xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นระทึก“หญิงอ้อ-บรรณพจน์” หลุดหรือรอดคดีหนีภาษีโอนหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปมปัญหาเรื่อง”หุ้น”กลับมาวนเวียนคนในตระกูล “ชินวัตร”อีกครั้งในช่วงติดๆกัน เสมือนจะเป็นเรื่องจริงที่ว่าตระกูล ชินวัตร ต้องมนต์สาบเรื่อง หุ้น-ภาษี ติดตัวเรื่อยไป
แม้ในยามที่มีอำนาจสูงสุด คนในตระกูลอย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และปลายปีนี้ “เอม”พิณทองทา ชินวัตร ก็กำลังจะสวมชุดเจ้าสาวในงานวิวาห์ แต่เรื่องหุ้นก็ยังตามมาหลอกหลอนอีกจนได้
        ทั้งกรณีที่กรมสรรพากร ไม่ยอมอุทธรณ์การเก็บภาษีการโอนหุ้นแอมเพิล ริชฯ ในชินคอร์ปของพานทองแท้ และพิณทองทา ชินวัตร มูลค่าเกือบ 11,000 ล้านบาท จนถูกวิจารณ์ว่าเพราะคนในกรมสรรพากรต้องการเอาใจยิ่งลักษณ์ และ
ผู้มีอำนาจในรัฐบาลตัวจริงคือทักษิณ ชินวัตรและคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
        เรื่องร้อนในเช้าวันนี้(24 สิงหาคม) ก็คือการที่ศาลอุทธรณ์ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาโดยมีบรรณพจน์ ดามาพงศ์เป็นจำเลยที่ 1 และ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นจำเลยที่ 2 นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมานเป็นจำเลยที่ 3
คดีนี้ ศาลอาญามีคำตัดสินเมื่อ31 กรกฎาคม 2551 ให้จำคุกบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมานที่เป็นอดีตประธานคณะกรรมการบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด และคุณหญิงพจมาน อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนละ 3 ปี และจำคุกนางกาญจนาภา หงษ์เหิน  จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 2 ปี
ในความผิด ร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย และร่วมกันแจ้งข้อความเท็จให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ โดยจงใจเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร 546 ล้านบาทจากการโอนหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำนวน  4.5 ล้านหุ้น ซึ่งต่อมาจำเลยทั้งสามได้อุทธรณ์คำพิพากษา
เรื่องเงียบไปร่วมสามปีกว่า ผู้คนแทบลืมเลือนกันหมดแล้ว แต่มาวันนี้ ศาลอุทธรณ์ได้นัดอ่านคำพิพากษาในช่วงเช้าวันพุธ24ส.ค.นี้
ลำดับแรกก่อนที่จะถึงการอ่านคำพิพากษาต้องดูก่อนว่า จำเลยทั้งสามคนจะเดินทางไปฟังคำตัดสินพร้อมกันหรือไม่ จะมีใครคนใดคนหนึ่งขอเลื่อนไม่มาฟังคำตัดสินและขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปหรือไม่
หากจำเลยไม่มาปรากฏตัว โดยมีเหตุอันควร ตามหลักศาลก็จะพิจารณาเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปได้หนึ่งนัด
จากการตรวจสอบไปยังทีมทนายความและผู้ใกล้ชิดของจำเลยทั้งสามคน ได้รับการเปิดเผยจาก พิชิต ชื่นบานส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในอดีตทีมทนายความของคุณหญิงพจมาน โดยให้คำยืนยันในประเด็นนี้ ว่าไม่น่าจะมีปัญหาจำเลยทุกคนน่าจะไปร่วมฟังคำพิพากษาแน่นอน
ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อหลายวันก่อนเมธา ธรรมวิหารทนายความนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ก็ยังยืนยันผ่านสื่อไว้ว่า ลูกความน่าจะไปเดินทางไปร่วมรับฟังคำตัดสินด้วยแน่นอน
หากกระบวนการเดินไปตามนี้ คือจำเลยทั้งหมดมาครบ การอ่านคำพิพากษาก็น่าจะเกิดขึ้น และต้องจับตาดูกันว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าอย่างไร
ถ้าออกมาว่ายกฟ้อง “อ้อ-บรรณพจน์”ก็ได้เฮ  แต่ต้องดูกันต่อไปว่า อัยการจะหารือกับทางคณะกรรมการป.ป.ช.ที่รับสำนวนนี้มาจากคตส.จะว่ากันต่อไปอย่างไร แต่ดูแนวโน้มแล้วหากออกมายกฟ้อง ก็คงต้องยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาแน่นอน  หากไม่ฎีกามีหวังอัยการโดนอัดเละเหมือนกรณีกรมสรรพากรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางกรณีคดีหุ้นชินคอร์ปพานทองแท้-พิณทองทา ชินวัตรในตอนนี้
แต่ถ้าศาลตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น ก็ต้องไปดูรายละเอียดคำพิพากษาของศาลว่า ตัดสินอย่างไร ลงโทษยืนตามศาลชั้นต้น 3 ปีหรือน้อยกว่านั้นหรือจะมากกว่าสามปี
โดยนักกฎหมายบางคนให้ข้อคิดในทางกฎหมายว่า ถ้าศาลอุทธรณ์ตัดสินตามศาลชั้นต้นโดยโทษจำคุกของจำเลยไม่เกิน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ห้ามฎีกาต่อศาลฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (มาตรา 218)เว้นแต่
1.ผู้พิพากษาในองค์คณะคนใดคนหนึ่งซึ่งพิจารณาคดีดังกล่าว ลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา
 2. อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย
โดยแนวทางการสู้คดีก็คือ หากศาลอุทธรณ์ตัดสินออกมาในลักษณะดังกล่าว ฝ่ายจำเลยจะต้องฎีกาภายใน 30 วันหลังจากศาลมีคำตัดสิน  ซึ่งหากขั้นตอนฎีกาติดขัด คือองค์คณะฯไม่ลงลายมือชื่อให้หรืออัยการสูงสุดไม่ลงลายมือชื่อรับรองฎีกา
ทางจำเลยก็ยังมีช่องทางต่อสู้ได้อีก คือยื่นอุทธรณ์เพื่อแย้งกรณีที่องค์คณะฯหรืออัยการไม่ยอมลงชื่อให้ยื่นฎีกาได้อีก ดังนั้นจำเลยก็ยังมีช่องทางหายใจหายคอได้อีกสักระยะหนึ่งก่อน
ทั้งหมดเป็นเรื่องการของการวิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนทางกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาล่วงอำนาจศาล แต่ผลจะเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่ว่า ศาลจะมีคำตัดสินในคดีนี้อย่างไร ก็ต้องว่ากันอีกที
แต่อยากให้สังคมลองอ่านคำพิพาษาของศาลชั้นต้นในคดีนี้ดูก่อน แล้วจะรู้ว่า เป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหนที่จำเลยทั้งสามคน
พจมาน-บรรณพจน์-กาญจนาภา
ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้กับแผ่นดิน จนนำมาซึ่งคำตัดสินที่ประจานพฤติกรรมอันเห็นแก่ได้เห็นแก่ตัวของคนที่มีฐานะเป็นเศรษฐีแต่หลบเลี่ยงกฎหมายไม่ยอมเสียภาษีให้กับแผ่นดิน
“ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความเท็จหรือให้ถ้อยคำเท็จหรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามฟ้อง
จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี
จำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆ ไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย
แต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี”
กำลังโหลดความคิดเห็น