ASTVผู้จัดการรายวัน-ชี้ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฟอกแม้ว จะมีผลรุนแรงกว่ารัฐประหาร 19 ก.ย. เพราะเป็นการล้มล้างอำนาจตุลาการ เปรียบ"บิ๊กบัง" ยึดอำนาจ คืนให้ "ทักษิณ" ปชป.ตั้งป้อมค้าน หวั่นสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ จับตาหากถูกต้านหนัก จะดันร่างปรองดองฉบับ "เหลิม" เสียบแทน ด้าน ครก.เติมเชื้อสงครามกลางเมือง ชงแก้ ม.112 เข้าสภาฯ 29 พ.ค.นี้ สอดรับปรองดองเทียม
จากกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่ง นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และประธานกมธ.ปรองดอง ได้ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรา พ.ร.บ.ปรองดองขึ้น โดยจะเริ่มมีการพิจารณาวาระดังกล่าวในวันที่ 30 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีเนื้อหาในการล้างผลความผิดให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร และพวก ทั้งๆ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร มีโทษต้องจำคุกไปแล้ว อันเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ และนิติธรรม
แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร คัดค้านการดำเนินการดังกล่าว และขอให้ผู้ที่เสนอวาระดังกล่าวถอนวาระดังกล่าวออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยพันธมิตรฯ จะนัดหมายให้มีการตั้งขบวน ในวันพุธที่ 30 พ.ค.นี้ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ในเวลา 09.00 น. เพื่อเดินทางไปที่หน้ารัฐสภา ยื่นเรื่องคัดค้านต่อไป
**ร้ายกว่ารัฐประหาร 19 ก.ย.
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้ ตอกย้ำชัดเจนว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาเพื่อวาระทักษิณเท่านั้น เพราะการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจหรือปัญหาปากท้อง ล้มเหลว แต่รัฐบาลกลับมุ่งแต่จะช่วยฟอกผิด พ.ต.ท.ทักษิณ การสร้างความแตกแยก กลายเป็นผลงานที่โดดเด่นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว
นายสุริยะใส กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง นอกจากเป็นการซ้ำเติมความแตกแยกที่มีอยู่แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่แท้จริงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่พยายามสร้างความสวยมาบดบัง แต่วันนี้คงปิดตัวตนที่แท้จริงไม่ได้อีกต่อไป แม้จะพยายามอ้างว่าเป็นเรื่องของสภา แต่วันนี้ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ไม่มีทางผ่านสภาไปได้
ส่วนนายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้มีบารมีในพรรคชาติไทยพัฒนา และพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ปรึกษาพรรค ที่สนับสนุนร่าง กฎหมายนี้ โดยเฉพาะพล.ต.สนั่น ก็เคยพูดว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีนิรโทษกรรมแบบเหมารวม แต่วันนี้ทั้ง 2 คน กำลังจะทำให้การเมืองไทย เป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมือง ทั้งๆที่อยู่ในวัยที่ควรประคับประคองให้บ้านเมืองเดินหน้า ก้าวพ้นความแตกแยกไปได้
ส่วน พล.อ.สนธิ กำลังจะเป็นผู้นำในการทำรัฐประหารอีกรอบ คือ ยึดอำนาจที่เคยยึดไปกลับคืนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่รัฐประหารรอบนี้ รุนแรงกว่า เพราะไปไกลถึงขั้นยกเลิกระบบยุติธรรม และสถาปนาอำนาจนักการเมือง ให้อยู่เหนืออำนาจตุลาการ ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายโครงสร้างการเมืองทั้งองคาพยพ รุนแรงกว่าการรัฐประหาร 19 กันยา 49 หลายเท่า
ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับนี้ จึงไม่ใช่กฎหมายเพื่อการปรองดองและสมานฉันท์คนในชาติ แต่สถานะของ ร่างกฎหมายฉบับนี้ เปรียบเสมือนคำประกาศของคณะรัฐประหาร ที่นำโดยบิ๊กบัง เพื่อทักษิณ
สำหรับบทบาทของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป) เมื่อมี พ.ร.บ.ฟอกผิดให้ทักษิณ ก็เท่ากับเป็นการยุบทิ้ง คอป.โดยปริยาย ตนอยากเรียกร้องให้ นายคณิต ณ นคร ในฐานะประธาน และกรรมการลาออก เพราะกรรมการชุดนี้ กำลังถูกหลอกใช้ และรัฐบาลไม่ได้รับฟังข้อเสนอของ คอป. แต่อย่างใด
** ปชป.ยันไม่เอาด้วย พ.ร.บ.นิรโทษฯ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การยื่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.. ซึ่งจะนิรโทษให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี กับนายสุเทพ ด้วย ว่าเรื่องนี้ไม่เป็นไร ตนเคยพูดชัดเจนไปแล้วว่า ไม่รับผลการนิรโทษกรรม ตนไม่เห็นด้วย และกฎหมายต้องเป็นกฎหมาย การที่จะนิรโทษกรรมให้ ก็จะไม่รับ ไม่เอาด้วย ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะว่าตนไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ กลับจะเป็นโทษที่ทำให้หลักนิติธรรมของบ้านเมืองต้องเสียหายไป ซึ่งความถูกต้องที่สุดของประเทศคือ ต้องช่วยกันรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ บ้านเมืองจึงจะมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนจึงจะมีความปลอดภัย แต่ถ้าเมื่อใดเราปล่อยให้มีการละเมิดกฎหมาย ละเมิดหลักนิติธรรม หรือรุนแรงจนถึงการออกกฎหมายลบล้างความผิดที่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด ศาลพิพากษาแล้ว อย่างนี้ก็จะทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศโดยส่วนรวมในวันข้างหน้า ตนจึงไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
** "ปู"อย่าอ้างหนูไม่รู้
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ปรองดอง ในพรรคเพื่อไทยก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ แต่คิดว่าคนที่มีอำนาจตัดสินใจคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีความพยายามเดินหน้าเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด จึงอยากเตือนไปยังพรรคเพื่อไทย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า เรื่องนี้เป็นใหญ่ของประเทศ และจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และอาจรุนแรงกว่าที่ผ่านๆ มา ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่พร้อมที่จะเป็นนายกฯ ในขณะที่ประเทศกำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง ก็ควรพิจารณาตัวเอง และขอเรียกร้องไปยังผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย ที่ยังพอมีอุดมการณ์เหลืออยู่บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มบ้านเลขที่ 111 ที่อาจเป็นนักการเมืองรุ่นเก่า และมีแนวคิดที่ถูกต้องกับประเทศไทย ว่าจะต้องหยุดยั้งขบวนการที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่ง
นายชวนนท์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ประกาศแล้วว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 30 พ.ค.นี้ จึงอยากให้รัฐบาลได้ตระหนัก ไม่อยากให้ดูถูกพลังมวลชน เพราะขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ หลากหลายกลุ่ม กำลังจะทนไม่ได้กับเหตุการณ์ที่กำลังจะมีการละเมิดหลักนิติธรรม นิติรัฐ และออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนๆเดียว และไม่ต้องมาปฏิเสธว่ากฎหมายนี้ ไม่ได้ทำเพื่อคนๆเดียว เพราะทุกคนทราบดีว่า ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง ที่ต้องการข้อเท็จจริง ความยุติธรรม ต้องการล้มเลิกระบบสองมาตรฐาน ต้องการเลิกขบวนการที่เรียกว่าอำมาตย์ ไพร่ ไม่มีจริงอยู่ในพ.ร.บ. ดังกล่าว
" สิ่งที่นายนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัวของพ.ต.ท.ทักษิณ พูดว่าเรื่องคืนทรัพย์สิน ยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ผมคิดว่า นายนพดล ต้องกล้าพูด เป็นลูกผู้ชายอายุมากแล้ว อ่านกฎหมายเก่งกว่าผม เพราะผมดูกฏหมายง่าย ๆ ก็ดูออกแล้วว่า การลบล้างผลของคตส. ทั้งหมดก็แปลว่าคดีความต่างๆ รวมทั้งเรื่องการยึดทรัพย์ ต้องเป็นโมฆะด้วย ซึ่งการพ้นผิด และได้เงินคืน เป็นสิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้รับสิ่งนี้ รวมทั้งสิ่งที่นายนพดล ระบุว่า เป็นเพียงการล้มด้วยกระบวนการของคตส. แต่จะมีการนับหนึ่งใหม่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เห็นเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และหากพ.ร.บ.นี้ ใช้ได้ ตำรวจหน้าไหนจะกล้าดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในวันที่กลับมาอยู่ประเทศไทย " นายชวนนท์ กล่าว
** จับตาก๊อก 2 ร่าง ปรองดองฉบับ"เหลิม"
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มีการตั้งคำถามว่า การยื่น ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการโยนหินถามทางหรือไม่ เพราะมีข้อสังเกตุหลายประเด็น โดยเฉพาะ
1. ความพร้อมของพรรคเพื่อไทย ที่ยังไม่มีการพูดคุย และยังไม่ตกผลึกทางด้านความคิด อีกทั้งยังมีแกนนำนปช. ที่เป็นส.ส.ยังเห็นต่างในรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
2.ในพรรคเพื่อไทย ก็มีการเตรียมร่างพ.ร.บ.ปรองดองอีกฉับบหนึ่ง เป็นของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ และเมื่อพล.อ.สนธิ ชิงตัดหน้ายื่นก่อนนั้น ของร.ต.อ.เฉลิม ก็จะเป็นฉบับสำรอง หรือก๊อกสอง ใช่หรือไม่
3. พรรคเพื่อไทย คนที่เป็นแกนนำ นปช. และมีตำแหน่งส.ส. ก็ยังมีความแตกแยกกับแกนนำระดับล่าง เพราะแกนนำที่เป็นส.ส.สนับสนุนเรื่องนี้ แต่แกนนำระดับล่าง ยังคัดค้าน
4.ในการลงชื่อญัตติดังกล่าว เกือบทั้งหมดเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีคนไปพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าขณะนี้ได้ไปคุยกับผู้นำกลุ่มคัดค้านบางคน ถ้าจะไม่ให้คัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง ก็ต้องไม่ให้ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลงชื่อ เพื่อไม่ให้เห็นว่า ทำเพื่อตัวเอง
5. เป็นการทดสอบกระแสต้าน พ.ร.บ.ปรองดอง และเช็กเสียงว่า เมื่อมีการยื่นแล้วจะมีการต้านมากน้อยแค่ไหน
6. จังหวะเวลาการยื่น พ.ร.บ.ปรองดอง น่าจะไม่ใช่ช่วงจังหวะที่เหมาะสม เพราะเนื้อหาควรยื่นหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเนื้อหาทั้งหมดขัดต่อ รัฐธรรมนูญ ม.309 ชัดเจน
นายเทพไท กล่าวว่า ขณะนี้ต้องตั้งคำถามไปยัง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ว่า เมื่อรู้อยู่แล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญได้ไตร่ตรองตรวจสอบอย่างไร ถึงได้บรรจุเป็นญัตติอยู่ในวาระการประชุม ซึ่งไม่จำเป็นต้องอ้างว่า ต้องตีความ เพราะสาระนั้นนักกฎหมาย หรือทีมงานกลั่นกรองญัตติ ก็น่าจะวินิจฉัยได้ว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ม.309 ชัดเจน และตราบใดยังไม่ยกเลิก ม.309 ก็ยังไม่สามารถดำเนินการอะไร ซึ่งตนขอตั้งคำถามไปยังสถาบันพระปกเกล้า และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่า มีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร เมื่อมี ส.ส.กลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหว และถามนายกรัฐมนตรี ที่พยายามปัดสวะ และโยนความรับผิดชอบไปที่สภาฯ ซึ่งนายกฯไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะเสียงข้างมากเป็นของรัฐบาล และควรที่แสดงจุดยืนด้วย จึงอยากเรียกร้องหาความรับผิดชอบของนายกฯ อย่าโยนให้สภา ทำตัวไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ได้
นอกจากนี้ นายเทพไท กล่าวอีกว่า อยากให้นักกฎหมายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ให้เห็นความเหมาะสมว่า เหมาะสมอย่างไร เพราะไม่อยากให้เห็นเป็นเรื่องของ ส.ส. ขณะเดียวกันเรียกร้องให้ประธานสภาฯ ถอนเรื่องนี้ออกไป เพราะหากไม่ถอน ก็จะมีการคัดค้านในสภาอย่างแน่นอน แต่หากผ่านสภาแล้ว ก็จะไปเจอกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ เมื่อกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ประกาศเคลื่อนไหวต่อต้าน และยังมีอีกหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเมื่อกลุ่มเห็นต่างกันอยู่ แต่มีเป้าหมายเดียวกันในการต่อต้านล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะกลับมารวมกันได้
** "กอร์ปศักดิ์" ชี้ปรองดองเทียม
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่า กรณีที่มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง เป็นเพียงแค่การปรองดองเทียม เพราะหากไม่ได้เงินคืน และต้องติดคุกเพราะโกง หรือเผาบ้านเผาเมือง หรือหมิ่นสถาบันฯ ก็อย่าหวังว่าบ้านเมืองจะสงบได้ โดยมองว่ากรณีนี้คือการแบล็กเมล์ ไม่ใช่การปรองดอง เพราะไม่มีใครจะยอมโจรที่ลักตัวเด็กแล้วเรียกค่าไถ่ หรือพวกข่มขู่ เพื่อประโยชน์ของตน
อย่างไรก็ตาม นายกอร์ปศักดิ์มองว่า คนไทยอยากปรองดอง เรื่องความคิดเห็นที่ต่างกัน 2 มาตรฐาน เช่น ทำไมคนจนติดคุก แต่คนรวยไม่ติดคุก ทำไมเศรษฐีไม่เสียภาษี แต่มนุษย์เงินเดือนต้องเสียภาษี
**วอน พธม.ฟังเสียงสภาก่อนชุมนุม
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เพื่อเป็นการหาข้อยุติเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ได้นัดหารือพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อดูหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมาย และขอความเห็นจากพรรคร่วม
ส่วนความเห็นของคนในพรรคเพื่อไทย ที่ไม่เป็นเอกภาพต่อเรื่องนี้ คงเป็นเรื่องธรรมดาของคนหมู่มาก แต่สุดท้ายหากพรรคมีมติอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
ประธานวิปรัฐบาล กล่าวด้วยว่า ได้รับทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จะออกมาต่อต้าน ที่หน้ารัฐสภา ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ ก็อยากให้กลุ่มพันธมิตรฯ ดูการตัดสินใจในที่ประชุมสภา ก่อนเคลื่อนไหวจนเป็นเหตุความขัดแย้งรอบใหม่
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (28 พ.ค.) พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมเพื่อหารือประเด็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวันที่ 30- 31 พ.ค. ตามที่ปรากฏเป็นข่าว เพื่อเตรียมความพร้อมให้เพื่อนสมาชิก หากมีการเลื่อนวาระการพิจารณาขึ้นมา
ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่า เป็นเรื่องของสภาในการพิจารณาวาระดังกล่าว โดยพรรคเพื่อไทย จะพิจารณาโดยดูประโยชน์ของส่วนรวม และของประเทศเป็นหลัก พร้อมยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับนี้ ไม่ได้ช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหา จึงอยากเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยึดมั่นในระบบรัฐสภา ตามที่นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคที่เคยกล่าวไว้ โดยให้ใช้เวทีสภาในการอภิปราย และให้มีการถ่ายทอดสด เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่า แต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นกันอย่างไร
ส่วนกรณีที่ พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดองนั้น ตนอยากขอให้นำเรื่องนี้ไปอภิปราย ถกเถียงกันในสภามากกว่า ส่วนกรณีกระแสข่าวที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย มีความเห็นแตกต่างกันเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง เป็น 2 ฝ่าย นั้น ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง พรรคเพื่อไทยมีเอกภาพ ไม่มีความแตกแยกตามข่าวที่ปรากฏแต่อย่างใด
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดองในวันที่ 30 พ.ค.นั้น ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และอย่าปิดขวางการจราจร อย่างไรก็ตาม อยากให้กลุ่มพันธมิตรฯ ติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองในสภา รับฟังข้อเท็จจริงก่อน อย่างเพิ่งรีบร้อนชุมนุม
**ครก.ชงแก้ม.112 เข้าสภาฯ
วานนี้ (27 พ.ค.) คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ ครก.112 ได้ออกแถลงการณ์ เตรียมยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ พร้อมยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 27,000 รายชื่อ ประกอบการยื่นร่างแก้ไขดังกล่าว โดย ครก.112 มองว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ไม่นำสืบพยานอย่างเพียงพอ สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้รักระบบประชาธิปไตย รวมถึงกฎหมายดังกล่าว เป็นการปิดกั้นพื้นที่แสดงความคิดเห็นในสังคม ทำให้มีความพยายามแก้ไขมาตราดังกล่าวมาแล้วหลายครั้งแล้ว
ทั้งนี้ การเดินทางไปยื่นร่างแก้ไขดังกล่าว ทางกลุ่มจะรวมตัวกันที่หลักหมุดประชาธิปไตย บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในเวลา 09.00 น.วันที่ 29 พ.ค.นี้.