xs
xsm
sm
md
lg

“เมียร่มเกล้า” ทำบุญ 2 ปี สามีเสียชีวิต ซัดวาทกรรมปรองดองข้ามขั้นตอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เมียร่มเกล้า” ทำบุญครบรอบ 2 ปี ผู้เสียชีวิตเหตุสลายชุมนุม 10 เม.ย.53 ซัดวาทกรรมปรองดองข้ามขั้นตอน ต้องผ่านการหาความจริง สู่กระบวนการยุติธรรม เยียวยา และนิรโทษกรรม ด้าน ปชป.ขนพวงหรีดไว้อาลัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

วันนี้ (10 เม.ย.) ที่วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร นางนิชา ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ได้ร่วมพิธีทำบุญครบรอบ 2 ปี ของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ที่สี่แยกคอกวัว โดยมี พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 นายทหาร พร้อมด้วยญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวมาร่วมงาน นอกจากนี้ ยังมี นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปัตย์ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี มาร่วมงานด้วย

ทั้งนี้ ภายในงานได้นำหนังสือ ชื่อ “ในความรัก พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” ซึ่งเคยตีพิมพ์ในงานครบรอบวันเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว มาจัดพิมพ์ใหม่ และจัดจำหน่าย เพื่อนำเงินไปสมทบทุน “มูลนิธิพลเอกร่มเกล้าฯ” ช่วยเหลือครอบครัวและบุตรข้าราชการทหาร

นางนิชา กล่าวว่า การหาตัวคนร้ายที่สังหาร พล.อ.ร่มเกล้า เป็นเรื่องยาก เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าเราเห็นความตั้งใจ หรือมีเจตนาที่จะป้องกันป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก คงจะทำให้การตายของคนที่ตายไปไม่สูญเปล่า ไม่ว่าจะหาตัวได้หรือไม่ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือภาครัฐ ต้องแสดงให้เห็นว่า หลักนิติรัฐคืออะไร อะไรคือการทำผิด อะไรคือการไม่เคารพนิติรัฐ เยาวชนรุ่นหลังจะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ว่าอะไรถูกอะไรไม่ถูก

นางนิชา กล่าวถึงการปรองดอง ว่า ถ้ามองความปรองดองสมานฉันท์ไม่ใช่มีแค่การนิรโทษกรรม แต่มีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ การค้นหาความจริง การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การเยียวยา การนิรโทษกรรม ไม่สามารถจะแตะเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วบอกว่า นี่คือ การปรองดอง ทุกอย่างต้องไปทั้ง 4 ตัวแปรแล้ว ควรต้องเรียงลำดับ ว่า จาก 1 ไปสู่ 2 3 และ 4 แต่วันนี้ต้องการคำอธิบาย ว่า ทำไมข้ามขั้นตอนการค้นหาความจริง แล้วกระโดดไปสู่นิรโทษกรรม และอยากจะฝากว่า ความปรองดองสมานฉันท์เป็นเรื่องของคนในชาติ ประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้น อาจต้องใช้เวลาในการเยียวยา การเปิดใจความคิดเห็นรับฟังซึ่งกันละกัน ก็เป็นการเยียวยาไปในตัว หากรีบเร่งมากน่าจะนำไปสู่ผลเสียมากกว่าผลดี ประชาชนน่าจะมีโอกาสมีส่วนร่วมในกระบวนการสมานฉันท์

ผู้สื่่อข่าวรายงานอีกว่า ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีทำบุญครบรอบ 2 ปี ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ที่สี่แยกคอกวัว นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาวางพวงหรีดให้กับผู้ที่เสียชีวิตที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และบริเวณแยกคอกวัว หลังจากนั้น ได้มีการยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 1 นาที
















กำลังโหลดความคิดเห็น