“ธาริต” สั่งยุติสอบ นายกฯ “ยิ่งลักษณ์” เบิกความเท็จ-ปกปิดถือหุ้นชินฯ อ้างไม่ครบองค์ประกอบความผิด
วันนี้ (29 มี.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคารดีเอสไอ แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนให้เร่งรัดการตรวจสอบและการดำเนินคดีอาญากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ฐานร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น ซึ่งควรจะแจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนในสาระสำคัญ (ปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น) ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์มาตรา 278 และให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ 4.6 หมื่นล้านบาท
นายธาริต กล่าวว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักคดีการเงินการธนาคาร พบว่า กรณีแจ้งเท็จนั้นในขณะเกิดเหตุ คือ ปี 2545-2547 พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีบทบัญญัติว่าเลขาฯ ก.ล.ต.เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แม้ภายหลังจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว โดยกำหนดให้เลขาฯ ก.ล.ต.กรรมการ ก.ล.ต.และกรรมการกำกับตลาดทุนเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2551 แต่เรื่องดังกล่าว ก.ล.ต. เคยมีหนังสือชี้แจงไปยัง รมว.กระทรวงการคลัง แล้ว ว่า ในช่วงเกิดเหตุยังไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้มีการชี้แจงต่อเลขาฯ ก.ล.ต.เป็นความผิดตามกฎหมายต่อเจ้าพนักงาน ขณะนั้นเลขาฯ ก.ล.ต.จึงยังไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยดีเอสไอจึงเห็นว่าการกระทำไม่ครบองค์ประกอบความผิด จึงถือว่าไม่เป็นความผิด
นายธาริต กล่าวต่อว่า ส่วนในประเด็นปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นเป็นหน้าที่ของบริษัท ชินฯ เป็นผู้จัดทำ และข้อมูลที่ใช้รายงานก็มาจากบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ของประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งบริษัท ชินฯ ซึ่งตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่ารายชื่อในขณะนี้เป็นรายชื่อที่ถูกต้องตรงกัน จึงไม่ได้เป็นรายงานอันเป็นเท็จหรือมีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่ได้ทำให้ผู้ใดเข้าใจผิดหรือมีความเสี่ยง เพราะในรายงานโครงสร้างผู้ถือหุ้นใช้คำว่า “ครอบครัวชินวัตรและผู้เกี่ยวข้อง หรือกลุ่มครอบครัวชินวัตรและครอบครัวดามาพงศ์” ซึ่งเข้าใจได้ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นใคร นอกจากนี้ ยังไม่พบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงาน เพราะถือเป็นหน้าที่ของบริษัท ยกเว้น นายบรรณพจน์ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นผู้ลงนามรับรองรายงาน ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
นายธาริต กล่าวอีกว่า จากการพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พบว่า คำพิพากษาดังกล่าวเพิ่งจะเกิดขึ้นภายหลังมีการขายหุ้นไปหมดแล้ว และไม่ปรากฏว่า มีผู้ใดได้รับความเสี่ยง ประกอบกับคำพิพากษาเป็นการตัดสินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ใช่คดีอาญา ดังนั้น ไม่ถือเป็นสาระสำคัญให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการลงทุน จึงมีคำสั่งให้ยุติเรื่อง เพราะไม่พบการกระทำความผิด
ส่วนเรื่องที่ นายแก้วสรร อติโพธิ และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ร้องว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เบิกความเท็จนั้น ขอเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพว่า หากมีผู้ทะเลาะกันแล้วนำคดีขึ้นฟ้องศาลแล้วจำเลยแพ้คดี ถูกศาลลงโทษจำคุก ไม่ได้หมายความว่า พยานจำเลยทั้ง 10 ปาก จะมีโทษฐานเบิกความเท็จ หรือต้องติดคุกไปด้วย เพราะศาลจะตัดสินลงโทษตามดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานจะเป็นความผิดหรือไม่ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญเท่านั้น
ส่วนกรณีศาลฎีกาตัดสินว่า การถือหุ้นแทน นายธาริต ชี้แจงว่า เป็นคนละส่วนกัน ศาลตัดสินถูกต้องแล้ว แต่เป็นการตัดสินให้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน โดยการยึดหรือริบทรัพย์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนคดีปกปิดโครงสร้างเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามว่า คำพิพากษาของศาลตัดสิน เชื่อว่า มีการถือครองหุ้นแทนกัน นายธาริต กล่าวว่าศาลไม่ได้เชื่อว่ามีการปกปิดโครงสร้าง แต่เชื่อว่า เป็นการถือแทนคนอื่น โดยเป็นการถือแทนโดยบุคคลในครอบครัวชินวัตร และ ดามาพงศ์ ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ฝ่ายค้าน เชื่อว่า มีการปกปิด แต่สำหรับดีเอสไอ เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่า ไม่มีการปกปิด เพราะรายงานตามทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์