ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภายใต้สโลแกน “แก้ไขไม่แก้แค้น”ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ประกาศไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ภาพลักษณ์รัฐบาล “ปูแดง 1”จึงออกมาในลักษณะปรองดองประนีประนอมกับทุกฝ่าย โดยการไม่ให้คนเสื้อแดงได้เป็นรัฐมนตรี และไม่มีการย้ายล้างบางข้าราชการประจำเกิดขึ้นโดยทันที
แต่เมื่อดูจากการจัดวางตำแหน่งรัฐมนตรีหลายตำแหน่งที่เห็นชัดเจนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ส่วนตัวของคนในตระกูลชินวัตรแล้ว ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่คือ “ครม.เพื่อแม้ว” หรือ “แฟมิลีแคบิเนต”อย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ให้นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และกำกับหลักทรัพย์ (กลต.)ที่เคยให้การช่วยเหลือตระกูลชินวัตรในคดีซุกหุ้นภาค 3 หรือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ล้วนมาจากสายตรงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะตัวนายสุรพงษ์เองไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน นอกจากเคยไปเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา และไปเยี่ยม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ต่างประเทศเท่านั้น
สาเหตุที่นายสุรพงษ์ได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงกระทรวงนี้ ต้องบอกว่า เป็นเพราะความไว้วางใจจาก พ.ต.ท.ทักษิณว่านายสุรพงษ์จะรับใช้โดยไม่ขัดขืน ชนิดสั่งซ้ายหันขวาหันได้
ความไว้วางใจที่มีต่อตัวนายสุรพงษ์ส่วนหนึ่งมาจากความเป็นญาติ เนื่องจากนางสุมาลี โตวิจักษณ์ชัยกุล น้องสาวบิดานายสุรพงษ์ได้แต่งงานกับนายเสถียร ชินวัตร น้าชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากบทบาทของนายสุรพงษ์ในช่วงที่ผ่านมา ที่ออกมาปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แบบไม่กลัวเปลืองตัวใดๆ ทั้งสิ้น
นับตั้งแต่กลุ่มนักการเมืองนอมินีทักษิณต้องหลุดจากอำนาจ เพราะศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อปลายปี 2551 ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุรพงษ์ได้เริ่มงานแรก ด้วยการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบสวนเอาผิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีการขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือส่งเอสเอ็มเอสเชิญชวนประชาชนร่วมแก้ไขวิกฤติกับรัฐบาล
หลังจากนั้น นายสุรพงษ์ก็มีผลงานอื่นๆ ตามมา เช่น การออกมาแก้ต่างให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่โฟนอินเข้าไปยังรายการของโทรทัศน์ดีทีวีว่า ไม่ผิดกฎหมาย
หลังเหตุการณ์ “เมษาเลือด” ปี 2552 นายสุรพงษ์มีบทบาทสำคัญในการอภิปรายตั้งคำถามต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กรณีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง โดยอ้างว่าคนเสื้อแดงไม่รู้เรื่องการเผารถเมล์ การยึดรถแก๊ส ขณะเดียวกันก็กล่าวหาว่ารัฐบาลจัดฉากเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่ม นปช. และยังเถียงคอเป็นเอ็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมเผาเมืองของคนเสื้อแดง แต่ยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณคือ “นายใหญ่”ของเขา
ผลงานที่สร้างความฮือฮาต่อตัวนายสุรพงษ์ ก็คือในช่วงที่คนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวล่ารายชื่อประชาชนเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อกลางปี 2552 ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดหลักเกณฑ์ที่ระบุว่าผู้ที่จะยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้นั้นต้องเป็นญาติใกล้ชิดเท่านั้น นายสุรพงษ์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมลงชื่อ จึงประกาศให้คนทั้งประเทศรู้เป็นครั้งแรกว่าเขาเป็นญาติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อยืนยันว่าการยื่นถวายฎีกาครั้งนี้มีความชอบธรรม
ผลงานของนายสุรพงษ์ที่พอจะเกี่ยวข้องกับต่างประเทศบ้าง คือเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 นายสุรพงษ์ได้ออกมาปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีที่หนังสือพิมพ์ไทมส์ออนไลน์ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะที่หมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง โดยอ้างว่าเป็นแผนของพรรคประชาธิปัตย์ที่จับมือกับหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวบิดเบือนคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณที่ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลกัมพูชา และเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของนายฮุนเซน โดยอ้างว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคต และยังอ้างว่า นี่ไม่ใช่การทรยศชาติแต่เปรียบเหมือนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ถูกพม่าจับตัวไปเลี้ยงไว้และได้เรียนวิชาพม่าสุดท้ายก็กลับมากู้ประเทศ
ในวันถัดมา นายสุรพงษ์ ก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการนำ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งไปเยี่ยม พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เดินทางมากัมพูชาด้วย
ในเดือนมกราคม 2553 ซึ่งพรรคเพื่อไทยเตรียมการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ นายสุรพงษ์ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้ประกาศว่าจะพา ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินทางไปขอคำแนะนำเกี่ยวกับการอภิปรายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีกำหนดจะเดินทางมายังกัมพูชาอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน
แม้ว่าในครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ได้เดินทางมากัมพูชาตามกำหนดและการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลถูกเลื่อนออกไปเพื่อหลีกทางให้กับการชุมนุมคนเสื้อแดง แต่นายสุรพงษ์ก็ยังมีบทบาทในการปกป้องนายใหญ่ โดยหลังจากที่นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ออกมาเปิดเผยว่ามีการโอนเงินจากต่างประเทศเพื่อเป็นท่อน้ำเลี้ยงคนเสื้อแดง นายสุรพงษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญนายปณิธานเข้าชี้แจงกรณีดังกล่าว และอ้างว่าจากการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการโอนเงินเข้ามาเป็นท่อน้ำเลี้ยงแต่อย่างใด และแสดงความไม่พอใจที่นายนายปณิธานไม่มาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ ด้วยตัวเอง
นายสุรพงษ์ยังใช้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ เตะถ่วงกระบวนการเรียกเก็บเงินภาษีการซื้อขายหุ้นจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร จำนวน 12,000 ล้านบาท โดยการเรียกอธิบดีกรมสรรพากรไปชี้แจง เมื่อวันที่ 101 มีนาคม 2553 และให้ความเห็นส่วนตัว ว่า กรมสรรพากรสามารถเรียกเก็บภาษีจากทั้งสองคนได้ เนื่องจากศาลระบุว่าหุ้นชินคอร์ปอยู่ในความครอบครองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งล่าสุดหลังจากศาลภาษีกลางมีคำพิพากษาว่าไม่สามารถเก็บภาษีได้ ทางกรมสรรพกรก็ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว
จะเห็นได้ว่า นายสุรพงษ์รับใช้ตระกูลชินวัตรชนิดที่ไม่สนใจถูกผิดมาโดยตลอด จึงได้รับความไว้วางใจให้มาเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการปลดล็อกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับประเทศโดยปราศจาความผิด หรืออย่างน้อยๆ ก็มีหน้ามีตาในเวทีต่างประเทศมากขึ้นว่าเดิม
งานแรกที่นายสุรพงษ์เผยไต๋ออกมาแล้วคือการคืนหนังสือเดินทางการทูตหรือพาสปอร์ตแดงให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้สั่งยกเลิกไปเมื่อเดือนธันวาคม 2551 โดยนายสุรพงษ์อ้างว่า จะให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูว่าการยกเลิกเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่
ทั้งๆ ที่หลักเกณฑ์การยกเลิกพาสปอร์ตนั้น ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า กระทรวงการต่างประเทศจะไม่ออกหนังสือเดินทางให้แต่บุคคลผู้ต้องคดี ไม่ว่าคดีจะสิ้นสุดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าควรจะถูกยกเลิกหรือไม่ เพราะถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกในคดีที่ดินรัชดาไปแล้ว และมีคดีทุจริตรวมทั้งคดีก่อการร้ายติดตัวอีกรวมแล้วนับสิบคดี จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไปพิจารณาคืนพาสปอร์ตให้อีก
ที่ต้องจับตาเป็นอย่างยิ่งก็คือการฟื้นสัมพันธ์กับกัมพูชา จะหมายถึงการสมยอมกันเรื่องเขตแดนเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางทะเลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมีเอี่ยวอยู่ด้วยหรือไม่
ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็ตาม แต่การให้นายสุรพงษ์มานั่งในตำแหน่ง “รัฐมนตรีเพื่อนาย” พร้อมทำทุกอย่างเพื่อเอื้อผลประโยชน์ส่วนตัวให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจึงเป็นจุดอ่อนและจะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงจุดจบเร็วกว่าที่คิด