xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นมี.ค.พุ่ง4เดือนติด ชาวบ้านเซ็งน้ำมัน-สินค้าแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน แต่คนส่วนใหญ่ยังกังวลปัญหาน้ำมัน สินค้าแพง ทำให้ค่าครองชีพพุ่ง แนะรัฐดูแลด่วน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน มี.ค.2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และปรับตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 67.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.ที่ 65.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 67.4 เพิ่มจาก 66.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 95.9 เพิ่มจาก 95.9 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมี.ค.2555 อยู่ที่ 76.6 เพิ่มจาก 75.5 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 55.2 เพิ่มจาก 54.8 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอนาคตอยู่ที่ 84.4 เพิ่มจาก 83.1

ปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น มาจากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการลดค่าครองชีพวงเงิน 1,620 ล้านบาท คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 5.5% จากเดิมคาด 5% ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปคลี่คลาย

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งเบนซินและดีเซล ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูงไม่สอดคล้องกับรายได้ ประกอบกับยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และกังวลสถานการณ์ทางการเมือง

“ปัญหาน้ำมัน ข้าวของราคาแพง ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนกังวลสูงสุด เห็นจากค่าครองชีพในปัจจุบันอยู่ที่ 52.4 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ค.2554 และค่าดัชนีค่าครองชีพในอนาคต 3 เดือนข้างหน้าก็รูดลดลงมาอยู่ที่ระดับ 72.9 ต่ำสุดในรอบ 20 เดือน นับตั้งแต่เดือนส.ค.2553 เนื่องจากผู้บริโภคห่วงว่าค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตตามราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่รายได้ในอนาคตอาจปรับตัวไม่สอดคล้องกับราคาสินค้า ส่วนโอกาสหางานทำมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้น แต่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติก่อนน้ำท่วม”นายธนวรรธน์กล่าว

สำหรับแนวโน้มการบริโภคของประชาชน คาดว่า จะยังคงชะลอตัวลงตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงไตรมาส 2 เพราะคนยังกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากน้ำท่วมปลายปีที่แล้ว ค่าครองชีพที่ทรงตัวระดับสูง ความผันผวนเศรษฐกิจโลก แต่ก็ได้แรงกระตุ้นจากรัฐบาลที่ใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้จ่ายงบประมาณ และหากรัฐดูแลเรื่องราคาพลังงานและค่าครองชีพให้เหมาะสมกับรายได้ เชื่อว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ยังคงโตได้ 5.5-6.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น