xs
xsm
sm
md
lg

อัยการไม่ฎีกาคดีหนีภาษี “อ้อ-บรรณพจน์” ก็รอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัดเจนแล้วว่า ฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ต้องการให้มีการสู้คดีถึงที่สุดคือไปถึงศาลฎีกาเลย หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีการเลี่ยงภาษี 546 ล้านบาท จากการโอนหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ

ให้ยกฟ้อง คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน และแก้การลงโทษนาย บรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานบริหารบริษัทชินคอร์ป จากเดิมที่ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก 3 ปีไม่รอลงอาญา เหลือ 2 ปี และให้รอลงอาญา

โดย ป.ป.ช.ได้ระบุผ่านการเปิดเผยจาก นายวิชา มหาคุณ หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช. ที่บอกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแล้วว่า หากอัยการสูงสุดมีหนังสือถามความเห็นมายัง ป.ป.ช.ในฐานะต้นเรื่องคดีดังกล่าวที่รับช่วงมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่า ป.ป.ช.เห็นควรอย่างไร ป.ป.ช.มีมติว่าคดีนี้สมควรต้องมีการยื่นฎีกา

จึงต้องรอดูกันแล้วว่า ทางอัยการจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร

เพราะล่าสุดทางอัยการก็ยังไม่ตอบรับเต็มร้อยเหมือน ป.ป.ช. โดยนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ที่เป็นต้นเรื่องคดีนี้ออกมาบอกว่า จะขอรอดูคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับเต็มก่อน เพื่อดูว่าศาลอุทธรณ์มีความเห็นอย่างไร ถึงแก้ไขพิพากษาศาลชั้นต้น จากนั้นถึงค่อยทำความเห็นส่งไปให้นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุดที่จะต้องเป็นคนลงนามการยื่นฎีกาตามลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลายเสียงยังเชื่อว่า อัยการไม่น่าจะยุติคดีไว้แค่นี้ น่าจะต้องยื่นฎีกา

เหตุเพราะเรื่องนี้เป็นคดีใหญ่ สังคมจับตามองอย่างมาก เพราะคุณหญิงพจมานเวลานี้ก็คือ พี่สะใภ้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นอดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีตัวจริง ไม่ใช่ยิ่งลักษณ์

ขณะที่ บรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรมก็ไม่ใช่คนอื่นไกลสำหรับยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นทั้งเครือญาติและหุ้นส่วน-ลูกพี่ทางธุรกิจมาก่อน บรรณพจน์ก็อดีตผู้บริหารสูงสุดของชินคอร์ปในช่วงที่ยิ่งลักษณ์ก็คือผู้บริหารคนหนึ่งของเอไอเอสที่เป็นบริษัทลูกในเครือชินคอร์ป

ส่วนในทางการเมือง ก็รู้กันดีว่าทั้งคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ก็มีส่วนสำคัญทั้งในพรรคเพื่อไทยและในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐมนตรีหลายคนก็ล้วนเป็นคนที่ได้รับการหนุนหลังจากหญิงอ้อและบรรณพจน์

ดังนั้น หากอัยการไม่ทำการยื่นฎีกาภายใน 30 วันหลังจากศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาไปเมื่อ 24 สิงหาคม 2554 แต่กฎหมายก็ยังเปิดช่องไว้อีกคือหากอัยการดำเนินการไม่ทัน ก็ยังสามารถยื่นคำร้องขออนุญาตศาลขยายเวลาออกไปอีก แต่ถ้าสุดท้ายอัยการไม่ยื่นฎีกา

รับรองได้ว่า อัยการงานเข้าแน่

อัยการจะตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก หรือแม้แต่ว่ายื่นฎีกาไปแล้วแต่สังคมมองว่าอัยการต่อสู้ไม่เต็มที่ในการแย้งประเด็นข้อกฎหมายต่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ย่อมไม่เป็นผลดีกับอัยการแน่นอน

เนื่องจากคดีนี้แตกต่างจากคดีอื่นๆ ที่อัยการกับป.ป.ช.มักมีปัญหาต่อกันในเรื่องการทำความเห็นทางคดีกันมาตลอดในการยื่นฟ้องต่อศาล

อย่างล่าสุด คดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ที่อัยการก็มีความเห็นแย้งกับ ป.ป.ช.จนทำให้ ป.ป.ช.ต้องยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง และสุดท้ายศาลฎีกาก็รับคำฟ้องไปแล้วเมื่อ 24 สิงหาคมเช่นกัน

อัยการต้องไม่รู้ว่า คดีเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ ฯ เป็นคดีที่อัยการสูงสุดในยุค พชร ยุติธรรมดำรง เป็นอัยการสูงสุดเป็นคนยื่นฟ้องต่อศาล และเป็นคดีแรกของ คตส.ที่ศาลตัดสิน จึงเท่ากับว่าคดีนี้อัยการเป็นฝ่ายนำคดีเข้าสู่ศาลด้วยตัวเองไม่ใช่คตส.และป.ป.ช. ดังนั้นหาก อัยการสูงสุดในยุค จุลสิงห์ วสันตสิงห์ ไม่ยอมเดินเรื่องให้ถึงที่สุดก็คงสร้างเสียงวิจารณ์ให้กับสังคมไม่น้อย

หลังก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรก็ไม่ยื่นอุทธรณ์หลังศาลภาษีอากรกลาง มีคำตัดสินให้กรมสรรพากรงดเว้นการเก็บภาษีนายพานทองแท้และ น.ส. พินทองทา ชินวัตร กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปในส่วนของหุ้นที่ถือผ่านแอมเพิลริชฯ จนนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์อย่างหนักว่า

กรมสรรพากรมีความเห็นในเรื่องนี้หลังรัฐบาลเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีทำให้ผู้บริหารกรมสรรพากรเลยยุติเรื่อง เป็นผลให้มีการคืนทรัพย์สินและยุติการจัดเก็บภาษีดังกล่าวที่มีมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท

ยิ่งเมื่อมีการเปิดเผยว่า ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้ พบว่านาย ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์ ได้ทำความเห็นแย้งองค์คณะผู้พิพากษาไว้ว่า

“ความเห็นแย้ง ลงวันที่ 3 มิ.ย. 2554 ข้าพเจ้าได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว ที่ผู้พิพากษาองค์คณะทั้งสามคนพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี

ข้าพเจ้าเห็นว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการหลีกเลี่ยงในคดีนี้มีจำนวนสูงถึง 273,060,000 บาท ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 อาศัยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 (1) จึงขอทำความเห็นแย้งว่า "พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37 (2) ลงโทษจำคุก 2 ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”

คนที่อาการหนักสุดคงไม่พ้น นายบรรณพจน์ อดีตบิ๊กชินคอร์ป

ทั้งหมดยังไม่อยากวิจารณ์ว่าอัยการจะว่าอย่างไร แต่ลึกๆ ก็เชื่อว่า อัยการสูงสุดยุค จุลสิงห์ เชื่อได้ในความเป็นนักกฎหมายมืออาชีพ และความเที่ยงตรงเป็นธรรม

ถ้าจะให้ดี ก็อย่าลืมภารกิจติดตามล่าตัวทักษิณ ชินวัตร กลับมาติดคุกด้วย หลังล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดประจำปี

โดยโยก ศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ไปเป็นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแล้วให้ วันชัย รุจนวงศ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ เป็นอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ

แม้ที่ผ่านมา ศิริศักดิ์จะทำทีขึงขังในการติดตามตัวทักษิณมาดำเนินคดี แต่ก็ไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม มีอะไรก็อ้างแต่ต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งที่อยู่อย่างเป็นทางการของทักษิณมาให้อัยการ ทางอัยการถึงจะทำเรื่องขอส่งเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศที่ทักษิณอยู่ได้

สามปีกว่าผ่านไป ทั้งอัยการ-สตช.-กระทรวงการต่างประเทศ เลยไม่ทำอะไรปล่อยให้ทักษิณลอยไปลอยมา แบบนี้มันเสียชื่อกระบวนการยุติธรรมไทยหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น