xs
xsm
sm
md
lg

สงกรานต์เงินสะพัดแสนล้านเพิ่ม 7% สูงสุดในรอบ 6 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คาด สงกรานต์ปีนี้เงินสะพัดกว่า 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% สูงสุดในรอบ 6 ปี หลังคนรู้สึกมีรายได้เพิ่มจากขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท เศรษฐกิจฟื้นตัว แถมมีวันหยุดยาว ชี้ เงินสะพัดส่วนหนึ่งมาจากสินค้าแพงขึ้น ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แนะรัฐดูแล หวั่นแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการสำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,184 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 27 มี.ค.-1 เม.ย.2555 ว่า จะมียอดการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มูลค่า 103,347.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับสงกรานต์ปี 2554 เป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่สงกรานต์ปี 2550 ที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 92,022.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.94%

สำหรับแผนการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 43.9% ระบุว่า ไม่เปลี่ยนแปลง 43.3% ระบุว่าลดลง และ 12.8% ระบุว่า เพิ่มขึ้น โดยการใช้จ่ายส่วนใหญ่ 57.7% จะใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และในจำนวนนี้เป็นการท่องเที่ยวในประเทศ 85.5% อีก 14.5% ไปต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 61,342.82 บาทต่อคน ส่วนคนที่ไม่มีแผนไปท่องเที่ยวมี 43.3% ส่วนใหญ่จะพักผ่อนอยู่บ้าน ทำอาหารทานที่บ้าน ทำบุญ และเลี้ยงสังสรรค์

“สงกรานต์ปีนี้ค่อนข้างจะคึกคัก เพราะมูลค่าการใช้จ่ายขยายตัว 7% สูงสุดในรอบในรอบ 6 ปี จากปัจจัยที่คนรู้สึกว่ารายได้ในอนาคตเริ่มที่จะดีขึ้นหลังมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณเริ่มฟื้นตัวขึ้น และเป็นช่วงวันหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.จึงเห็นภาพของการวางแผนกลับบ้าน และมีการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะไปต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี และที่สำคัญ คนเริ่มผ่อนคลายความกังวลลงเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา จึงมีการวางแผนท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาเพื่อการสังสรรค์กับครอบครัวมากขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แม้การสำรวจการใช้จ่ายในเทศกาลสงกรานต์จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง คือ ราคาสินค้าที่แพงขึ้น โดยมีกลุ่มตัวอย่างถึง 97.7% ระบุว่า รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลค่าครองชีพอย่างใกล้ชิด ส่วนความเห็นเกี่ยวกับมาตรการร้านถูกใจหรือโชห่วยช่วยชาตินั้น กลุ่มตัวอย่าง 57.6% เห็นด้วยปานกลาง ส่วนโครงการดังกล่าวจะช่วยเหลือค่าครองชีพได้มากน้อยเพียงใด กลุ่มตัวอย่าง 56.6% ระบุว่า ช่วยได้ปานกลาง โดยได้ให้ข้อเสนอว่า รัฐบาลจะต้องควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ควบคุม หรือให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านต้นทุนการผลิต เพื่อไม่ให้กระทบราคาขายสินค้า เป็นต้น

“สิ่งที่น่ากังวลในอนาคต คือ เรื่องของราคาสินค้าและค่าครองชีพ แม้การใช้จ่ายในสงกรานต์จะมากขึ้นแต่ส่วนหนึ่งมาจากมูลค่าราคาสินค้าที่แพงขึ้น โดยเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อมี.ค.ที่ขยายตัวสูงขึ้น 3.4% ซึ่งสูงเร็วขึ้นในอัตราเร่งตัว ที่สำคัญ เงินเฟ้อพื้นฐานที่สูงขึ้น 2.8% ใกล้เคียงกับเพดานเงินเฟ้อที่แบงก์ชาติตั้งไว้ที่ 3% ภาครัฐจะต้องดูแลไม่ให้ราคาสินค้าและราคาพลังงานสูงขึ้น ควรดูแลให้อัตราเงินเฟ้อในครึ่งปีแรกไม่ให้เกิน 3.6-3.7% ไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นทะลุเพดานจนทำให้แบงก์ชาติปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อได้” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับการสำรวจทัศนะเกี่ยวกับการผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กลุ่มตัวอย่าง 46.6% ระบุว่าอาจจะไม่ได้รับเงินเพิ่มขึ้น 29.9% ระบุว่า รับเงินค่าแรงเพิ่ม และ 23.5% รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น โดยการขึ้นค่าแรงจะส่งผลต่อประเทศในเรื่องใด กลุ่มตัวอย่าง 20.8% ระบุว่า ราคาสินค้าจะแพงขึ้น 17.1% เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น และ 16.2% รายได้ของคนเพิ่มขึ้น ส่วนการขึ้นค่าแรงจะทำให้มีการใช้จ่ายมากน้อยอย่างไร กลุ่มตัวอย่าง 49.2% ระบุว่า น่าจะเท่าเดิม 35.4% มากขึ้น และ 8.9% ลดลง

นอกจากนี้ ยังได้มีการสำรวจผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดในจังหวัดสงขลาต่อการท่องเที่ยวภาคใต้ กลุ่มตัวอย่าง 61.1% ระบุว่า กระทบต่อการท่องเที่ยวมาก 19.4% กระทบปานกลาง และ 13.9% กระทบมากที่สุด โดยผลจากการระเบิดจะส่งผลกระทบต่อเรื่องใดบ้าง กลุ่มตัวอย่าง 86.1% ระบุว่า จะกระทบจำนวนคนที่จะเข้ามาใช้บริการในจังหวัดให้ลดลง 86.1% ระบุว่านักท่องเที่ยวจะลดลง 77.8% ระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศจะลดลง 86.1% ระบุว่ารายได้ลดลง 83.9% ระบุว่ายอดจองลดลง 61.3% ระบุว่าการยกเลิกทัวร์เพิ่มขึ้น และ 53.1% ระบุว่าต้นทุนในการรักษาความปลอดภัยไม่กระทบเลย โดยเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแค่ 0.05-0.07% หรือเม็ดเงินหายไป 5,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น