xs
xsm
sm
md
lg

“นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” ผู้แต่งชุดดำทุกวันไปทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว 2 ปี

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ครบรอบ 2 ปี การจากไปของพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ที่ถูกฆาตกรใจอำมหิตใช้ระเบิด M 79 ยิงเข้าใส่บริเวณโรงเรียนสตรีวิทยาจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

และอาจจะเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่เราเห็นภาพการจัดงานรำลึกถึง “ทหาร” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาในฐานะเป็น “วีรชน” ที่ประชาชนจัดขึ้นให้เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

เพราะย้อนกลับไปในอดีตไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือเหตุการณ์ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ประชาชนก็จะจัดงานรำลึกให้กับประชาชนที่สูญเสียชีวิตโดยฝีมือและการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น

ต่างจากเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 ที่แม้จะมีประชาชนคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมชุมนุมสูญเสียชีวิต แต่การเริ่มต้นสูญเสียชีวิตกลับเกิดโดยฝีมือกองกำลังติดอาวุธสงครามที่อยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายเริ่มใช้อาวุธสงครามร้ายแรงโจมตีสังหารทหารซึ่งปราศจากอาวุธอย่างอำมหิต และยังถูกมวลชนคนเสื้อแดงขัดขวางไม่ให้นำไปส่งโรงพยาบาลแล้วยังลากทหารที่ได้รับบาดเจ็บหลายนายลงมาจากรถเพื่อรุมทำร้ายร่างกายทหารเหล่านั้น

“ในความรัก...พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม” คือหนังสือครบรอบ 1 ปี ของการสูญเสีย พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม เมื่อปีที่แล้วซึ่งเขียนและรวบรวมโดย “นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” เพื่อทำให้เราได้ตระหนักว่า เราได้สูญเสียทหารที่ดี ทหารที่มีความรักชาติ ทหารที่รักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ทหารที่รักในปัญญาความรู้ รักในธรรม และรักครอบครัว ด้วยน้ำมือคนไทยด้วยกันเอง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ได้เคยเขียนจดหมายถึงภรรยา อธิบายความเป็นตัวตนของ พล.อ.ร่มเกล้า ว่า

“สำหรับตัวพี่ได้ผ่านงานสำคัญระดับใหญ่ๆ มาแล้วหลายครั้ง และก็ผ่านมาได้ด้วยดีทุกครั้ง รอดพ้นได้เพราะพระบารมีของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ได้ทรงคุ้มครองอยู่ ความเป็นทหารมิได้ขายชีวิตแลกเปลี่ยนกับอะไร แต่ทหารทุกคนมีความภูมิใจในส่วนลึกๆ ว่าเราได้เสียสละอะไรหลายๆ อย่างเพื่อส่วนรวม เพื่อคนส่วนรวม และได้ทำในสิ่งที่น้อยคนจะทำได้”

ข้อความข้างต้นที่เป็นจดหมายส่วนตัวที่ พลเอกร่มเกล้า เขียนถึงภรรยาตัวเองนั้น สะท้อนให้เห็นว่า พลเอกร่มเกล้านั้นเป็นคนที่รักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมจะเสียสละชีวิตเพื่อคนส่วนรวมอยู่เป็นจิตใต้สำนึกของทหารอาชีพอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ พลเอกร่มเกล้า ยังได้เคยพูดสนทนาอย่างเป็นกันเองกับภรรยาอีกด้วยว่า:

“ทำเพื่อพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นอะไรก็เป็นได้ อย่าว่าแต่เสี่ยงแค่นี้เลย ให้ต้องกลายเป็นหมา พี่ก็เป็นได้ ไม่มีอะไรต้องกลัวเลย ถ้าได้ทำเพื่อพระเจ้าอยู่หัว”

นี่คือความมุ่งมั่นและความจงรักภักดีของพลเอกร่มเกล้าที่เขาเกิดมาถวายชีวิตเพื่อพระเจ้าอยู่หัว อย่างที่ไม่มีใครจะมาหยุดยั้งได้ และไม่มีวันที่จะแปรเป็นอื่นได้ ประเทศไทยได้สูญเสียทหารที่ดีและมีคุณค่าต่อแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย แต่คุณงามความดีและความรักต่อครอบครัวและแผ่นดินของพลเอกร่มเกล้านั้นจะไม่มีวันหายไปจากประวัติศาสตร์

พลเอกร่มเกล้าได้เคยวาดภาพ “ดาบคู่” เพื่อมอบเป็นของขวัญวันเกิดแก่ภรรยา มีข้อความใต้ภาพเขียนไว้ว่า “เมียเหมือนดาบคู่ใจ สุขสันต์วันเกิดปีที่ 41 แด่เมียรัก”

เมื่อปีที่แล้วครบรอบ 1 ปี การจากไปของพลเอกร่มเกล้า “นิชา” ดาบคู่ใจ “พลเอกร่มเกล้า” ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ 8 เมษายน 54 ที่ว่า

“ดิฉันไม่ยอมรับการปรองดองกับคนผิด ยังรอคอยและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการกับคดีของพี่ร่มเกล้า แม้จะบอกว่าสังคมไทยต้องมีความรักและเอื้ออาทร แต่ขอย้ำว่าเป็นคนละประเด็นกับคนทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะระบอบประชาธิปไตยยังต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและศีลธรรม วันนี้เราจำเป็นต้องสร้างบรรทัดฐานแบ่งแยกความถูก-ความผิด ความชั่ว-ความดี ออกจากกันให้ชัดเจน มิเช่นนั้นในภายภาคหน้าลูกหลานของเราก็จะไม่เข้าใจ ไม่สามารถแบ่งแยกบรรทัดฐานนี้ออกจากกันได้ ซึ่งเป็นอันตรายและเป็นสัญญาณที่นำไปสู่สังคมแห่งความเสื่อม

“แม้การสูญเสียจะผ่านไปนาน 1 ปี แต่ดิฉันยังคงไว้ทุกข์ ไม่ใช่เพราะต้องการแสดงความเศร้าโศกเสียใจให้ใครเห็น แต่ตั้งใจจะใส่ชุดดำไว้ทุกข์จนกว่าบ้านเมืองจะสงบสุข ด้วยเจตนาคืออยากให้เครื่องแต่งกายไว้ทุกข์ของผู้หญิงคนหนึ่งเตือนสติสังคมไทยหรือใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ระลึกได้บ้างถึงความสูญเสีย และช่วยกันรักษาบ้านเมืองอย่าให้ต้องมีใครตายอีก”...

2 ปีผ่านไป “นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” ยังคงเป็นข้าราชการคนเดียวที่แต่งกายใส่ “ชุดดำ” ไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลทุกวัน ซึ่งถือเป็นการแต่งชุดดำไปทำงานต่อเนื่องกันกับรัฐบาล 2 ยุคที่เป็นผู้บังคับบัญชา

รัฐบาลยุคหนึ่งคือรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ได้ให้สามีของคุณนิชาไปทำงาน 2 มือเปล่าโดยปราศจากอาวุธไปเผชิญหน้ากับกองกำลังติดอาวุธสงครามในเวลากลางคืน และอีกรัฐบาลหนึ่งคือรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่มาจากมวลชนคนเสื้อแดงซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธสงครามสังหารสามีของคุณนิชา

รัฐบาลหนึ่งคือรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่สนับสนุนการให้ประกันตัวคนเสื้อแดงทั้งโดยนโยบาย การส่งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นพยาน ตลอดจนให้นำเงินจากกองทุนยุติธรรมไปประกันตัวคนเสื้อแดง และถือเป็นยุคที่ผู้ต้องหาที่เกี่ยวพันกับการสังหารพลเอกร่มเกล้าซึ่งถูกจับกุมได้แล้วกลับได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ในขณะที่อีกรัฐบาลหนึ่งมุ่งเยียวยาจ่ายเงินให้กับคนเสื้อแดงและเรียกร้องการปรองดอง

ท่ามกลางกระแสถั่งโถมของนักการเมืองที่อยากจะนิรโทษกรรม อยากจะจ่ายเงินเยียวยา อยากให้ทุกฝ่ายให้อภัยกัน และอยากจะปรองดอง คุณนิชา ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการคนเคาะข่าว ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555 ความตอนหนึ่งว่า:

“มีนักวิชาการบอกว่าถามเหยื่อไม่ได้ เพราะพวกเราไม่ให้อภัย การให้อภัยพวกเราทำได้ แต่คนที่เราให้อภัยจะรู้หรือเปล่าว่าเราให้อภัยเขา แล้วจะรู้หรือเปล่าว่าเขาทำผิด น่าเป็นห่วงว่าคนผิดที่ยังลอยนวล ถ้ามีโอกาสเขาจะทำผิดอีกหรือเปล่า

สิ่งที่ยังติดตาอยู่ คือภาพช่วงชุมนุม ที่มีเยาวชนจุดระเบิดเพลิง จุดแก๊สน้ำตา เขาจะรู้สึกว่าเขาเป็นฮีโร่หรือไม่ หรือรู้สึกผิดหรือเปล่า แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นเขาจะทำอีกหรือไม่

เส้นทางปรองดอง ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนที่ดิฉันระบุคือคนทำผิดสำนึก ไม่ทำผิดอีก แม้อาจต้องใช้เวลา แต่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องได้รับการยอมรับจากสังคมทุกส่วน แต่วันนี้ดูเหมือนนิรโทษกรรมและการเยียวยากำลังเกิดขึ้น แต่ขั้นตอนค้นหาข้อเท็จจริงและกระบวนการยุติธรรมไม่คืบ ซึ่งวิธีนี้ไม่เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย ส่งเสริมให้ความรุนแรงในอนาคต ต่อไปรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใครจะฟัง เพราะไม่ได้ผลอะไรเลย ตรงกันข้าม คนทำรุนแรงได้รับการปล่อยตัว ได้เงินเยียวยา มันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีก มันไม่ยั่งยืน”

“สุวัตร อภัยภักดิ์” ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคดี พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ว่า:

“กรมสอบสวนคดีพิเศษจับคนที่ยิงได้แล้ว โดยในสำนวนนั้นมีผู้ต้องหา 20 กว่าคน โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ต้องหาที่ 1 บางคนเอาไปขังไว้ไม่ให้ประกันตัว แต่ในที่สุดก็ให้ประกันตัวหมด พอประกันแล้วก็ได้ยื่นขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุด จากบัดนั้นถึงบัดนี้สำนวนนั้นยังไม่ฟ้องเลย แต่สำนวนของพันธมิตรฯ ยื่นขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุดภายหลังแต่กลับมาแล้วให้ตั้งข้อหาพันธมิตรฯ เพิ่ม 48 คน”

ทั้งนี้ “สุวัตร อภัยภักดิ์” ยังเปิดเผยในรายการอีกด้วยว่ามีพยานปากหนึ่งได้ให้การว่า:

“เป็นการ์ดของกลุ่ม นปช.ได้วันละ 900 บาท ประสานงานกับเสธ.แดง ในการหาข่าวทางทหารส่งให้ เสธ.แดงเขาได้รับมอบหมายให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ดาวกระจายไปที่ต่างๆ นปช.เคยฝึกเป็นนักรบพระเจ้าตากกับ เสธ.แดงที่สนามหลวงโดยการชักชวนของนายโชคอำนวย ไม่ทราบสกุล มีผู้ต้องหาที่ 24 และเพื่อนคือนายศิริชัย หรือ ตี๋ ร่วมฝึกด้วย มีการฝึกสอนและใช้ยิงอาวุธปืนและเครื่องยิงระเบิดและปาระเบิดเอ็ม 67 และพยานยังทราบว่าผู้ต้องหาที่ 18 (เสธ.แดง) เก็บอาวุธปืนสงครามต่างๆ เช่น ปืนเอ็ม 16, ลูกระเบิดขว้างเอ็ม 67 ไว้ภายในโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่เช่าพักไว้ โดยมีผู้ต้องหาที่ 24 (สุรชัย หรือ หรั่ง เทวรัตน์) เป็นคนเฝ้า เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2552 ผู้ต้องหาที่ 19 (นายสุขเสก พลตื้อ) ได้ใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ยิงก่อกวนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามหลวง พยานยืนยันว่า ผู้ต้องหาที่ 19 (นายสุขเสก พลตื้อ) ใช้อาวุธปืนเอ็ม 79 ยิงใส่โรงเรียนสตรีวิทยาจนทำให้ พลเอกร่มเกล้าเสียชีวิต มีทหารบาดเจ็บหลายนาย, ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ประชาชนคนเสื้อหลากสีที่ศาลาแดง พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ต้องหาที่ 24 (หรั่ง) ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ตำรวจที่ศาลาแดง

นอกจากนี้ยังให้การยืนยันว่ามีบุคคลร่วมกระทำผิดอีกจำนวนมากและกลุ่มแกนนำหลักบนเวทีชุมนุมก็รู้เห็นและทราบว่ามีกองกำลังติดอาวุธหรือกองกำลังชุดดำรวมอยู่ด้วย เพราะมีการเบิกจ่ายอาวุธปืนกันเสมอซึ่งเก็บไว้ที่เต็นท์หลังเวทีชุมนุมโดยมีนายพิทักษ์ ไม่ทราบนามสกุลจะเป็นผู้เก็บรักษา พยานเคยเห็นผู้ต้องหาที่ 18 (เสธ.แดง) ติดต่อรายงานผลงานให้กับผู้ต้องหาที่ 1 ทราบทางโฟนอินหรือทางทวิตเตอร์ในระหว่างชุมนุม ผู้ต้องหาที่ 18 (เสธ.แดง) จะทำหน้าที่สั่งการควบคุมกองกำลังติดอาวุธ ส่วนนายอารี ไกรนรา ทำหน้าที่ควบคุมกองกำลังการ์ดคนเสื้อแดงทั้งหมด”

ในขณะที่แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า นายสุรชัย หรือ หรั่ง เทวรัตน์ ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาว่าไม่ได้กระทำผิดในข้อหาก่อการร้าย แต่ยอมรับสารภาพบางส่วนว่าเป็นลูกน้องคนสนิทกับเสธ.แดง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลาประมาณ 21.00 น. เป็นผู้ใช้อาวุธปืนทราโว่ ซึ่งนายเมธี อมรวุฒิกุล นำมามอบให้ยิงใส่โรงแรมดุสิตธานี เนื่องจากเชื่อว่าโรงแรมให้มือสไนท์เปอร์ใช้เป็นจุดซุ่มยิงผู้ต้องหาเสธ.แดง

28 กุมภาพันธ์ 2554 นายสุขเสก พลตื้อ (สุข) และนายสุรชัย เทวรัตน์ (หรั่ง) ได้รับการประกันตัวพร้อมกับพวกรวม 6 คน ภายหลังจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีนโยบายให้ประกันตัวคดีของแกนนำคนเสื้อแดง!!?

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลังจากนี้พยานทั้งหลายที่เคยอยู่ในสำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือไม่? เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แกนนำ นปช.เป็นรัฐมนตรี อีกทั้งผู้ต้องหาคนสำคัญได้รับการปล่อยตัวมาอีกด้วย

และด้วยความอยุติธรรรมต่อครอบครัว “ธุวธรรม” ทำให้ “นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” ที่ด้านหนึ่งต้องเป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล แต่กลับเผชิญหน้ากับเล่ห์เพทุบายจากการช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนของนักการเมืองทุกยุคที่ไม่สนใจให้ความเป็นธรรมกับการสูญเสียพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม จึงแสดงออกด้วยการแต่งชุดดำไว้ทุกข์ไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลทุกวันมาเป็นเวลา 2 ปี และยังอาจจะต้องแต่งชุดดำอีกนานตราบใดที่ความอยุติธรรมยังเกิดขึ้นเช่นนี้ต่อไป เพราะหากความยุติธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ความสงบสุขย่อมไม่มีทางเกิดได้เช่นกัน

หนังสือ “ในความรัก... พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม” ได้จัดทำขึ้นอีกครั้งหนึ่งในคราวโอกาสครบรอบ 2 ปี การจากไปของพลเอกร่มเกล้า แต่ในปีนี้มีสิ่งที่พิเศษต่อดวงวิญญาณของพลเอกร่มเกล้า และต่อครอบครัวธุวธรรมคือ “คำนิยม” ที่ไม่มีพื้นที่สำหรับนักการเมืองคนใด นอกจากพื้นที่สำหรับความสงบสุขจาก 3 ศาสนาอันได้แก่ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราชกิตติคุณแห่งกรุงเทพฯ, นายอาคิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี, และพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัยและผู้ก่อตั้งมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์

ประวัติศาสตร์จึงย่อมจารึกชื่อ “พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม” อยู่ในฐานะเป็นทหารมืออาชีพผู้รักชาติและราชบัลลังก์ และอยู่ในฐานะ “วีรชน” ของประชาชนตลอดไป!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น