช.ทักษิณและมาดามพจมาน ลูกและพี่น้องล้วนแล้วแต่ถูกใช้ชื่อถือหุ้นแทนทั้งสิ้น ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลภาษีอาการกลางจึงพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุที่เงินจำนวนนี้ไม่ใช่ของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สุดท้ายเรื่องก็เลยกลับกลายเป็นว่า กรมสรรพากรอ้างคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางโดยคืนเงินที่อายัดไว้ให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ด้วยการตัดสินใจไม่อุทธรณ์ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ที่พึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งมิได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นในการปกป้องทรัพย์สมบัติของประเทศชาติในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับ นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมานเพื่อเรียกเก็บภาษีจากเจ้าของหุ้นตัวจริงให้ตกเป็นของแผ่นดิน

อย่างนี้ศัพท์วัยรุ่นเขาต้องใช้คำว่า “เกรียนจริง รัยจริง”

แต่จะอย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะก็เป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ นช.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คือต้องการเอาทรัพย์สินคืน เพียงแต่กรมสรรพากรได้แสดงและตอกย้ำให้ประชาชนคนไทยเห็นถึงทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น

และถ้าสุดท้ายแล้วกรมสรรพากรไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากคนในตระกูลชินวัตรได้จริง ประชาชนคนไทยคงต้องพร้อมใจกับเลิกเสียภาษีกันทั้งประเทศเสียแล้วกระมัง
กำลังโหลดความคิดเห็น