xs
xsm
sm
md
lg

ขบวนการโยนกลองกรณีปราสาทพระวิหาร (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพยอม

ในฐานะที่ผมศึกษเรื่องปราสาทพระวิหารมานานหลายปี ได้ค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารราชการหลายต่อหลายชิ้นและทำการศึกษาย้อนหลังกลับไปถึงในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่ออ่านเอกสารสำคัญของศาสตราจารย์อังรี โรแลง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทนายความ ที่ได้ส่งเป็นโทรเลขด่วนกลับมาเมืองไทย พบว่าหากฝ่ายไทยคิดที่จะต่อสู้ต่อหลังคำตัดสินของศาลโลกก็กระทำได้ ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นได้ตอบกลับไปว่า “รอไว้ก่อน” ในฐานะที่ผมเป็นนักประวัติศาสตร์โดยอาชีพ มองเห็นว่าการที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ไม่ประสงค์จะสู้ต่อเพราะเหตุใด? และจริงหรือที่มีผู้กล่าวกันว่าเมื่อศาลโลกได้ตัดสินแล้วเราหรือประเทศไทยสามารถจะสู้ได้หรือสู้ไม่ได้?  

เมื่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้มาถึงเมืองไทยด้วยการแปลจากภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ ข้อพิลึกพิลั่นที่ศาลโลกได้ตัดสินมา 3ข้อตามคำฟ้องอันคลุมเครือของกัมพูชา คือ 1. ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา 2. ขอให้ยามรักษาการณ์ ตำรวจ และทหารออกจากอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร ส่วนข้อ 3. ไม่สลักสำคัญอะไรที่จะให้ไทยคืนโบราณวัตถุ เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ประกาศว่าไม่ยอมรับคำตัดสินโดยอ้างสนธิสัญญา 2 ฉบับ และให้เหตุผลว่าศาลโลกไม่ยุติธรรมใช้กฎหมายปิดปาก

นอกจากนี้ประเทศไทยในเวลานั้นอ้าง “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในการส่งหนังสือไปยังรักษาการเลขาธิการสหประชาชาติว่าไม่ยอมรับคำตัดสิน และตั้งข้อสงวนสิทธิ์เรียกคืนปราสาท จอมพลสฤษดิ์ต้องการอ้าง “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ด้วยเหตุผลอะไร? ทำไมเมื่อการตัดสินใจที่จะไปศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2502 เคยได้รับการทักท้วงแล้วแต่ไม่เชื่อ ทำไมหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อยากจะไปศาลหนักหนา เรื่องเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไปเราถึงเข้าใจ   
  
ศาลโลกได้ตัดสินคดี เมื่อปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลจอมสฤษดิ์ กำหนดนโยบายในฐานะที่เราเป็นสมาชิกแห่งสหประชาติจะปฏิบัติตามคำพิพากษา ทำไมรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ต้องปฏิบัติตาม ก็ในเมื่อบอกว่าศาลโลกไม่ยุติธรรมและตัดสินขัดต่อสนธิสัญญา อันนี้ทำให้น่าสงสัยเป็นอย่างมาก? อย่างไรก็ดี เมื่อมีการปฏิบัติตามคำพิพากษา รัฐบาลจึงขอกำหนดในความคิดที่ว่า “ให้เสียพื้นที่น้อยสุด” และคำตัดสินไม่ได้ตัดสินยกดินแดนให้แต่ให้กัมพูชาเข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยที่ตัวปราสาท

ดังนั้นการปฏิบัติจะต้องทำอย่างไร วันที่ 5 กรฎาคม พ.ศ. 2505 ได้มีการประชุมที่กระทรวงมหาดไทย มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหลายหน่วยงาน ยกเว้น “กรมศิลปากร” มีการนำข้อเสนอของกรมแผนที่ทหารและกระทรวงการต่างประเทศโดยถือนโยบาย “เสียพื้นที่น้อยที่สุด” ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่หน้าผาเปยตาดีที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือทรงกรวย กรมแผนที่ทหารได้เสนอให้ตัดรูปกรวยหรือหน้าผานั้นออกไปเลยเพื่อสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ แต่กระทรวงการต่างประเทศผู้กำชับนโยบาย “เสียพื้นที่ให้น้อยที่สุด” เสนอให้พื้นที่ครอบตัวปราสาทเป็นรูปสี่เหลียมคางหมูประมาณ 150ไร่ กำหนดระยะห่างจากทิศตะวันตกจรดช่องบันไดหักแล้วลากผ่านบันไดนาคให้วัดจากสะพานนาคออกมา 20 เมตรแล้วลากต่อไปทางทิศตะวันออกห่างจากตัวปราสาท 100 เมตรแล้วหักมุมลากไปจนจรดเปยตาดี ให้พื้นที่นี้ล้อมรอบด้วยรั้วลวดหนามและตั้งป้ายแสดงอาณาบริเวณ ประเทศไทยยังมีสิทธิและเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งหมด ให้เฉพาะตัวปราสาทอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา รวมถึงพื้นที่ที่รองรับตัวปราสาท นั่นก็คือสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาชั่วคราวจนกว่าเราจะใช้ข้อสงวนสิทธิ์

ที่ผมกล่าวมาเสียยืดยาวก็เพราะว่าข้อสงวนสิทธิ์นี้สำคัญมาก และจะเห็นได้ว่าในเวลาต่อมารัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม สัญญา ไล่มาจนถึงรัฐบาลป๋าเปรม ชาติชาย ชวน ทักษิณ จนมาถึงรัฐบาลสมัคร ก็ไม่เคยเรียกคืนตัวปราสาทและอธิปไตยของไทยจากกัมพูชาเลย เราไม่ใช้ข้อสงวนสิทธิ์และรัฐบาลผ่านๆ มาทำเสมือนว่า “ข้อสงวนสิทธิ์” เป็นเรื่องตลก แม้แต่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลสมัคร สมชาย อภิสิทธิ์ และแม่ปูยิ่งลักษณ์ ก็ไม่เคยหยิบข้อสงวนขึ้นมาใช้ต่อกรกับกัมพูชาเลยทั้งๆ ที่ฝ่ายกัมพูชาเองก็กลัวข้อสงวนสิทธิ์ถึงกับออกอาการในหนังสือสำนวนขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา เมื่อเร็วๆ นี้ กัมพูชาอ้างว่าไทยไม่ใช้ข้อสงวนเพราะไม่เคยแย้งเมื่อกัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียน ดังนั้นรัฐบาลทั้งหมดตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์มาถึงปัจจุบันต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียตัวปราสาทไปเป็นการถาวร และเผลอๆ อาจเสียพื้นที่โดยรอบได้ด้วยความประมาท รับรู้และร่วมมือกับกัมพูชาอย่างไม่ควรให้อภัย

           อนึ่ง ผมขอเน้นย้ำให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่า รัฐบาลนายชวน หลีกภัยได้ไปยอมรับแผนที่ 1:200,000 ทุกระวางในการจัดทำ MOU43 (ซึ่งเป็น MOU ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย)และรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ได้ไปตอกย้ำเรื่องการยอมรับแผนที่ 1:200,000 ด้วยการทำ TOR46 ข้อกำหนดการปฏิบัติหน้าที่ อันก่อให้เกิดคณะกรรมาธิการเทคนิคร่วม และยังผลมาถึง JBC และการประชุม JBC ทุกครั้งที่มีผลต่อเขตแดนไทยมิชอบ

กัมพูชาได้กล่าวอ้างเป็นหลักฐานเพื่อให้ศาลได้ตีความว่า แผนที่สำคัญกว่าสนธิสัญญา ร้องขอให้ศาลได้พิจารณาแผนที่ 1:200,000 ที่ประเทศไทยยอมรับว่าเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนฯ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรหรือมากกว่านั้นในแผนที่เป็นของกัมพูชา ไม่ใช่ของประเทศไทย นั่นคือสิ่งที่เราทุกคนจะต้องรับรู้

การโยนกันไปโยนกันมาว่าใครเป็นเหตุให้ทำเสียดินแดนยังคงดำเนินอยู่ ความรับผิดชอบไม่เคยเกิดขึ้น ไม่มีผู้ใดแอ่นอกรับผิด มีแต่คำแก้ตัวเสมอมา โยนกลองให้คนนั้นคนนี้ปัดสวะให้พ้นตัวทุกเมื่อเชื่อวัน อันแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีฐานะเป็นพระมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์กำลังตกอยู่ในอันตราย ใครจะรับผิดชอบหากเราเสียดินแดนจริง ประชาชน? นักการเมือง? หรือข้าราชการประจำ?
กำลังโหลดความคิดเห็น