xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“โต้ง-กิตติรัตน์” ทดแทนบุญคุณใคร ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -"ผมเชื่อมั่นว่าชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมีสิทธิยึดถือเป็นของตนเองได้ พระสยามเทวาธิราชมีจริง ซึ่งพระสยามเทวาธิราชจะปกป้องคนดี สาปแช่งคนที่ไม่ดี คนที่ทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศไป ซึ่งผมเชื่ออย่างนั้น ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เป็นคุณธรรม จริยธรรมของแต่ละบุคคล" คำกล่าวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในการบรรยายพิเศษในงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา

หลังจากนั้นวิทยุเสื้อแดงทุกแห่ง ก็โหมประโคมวิจารณ์และด่า พล.อ.เปรม และบุคคลที่พล.อ.เปรม อ้างถึง

ด่าแม้กระทั่ง “พระสยามเทวาธิราช” จนมีการค้นหาว่า พระสยามเทวาธิราช เกิดขึ้นได้อย่างไรมีการเปรียบเทียบของนักจัดรายการวิทยุชุมชนเสื้อแดงอย่างไม่สำนึกบาปบุณคุณโทษว่า ประเทศอื่นๆไม่มีพระสยามเทวาธิราช

จีนไม่มี ไชน่าเทวาธิราช
สิงคโปร์ ไม่มีสิงคโปร์เทวาธิราช
พม่า ไม่มีพม่าเทวาธิราช
เขมร ไม่มีเขมรเทวาธิราช
ลาว ไม่มีลาวเทวาธิราช.....

พวกนักจัดรายการเหล่านี้ ไม่เชื่อเรื่องความดี และบาปบุญคุณโทษ

มีความเชื่อและบูชา “เงินค่าจัดรายการ” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

นั่นหมายความว่า พิธีกรรมปรองดองในรัฐสภา ไม่เกี่ยวข้องกับ “ความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

พล.อ.เปรม ยังกล่าวว่า จริยธรรมค้ำจุนชาติมีความหมายมาก แต่เมื่อพูดถึงคำว่า จริยธรรม มีความเห็นส่วนตัวต้องพูดถึงคำว่า คุณธรรม ควบคู่ไปด้วย เพราะจะมีความสมบูรณ์ในความหมายมากขึ้น

คนเราเกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ตนเป็นคนคิดเองคำพูดนี้ด้วยตนเอง ตั้งแต่สมัยอยู่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า และก็พูดให้สาธารณะได้ยิน ปัจจุบันยังชอบพูดประโยชน์นี้ ชอบพูดมากๆ แต่ก็คิดว่า คนชอบฟังคงมีไม่เท่าไหร่

" การตอบแทนบุญคุณแผ่นดินคือ การทำความดี เพื่อให้แผ่นดินมีความสุข ช่วยกันสร้างคนดีในแผ่นดิน ให้มีจำนวนมากจนต้องเบียดเสียดกัน อีกความหมายหนึ่งคือ ไม่ทำชั่ว ไม่ทำให้แผ่นดิน คนในแผ่นดินมีปัญหา ซึ่งทั้ง 2 ประการนี้ เฉพาะคนดีเท่านั้นที่ทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่ทำยาก การทำความดี คนไม่ดีทำไม่ได้"

“ การทำความดี แม้ว่าทำยาก แต่ยังสามารถทำได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยากกว่านั้น คือการรักษาความดีให้คงอยู่กับผู้ทำจนกระทั่งตาย อันนี้ค่อนข้างยากที่สุด ทั้งนี้มีหลายคนในประเทศของเราทำความดีให้ปรากฏ จนได้รับการยกย่องสรรเสริญ ศรัทธา แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถรักษาความดีไว้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ”

ตัวอย่างของการทำและรักษาความดีที่ไม่คงเส้นคงวา และมีความไม่เชื่อมั่นสูงว่า เป็นการ “ตอบแทนคุณแผ่นดิน” หรือไม่ ? ก็คือ การทำงานของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง

ไม่อธิบายถึงตระกูล ณ ระนอง ที่ตอบแทนคุณแผ่นดินมาพอสมควร

แต่สำหรับ “เดอะโต้ง” กิตติรัตน์ อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น !!

กิตติรัตน์ เริ่มกร่าง แสดงความบ้าอำนาจกับ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท).”

“ผมไม่มีหน้าที่เถียงกับ ธปท. และธปท.ก็ไม่มีหน้าที่มาเถียงผม แค่ฟังผมและเถียงผมให้น้อยลง แล้วทุกอย่างจะดีเอง" คำขู่ของกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อการทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หากไม่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

กิตติรัตน์ แสดงความกร่างต่อทิศทางภาวะเศรษฐกิจ เสมือนหนึ่งว่า อยู่ในกำมือของเขาทั้งหมด โดยต้องการให้ “ค่าเงินบาทอ่อนตัว”

เดอะโต้ง บอกว่า “สาเหตุที่ต้องการเห็นค่าเงินบาทอ่อนลงจากปัจจุบัน ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และดูแลไม่ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาท โดยแนวโน้มของเงินทุนที่ไหลเข้ามาในไทยมีจำนวนมาก จะทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และมาเก็งกำไรจากค่าเงินบาท”

“ ในฐานะผู้ดูแลนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวม จึงได้ส่งสัญญาณชัดเจนไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ดูแลเงินบาทให้อ่อนค่าลง” กิตตรัตน์ คำรามใส่แบงก์ชาติ

หากใครเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์การเงิน (โต้งไม่ได้เรียน) แก่ กิตติรัตน์ คงรู้สึกหดหู่ใจที่ กิตติรัตน์ แสดงความตื้นเขินทางเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศ

เนื่องจากหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงิน ไม่เคยสอนให้นักเศรษฐศาสตร์ “บังคับ” ค่าเงินไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการ

ค่าเงินตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ

แต่ปัจจัยที่ได้รับการยอมรับว่า มีอิทธิพลต่อค่าเงินทุกประเทศก็คือ

1. ปริมาณเงินในประเทศนั้น นั่นคือ หากปริมาณในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจัยอะไรก็ตาม จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นอ่อนค่าลง

2. ระดับราคาสินค้าในต่างประเทศ หากระดับราคาสินค้าของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ แข็งค่าขึ้น ระดับราคาสินค้าของต่างประเทศ อาจจะดูได้จากอัตราเงินเฟ้อของต่างประเทศ เพราะเป็นการมองที่การเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า

3. อัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศ หากอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศสูงขึ้น เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ อ่อนค่าลง

4. รายได้ประชาชาติของประเทศนั้นๆ กล่าวคือ หากรายได้ประชาชาติของประเทศนั้นเพิ่มขึ้น หรือภาวะเศรษฐกิจขยายตัว จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ แข็งค่าขึ้น

ดังนั้น หากกิตติรัตน์มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถสังเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนได้จริง

กิตติรัตน์ จะรู้ว่า ไม่สามารถทำให้ค่าเงินอ่อนได้เลย !!

เนื่องจากกิตติรัตน์ จะต้องไปกราบเท้า "เบน เบอร์นาเก้" งามๆ สักร้อยครั้ง เพื่อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แล้วจะทำให้ค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง

หากจะใช้อีกวิธีการหนึ่งก็คือ การเพิ่มปริมาณเงินในระบบของไทย

ปัจจุบัน ปริมาณเงินตามความหมายกว้างในระบบการเงินของไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม มีประมาณ 13.7 ล้านล้านบาท...ซึ่งเพียงพอต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

แต่กิตติรัตน์ ต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว โดยไม่คำนึงว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จะเป็นเช่นไร ?

" ผมไม่ใช่แค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ยังเป็นผู้ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ การที่ส่งสัญญาณว่า อยากให้บาทอ่อน ก็เพราะต้องการแบบนั้นจริง และผมก็ไม่ชอบที่จะให้เงินทุนไหลเข้ามามาก ผมไม่มีหน้าที่เถียงกับ ธปท. และ ธปท.ก็ไม่มีหน้าที่มาเถียงผม แค่ฟังผม และเถียงผมให้น้อยลง แล้วทุกอย่างจะดีเอง" กิตติรัตน์ แสดงความกร่างในห้วงเวลาที่นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง ไม่นานนัก

ทุกคนก็รู้แล้ววว่า กิตติรัตน์ ไม่ใช่แค่รมว.คลัง แต่เป็นเจ้าหน้าที่ส่งเอกสารของทำเนียบรัฐบาล

แปลไทยเป็นไทยอีกครั้งก็คือ ความต้องการของกิตติรัตน์ หมายถึงการแทรกแซงค่าเงินบาท โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไทย (ธปท.) ซื้อเงินดอลลาร์ และขายเงินบาทออกไป เพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

โดยไม่ต้องสนใจว่า อุปสงค์ อุปทาน ของเงินบาทและเงินดอลลาร์ จะเป็นเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร?

คนเคยที่สั่งให้แบงก์ชาติทำเช่นนี้ เมื่อทำหน้าที่ รมว.คลัง ก็คือ สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ คนปัจจุบัน...ซึ่งปัจจุบันไม่มีใครเชื่อถือในความเป็นนักเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใด

นั่นทำให้ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการ ธปท. ยืนกรานว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้ถือว่าเหมาะสมกับภาพรวมเศรษฐกิจ รวมทั้งการค้าขายของประเทศไทย และธปท.เอง ก็ไม่มีนโยบายที่จะไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนที่มากเกินไป เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ในปัจจุบัน ไม่ได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวกำหนด

ผู้ว่าธปท. สอนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินให้รมว.คลังฉลาดขึ้นว่า “เราไม่ได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย ถ้าจำได้หลักเรื่องนี้มีอยู่ว่า เราจะทำทั้ง 3 ด้านพร้อมกันไม่ได้ คือ เปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย ใช้ดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวกำหนด แต่ควรใช้เพียง 2 เครื่องมือเท่านั้น”

“ หากทำทั้ง 3 ด้านพร้อมกัน มันจะเป็นผลเสียเหมือนที่เกิดเมื่อปี 40 ได้ คือ ตอนนั้นเราเปิดเสรีเงินทุน และใช้ดอกเบี้ยดูแลเงินเฟ้อ ผลคือ ดอกเบี้ยสูง คนเลยเอาเงินเข้ามาลงทุน ขณะเดียวกัน เราก็ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้นักลงทุนยิ่งเข้ามาลงทุน เพราะไม่ต้องห่วงเรื่องความผันผวนของค่าเงิน ผลคือ เราไม่สามารถดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้จึงเกิดความเสียหายอย่างมาก”

“ปัจจุบันประเทศไทยเลือก 2 อย่าง คือ เปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย และใช้ดอกเบี้ยในการกำหนดนโยบายการเงิน ขณะเดียวกันก็ได้ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีแต่มีการจัดการในบางครั้ง ดังนั้น หากมีใครไปทำให้อัตราแลกเปลี่ยนบิดเบือนไปจากที่ควรจะเป็น ผลคืออาจเกิดความเสียหายขึ้นอย่างเมื่อปี 2540 ได้”

ดอกเตอร์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Harvard University สอนวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศให้บัณฑิตเอ็มบีเอ ปีมะโว้ฟังว่า

“ตอนนี้เราไม่ได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวกำหนดนโยบาย และปัจจุบันหากคนเห็นว่าค่าเงินบาทควรอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ แต่ถ้าเกิดมีใครไปทำให้อยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ อย่างนี้ต่างประเทศก็ชอบเลย เขาก็เอาดอลลาร์เข้ามาประเทศ เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่ดุลยภาพที่แท้จริง เป็นดุลยภาพเทียม ทีนี้ก็เข้ามากันใหญ่ เพราะรู้ว่าเอาเข้ามาและตอนจะออกไป จะขายได้ 33 บาทต่อดอลลาร์ ได้กำไร 3 บาท ผลคือ เงินทะลักเข้ามา ยิ่งกดดันให้บาทแข็ง แบงก์ชาติก็ต้องเข้าไปดูแล เงินบาทก็ท่วม ต้องดูดซับกลับเข้ามา เป็นภาระของแบงก์ชาติอีก”

หลักการไหลเข้า ไหลออก ของเงินทุนแบบง่ายๆ

แต่ไม่แน่ใจว่ารมว.คลัง ระดับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ จะเข้าใจเรื่องราวของกลไกอัตราแลกเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน

กิตติรัตน์ ยังตอบแทนคุณแผ่นดินชาติกำเนิดอย่างสาสม ด้วยการบังคับให้ขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55

โดยไม่สนใจอุปสงค์ อุปทาน ของตลาดแรงงาน

ไม่ใส่ใจว่า เอสเอ็มอี จะเจ๊งนับแสนล้านบาทหรือไม่ เพราะไม่ใช่ธุรกิจของกิตติรัตน์

เดอะโต้ง ยังบอกปัดข้อเสนอจากภาคเอกชนที่ขอให้รัฐบาลตั้งกองทุน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ว่า “ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อเสนอจากภาคเอกชน แต่ถึงจะเสนอมาให้พิจารณา ก็จะไม่นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพราะเอกชน จะสามารถปรับตัวกับค่าแรงที่สูงขึ้นได้”

“ อยากให้กำลังใจกับภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ แต่ในส่วนรัฐบาล คงไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วย เพราะเชื่อว่าเอกชนจะสามารถปรับตัวได้ เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลนั้น ต้องดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ” กิตติรัตน์ ยืนกรานการตอบแทนบุญคุณพรรคเพื่อไทย

นั่นจึงทำให้เอกชนหลายแห่งขนอุปกรณ์ข้ามพรมแดนไปพม่า

“บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สหพัฒนพิบูล ในเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ของประเทศ บอกกับนักข่าวว่า “บริษัทเตรียมแผนรับมือกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เริ่มผลบังคับใช้ 1 เม.ย.55 โดยการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศพม่า โดยการตั้งนิคมอุตสาหกรรมและศึกษาตลาด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้”

ทั้งนี้ ในปี 2556 บริษัทจะนำสินค้าทุกกลุ่มในเครือเข้าไปลงทุน ยกเว้นสินค้ากลุ่มที่มีราคาแพง และใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง ที่จะผลิตในประเทศไทย การที่เลือกประเทศพม่าเพราะมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าไทย ไม่ถึงวันละ 100 บาท แต่ไทยสูงถึงวันละ 300 บาท ส่วนประเทศกัมพูชา และลาว ก็สนใจเข้าไปสร้างโรงงานเช่นกัน แต่ยังมีปัญหาแรงงานในประเทศขาดแคลนอยู่”

“ผลการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ยังระบุไม่ได้ว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของบริษัทสูงขึ้นมากแค่ไหน แต่ยอมรับมีผลกระทบมาก และต้องปรับขึ้นราคาสินค้าในอนาคตด้วย แต่ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า จะต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเท่าใด โดยนโยบายของบริษัท จะตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด” นายบุญชัย กล่าว

เอกชนหลายรายย้ายโรงงานไปพม่า ส่วนที่ผลิตในไทย ก็ต้องปรับราคาสินค้า ซึ่งกิตติรัตน์ ก็ไม่เดือดร้อนอีก

อนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและการตลาด บริษัท ยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (ยูเอฟพี ) บอกว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ทำให้ต้องปรับขึ้นทั้งองค์กร พร้อมทั้งจัดหาเครื่องจักรมาทำงานมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงทุนพัฒนาเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าไปแล้ว 10-20 ล้านบาท และได้ขอปรับขึ้นราคาสินค้ากับคู่ค้าต่างประเทศ ประมาณ 1-2 % ในเดือน เม.ย.55 นี้

“ในเดือน มิ.ย.นี้ ซัพพลายเออร์ของบริษัทจะปรับขึ้นราคาสินค้า ทำให้บริษัทต้องพิจารณาราคาสินค้าใหม่อีกครั้ง ส่วนพนักงานที่มีอยู่ในองค์กร 6,000 คน ที่ผ่านมา มีค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 230-240 บาทต่อวัน การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 2.-2.5 % หรือบริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 140 ล้านบาทต่อปี " นั่นคือข้อมูลจริงจากผู้ประกอบการ อย่างบริษัทยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้กิตติรัตน์เดือดร้อน

สิ่งที่กิตติรัตน์กังวลอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรให้เข้าตา “สองพี่น้องชินวัตร” เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งนานๆ เพราะทั้งสองมีบุญคุณมากกว่าแผ่นดินไทย !!
กิตติรัตน์ ณ ระนอง
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น