“ประสงค์” ชี้ แม้ “โอ๊ค-เอม” อ้างเป็นนอมินี ไม่ยอมจ่ายภาษีไม่ได้ เพราะซุกผู้ถือหุ้นตัวจริงไว้ ถามสรรพากรไม่อุทธรณ์เข้าข่ายละเว้น-เอื้อประโยชน์ “ชินวัตร” หรือไม่ แม้สุดท้าย “ทักษิณ” เป็นผู้ถือหุ้นตัวจริง ก็ต้องไปไล่เบี้ยเก็บภาษี แทนที่จะปล่อยให้เกิน 5 ปี จนไม่มีอำนาจ เหมือนที่เคยปล่อยคนรับใช้ “หญิงอ้อ” ลอยนวล สูญภาษี 546 ล้านมาแล้ว
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, หนังสือพิมพ์มติชน และอดีตนายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่เพิ่งลาออกจากสังกัด “มติชน” ที่เขาทำงานมาอย่างยาวนาน 26 ปี ได้เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ www.prasong.com เรื่อง “ไขปมปัญหา ข้อ กม.ภาษีโอนหุ้นหมื่นล้าน เปิดหลักฐานสรรพากร จงใจอุ้ม “ชินวัตร”?” วิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของกรมสรรพากร ที่ถึงแม้นายพานทองแท้ (โอ๊ค) และ น.ส.พินทองทา (เอม) ชินวัตร จะถือหุ้นแทน ก็มาอ้างว่าไม่จ่ายภาษีไม่ได้ เพราะตอนนั้นกรมสรรพากรไม่มีโอกาสรู้ผู้ถือหุ้นที่แท้จริง และถึงสุดท้ายรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริง ได้ประโยชน์จากการโอนหุ้น กรมสรรพากรก็ต้องดำเนินการแทนที่จะปล่อยให้เวลาล่วงเลยเกิน 5 ปี จนไม่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณได้อีก เหมือนกับที่เคยปล่อยคนรับใช้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้ไม่ต้องเสียภาษีมาแล้ว ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 546 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้....
“ไขปมปัญหาข้อ กม.ภาษีโอนหุ้นหมื่นล้าน เปิดหลักฐานสรรพากรจงใจอุ้ม “ชินวัตร”?”
โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่กรมสรรพากรจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาในคดีใดหรือไม่ ไม่ควรยึดปัจจัยเรื่องจำนวนเงินภาษีเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูว่า ต้องการให้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายเป็นบรรทัดฐาน สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปของกรมสรรพากรด้วยหรือไม่
ถ้าอาศัยหลักการดังกล่าว คดีการเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เกือบ 12,000 ล้านบาท ระหว่างบริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด กับนายพานทองแท้(โอ๊ค) และ น.ส.พินทองทา (เอม) ชินวัตร ก็อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าว เพราะเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมีข้อถกเถียงในข้อกฎหมาย
แม้แต่คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 46,000 ล้านบาท ในคดีร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งกรมสรรพากรใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกานั้น ก็ยังระบุว่า การใช้ประมวลรัษฎากรในการเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นคนละประเด็นกับคดีร่ำรวยผิดปกติโดยมีหลักกฎหมายในการพิจารณาที่แตกต่างกัน
ในการต่อสู้คดีร่ำรวยผิดปกติของ พ.ต.ท.ทักษิณ สองพี่น้องตระกูลชินวัตร ได้ยกประเด็นกรณีที่กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีการโอนหุ้นจากตนเองว่า ขัดแย้งกับกรณีที่ระบุว่า บุคคลทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นแทนหรือ “นอมินี” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ทั้งนี้ น.ส.พินทองทา ชินวัตร เคยให้สัมภาษณ์ว่า
“เรื่องคดี ยอมรับว่า เอมก็งงมาก… เพราะว่า เรื่องหุ้นตัวเดียวกัน คือ บอกว่า เป็นของพ่อ โอ๊คกับเอมเป็นนอมินี ก็ยึดทรัพย์ไป 4.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทางกรมสรรพากรก็บอกว่า โอ๊คกับเอมเป็นเจ้าของทรัพย์(หุ้น) ขายแล้วได้กำไร ก็มาขอเก็บภาษีอีก 12,000 ล้านบาท เอมก็งงอยู่ว่า หุ้นเดียวทำไมมีสองกรณี ก็งงค่ะ ชื่อบัญชี(เงินฝาก) เป็นของเอม ก็ไม่ได้คืนสักบาท ถูกยึดหมด ตอนนี้ยังไม่รู้เอาเงินจากไหนมาเสียภาษี”
ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้หยิบยกขึ้นมาต่อสู้ในศาลฎีกาฯเช่นกัน โดยระบุว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ดำเนินการ 2 มาตรฐาน นอกจากให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากจากนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาแล้ว กลับกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ในจำนวนเดียวกันอีก
อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยว่า การให้เรียกเก็บภาษีอากรจากนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ที่ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จากบริษัทแอมเพิลริช เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมิน มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด
นอกจากนี้ มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร ก็บัญญัติหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ว่า บุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญใดๆ แสดงว่า
(1) เป็นเจ้าของทรัพย์สิน อันจะระบุไว้ในหนังสือสำคัญ และทรัพย์สินก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ
(2) เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมิน โดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น
เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมด จากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญนั้นก็ได้
การดำเนินการทางภาษีอากรกับผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 (นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา)จึงเป็นการดำเนินการตามหลักการแห่งประมวลรัษฎากร
ส่วนการกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณร่ำรวยผิดปกติในคดีนี้ เป็นการดำเนินการกับเจ้าของที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความรับผิดทางภาษีอากร โดยมีหลักกฎหมายในการพิจารณาที่แตกต่างกัน
ข้อต่อสู้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้านที่ 1 (คุณหญิงพจมาน ชินวัตร) ถึงที่ 3 จึงฟังไม่ขึ้น
จากคำพิพากษาดังกล่าวเห็นชัดว่า เป็นการรับรองว่า การที่กรมสรรพากรประเมินภาษีการโอนหุ้นจากสองพี่น้องตระกูลชินวัตรตามประมวลรัษฎากรเป็นการชอบแล้ว
แต่ทำไม กรมสรรพากรกลับอ้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีนี้เป็นเหตุที่จะไม่อุทธรณ์คดีภาษีโอนหุ้นต่อศาลฎีกา
นอกจากนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 ก็มีบทบัญญัติชัดเจนว่า มุ่งเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้(ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกิจการ) ซึ่งกรณีนี้เป็นเงินได้ตามมาตาม 40 (4) (ช) ซึ่งระบุว่า เป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
เมื่อดูข้อเท็จจริงประกอบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ที่กำหนดให้พนักงานลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษา ได้รับผลประโยชน์ส่วนต่างจากราคาหุ้นที่บริษัทหรือนิติบุคคลโอนให้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินแล้ว เห็นชัดสองพี่น้องตระกูลชินวัตรได้ผลประโยชน์จากการโอนหุ้นชินคอร์ปกว่า 15,000 ล้านบาท
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งตัดสินคดีเกี่ยวกับภาษีมานานกว่า 20 ปี อธิบายว่า เหตุที่กฎหมายภาษีมุ่งเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ในขณะทำกิจการหรือกิจกรรมนั้น เพราะในขณะที่ทำกิจกรรมนั้น กรมสรรพากรไม่มีทางรู้ได้ว่า ใครเป็นเจ้าของกิจการที่แท้จริง จึงต้องดูว่า ในหนังสือสำคัญบุคคลใดมีชื่อปรากฎอยู่
แต่ถ้าต้องเก็บภาษีจากเจ้าของที่แท้จริงเท่านั้น เกิดสู้คดีอยู่ เวลาผ่านไปหลายปี ก็มาอ้างว่า อีกบุคคลหนึ่งเป็นเจ้าของกิจการที่แท้จริง กรมสรรพากรต้องไปเริ่มประเมินภาษีใหม่ จะทำให้กรมสรรพากรไม่มีอำนาจในการประเมินเนื่องจากเลยระยะเวลาที่จะตรวจสอบตาม
ขณะเดียวกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา มาตรา 155 ระบุ ว่า การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นโมฆะ แต่จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาจะหยิบยกข้ออ้างเรื่องการเป็น “ผู้ถือหุ้นแทน” มาเป็นข้อต่อสู้เพื่อไม่ต้องเสียภาษีไม่ได้เพราะถือว่า กรมสรรพากรเก็บภาษีเงินได้จากบุคคลทั้งสองเป็นการทำโดยสุจริต เพราะไม่รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงในขณะที่ประเมิน
นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 824 ระบุว่า ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ และมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นต้องรับผิดตามสัญญานั้นตามลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน
จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว ยิ่งทำให้เห็นว่า การไม่อุทธรณ์คดีการเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นต่อศาลฎีกาเพื่อให้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ เข้าข่ายการใช้ดุลพินิจไม่ชอบและเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ครอบครัวชินวัตรหรือไม่
น่าจะมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนเพื่อให้เกิดความกระจ่าง
นอกจากนั้นยังมีคำถามว่า เมื่อไม่สามารถเก็บภาษีจากสองพี่น้องตระกูลชินวัตรแล้ว กรมสรรพากรจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อมิให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล
การที่กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทานั้น ใช้หลักการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งพนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษาได้รับผลประโยชน์ส่วนต่างจากราคาหุ้นที่บริษัทหรือนิติบุคคลโอนให้ มาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39
เท่ากับนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา มีเงินได้พึงประเมินจากส่วนต่างราคาหุ้นกว่า 15,000 ล้านบาท
เพียงแต่ว่า เมื่อบุคคลทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นหรือตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ดังนั้น ผู้ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นที่แท้จริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ
ผู้ที่ต้องเสียภาษีที่แท้จริงก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ?
แต่ทำไม กรมสรรพากรยังคงนิ่งเงียบ หรือจะปล่อยให้เวลาล่วงเลยเกิน 5 ปี จนไม่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณได้อีก
เหมือนกับที่เคยปล่อยให้เกิดขึ้นมาแล้ว กรณีการหลีกเลี่ยงภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปมูลค่า 738 ล้านบาท ระหว่างคนรับใช้ของคุณหญิงพจมาน กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จนทำให้รัฐสูญเสียภาษีไปถึง 546 ล้านบาท โดยไม่มีใครในกรมสรรพากรแสดงความรับผิดชอบ นอกจากตำแหน่งที่ใหญ่โตขึ้น